นวัตกรรมยางพารา สู่รองเท้าโคนม แบรนด์ Deeco ลดการบาดเจ็บกีบเท้า เจาะตลาดในและนอกประเทศ

คุณณัฐวี บัวแก้ว หรือ คุณบ่าว นักธุรกิจหนุ่มวัย 27 ปี CEO & Co-founder บริษัท        จีฟินน์รับเบอร์เทค จำกัด คิดค้นและต่อยอดนวัตกรรมยางพารา สู่รองเท้าโคนม ภายใต้แบรนด์ Deeco จึงทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพราะเล็งเห็นโอกาสว่าประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องยางพาราเป็นสินค้าส่งออกหลัก จึงนำยางพารามา สร้างมูลค่าเพิ่ม ภายใต้แนวคิดที่ว่าอยากให้เกษตรกรรายย่อยได้ใช้สินค้าแบบเดียวกับต่างประเทศในราคาที่สามารถจ่ายไหวและคุณภาพดี

“จุดเริ่มต้นของการทำรองเท้าวัวยางพารานั้น เริ่มมาจากบ้านอยู่ใกล้กับสถานที่เลี้ยงวัวชนและเห็นการวิ่งออกกำลังกายของวัวชนเป็นเรื่องปกติ จนกระทั่งวันหนึ่งเห็นวัวชนใส่รองเท้าวิ่ง จึงได้คุยกับคนเลี้ยงวัวชนว่าทำไมวัวชนต้องใส่รองเท้าให้วัวชน จนได้คำตอบว่าใส่เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของเท้าวัวชน เมื่อต้องวิ่งริมถนน ซึ่งรองเท้าที่วัวชนใส่มีลักษณะคล้ายรองเท้าช้างดาว จึงเกิดแนวคิดว่าถ้าเรามีรองเท้ามาให้วัวชนใส่ มันน่าจะขายได้ พอเริ่มศึกษาข้อมูลจริงจัง จึงรู้ว่าจะมีกลุ่มโคอยู่ประเภทหนึ่งที่มีการใช้รองเท้าอยู่แล้ว นั่นก็คือโคนม จึงเกิดความสงสัยว่าทำไมโคนมต้องใส่รองเท้า ใส่เพราะอะไร จนเกิดการพัฒนาจนเป็นรองเท้าโคนมยางพาราในปัจจุบัน”

ความสนใจนำไปสู่การพัฒนาเป็นรองเท้าโคนม ภายใต้แบรนด์ Deeco ศึกษาข้อมูลอย่างจริงจัง ทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงรู้ถึงเหตุผลที่โคนมต้องใส่รองเท้า เพราะเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของกีบเท้า ซึ่งเป็นปัญหาที่กลุ่มผู้เลี้ยงโคนมต้องเจอประมาณ 20-30% ต่อฟาร์ม และเกิดขึ้นกับทุกฟาร์มทั่วโลก ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้

คุณณัฐวี บัวแก้ว หรือ คุณบ่าว CEO & Co-founder บริษัท จีฟินน์รับเบอร์เทค จำกัด

“เหตุผลแรกคือ กายวิภาคของกีบเท้าโคนม รับน้ำหนักได้ไม่เท่ากัน ซึ่งน้ำหนักวัวจะอยู่ที่ 400-500 กิโลกรัม เหตุผลที่สองคือ อาหารข้นหรืออาหารหมัก เพราะโคนมต้องกินอาหารข้น เพื่อให้มีสภาพพร้อมในการรีดน้ำนม รวมถึงอาหารเหล่านี้มีความเป็นกรดอยู่แล้ว ส่งผลให้กีบเท้าหลังของโคนมแตก ลักษณะพื้นที่ที่เลี้ยงโคนมเป็นแบบยืนคอก ปูนซีเมนต์ ก็ทำให้กีบเท้าวัวแตกได้เช่นเดียวกัน”

โคนมสวมใส่รองเท้าโคนม แบรนด์ Deeco

เมื่อโคนมมีการแตกของกีบเท้ามากเท่าไร ก็ส่งผลให้น้ำนมโคลดลงถึง 65-10% เหตุผลที่ลดเยอะ เพราะเมื่อไรที่โคนมเจ็บกีบเท้าจะนอนมากกว่าการยืนกินอาหารในแต่ละวัน จึงส่งผลให้น้ำหนักตัวหายไปเรื่อยๆ ถ้าปล่อยไว้ 2-3 สัปดาห์ โคนมมีอาการเจ็บกีบเท้าเพิ่มขึ้นเยอะ ทางฟาร์มจำเป็นที่จะต้องขายทิ้งเป็นโคเนื้อ และรับโคนมสาวเข้ามาเลี้ยงใหม่ ซึ่งไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เกษตรกรจึงรักษาด้วยการตกแต่งกีบเท้าและใส่รองเท้าให้โคนม

ในปัจจุบันรองเท้าสำหรับโคนมนั้นมี 2 แบบ คือ แบบบล็อกไม้ ซึ่งใช้มานานมากตั้งแต่อดีต ประมาณ 50-70 ปี ราคาจะอยู่ที่ข้างละ 300 บาท ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ข้อจำกัดคือแข็งกระด้าง  สัตว์ได้รับบาดเจ็บอยู่ และรองเท้าอีกประเภทหนึ่งคือ รองเท้าโคนมที่นำเข้ามาจากประเทศนิวซีแลนด์ ลักษณะนิ่ม กระจายแรงได้ดี สามารถใช้ได้ 3 ครั้ง ซึ่งมีข้อกำจัดในเรื่องของการเข้าถึงในกลุ่มเกษตรกรรายย่อย เพราะว่าราคาที่สูงอยู่ที่ข้างละ 1,800 บาท

คุณณัฐวีจึงเล็งเห็นโอกาสว่าประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องยางพาราเป็นสินค้าส่งออกหลัก มีข้อดีคือ การรับแรงและการกระจายแรงที่ดีกว่าวัสดุอื่นอยู่แล้ว จึงพัฒนาร่วมกันกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำรองเท้าสำหรับวัวนม ภายใต้แบรนด์ Deeco ข้อดีคือ สามารถทำรองเท้าโคนมแบบต่างประเทศได้ทั้งหมด และสามารถรับแรง กระจายแรงได้ดีกว่า สวมใส่ง่าย เพราะโดยปกติแล้วรองเท้าโคนมแบบไม้นั้น ต้องรอให้สัตวแพทย์มาทำให้เท่านั้น หากเป็นรองเท้าโคนมของต่างประเทศ หรือรองเท้าโคนม Deeco เกษตรกรสามารถสวมใส่ให้โคนมได้ด้วยตนเอง เมื่อแผลหายสามารถถอดไปใช้กับโคนมตัวอื่นได้

ล้างทำความสะอาด และตัดแต่งกีบเท้าโคนม

“ราคาที่จำหน่ายจะอยู่ที่ข้างละ 250-350 บาท หรือคู่ละ 500-700 บาท ใช้งานได้ 3 รอบ ถ้าเป็นรองเท้าโคนมไม้แบบเดิม เราต้องเสียเงินถึง 900 บาท ถึงจะใช้งานได้ 3 ครั้ง แต่นี่เราจ่ายแค่ 250-350 บาท แต่ใช้งานได้ 3 ครั้ง และถูกกว่าของต่างประเทศในราคา 1,800 บาท ถูกกว่า 720%”

ซึ่งเหตุผลที่คุณณัฐวีลงมือทำนั้น เพราะต้องการกำไรให้กับบริษัท รวมถึงต้องการจะแปรรูปยางพารา หากขายแพง เกษตรกรรายย่อยเข้าไม่ถึง เกษตรกรฟาร์มใหญ่ใช้เหมือนเดิม ซึ่งไม่ต่างอะไรจากรองเท้าโคนมของต่างประเทศ เพราะอยากให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยได้ใช้สินค้าแบบเดียวกับต่างประเทศในราคาที่สามารถจ่ายไหวและคุณภาพสินค้าดี

คุณณัฐวี เล่าว่า ในช่วงแรกของการทำรองเท้าโคนมยางพารานั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะว่าประเทศไทย เดิมใช้รองเท้าโคนมกันไม่เยอะ ไม่เหมือนกับฟาร์มโคนมในต่างประเทศ ด้วยเหตุผลที่ว่าเกษตรกรยังไม่เคยใช้รองเท้าโคนม รวมถึงยังไม่ได้ประเมินเรื่องมูลค่าความสูญเสียที่หายไปกับอาการบาดเจ็บของกีบเท้าของโคนม เพราะหากโคนมไม่ได้ใส่รองเท้า เมื่อมีอาการบาดเจ็บ ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 1-3 เดือน อาการก็จะดีขึ้นตามลำดับ แต่ถ้าเราใช้รองเท้าแบบทั่วไป เมื่อมีการบาดเจ็บ การรักษาจะอยู่ช่วง 4-6 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นรองเท้าโคนมของแบรนด์ Deeco จะอยู่ในระยะ 1-2 สัปดาห์ โคนมก็สามารถยืนกินอาหารได้ปกติ

รองเท้าโคนม แบรนด์ Deeco ลดอาการบาดเจ็บของกีบเท้า

รองเท้าโคนม แบรนด์ Deeco ได้ผลตอบรับที่ดีจากฟาร์มโคนมขนาดกลางและฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยใช้รองเท้าโคนมของต่างประเทศอยู่แล้ว เพราะว่าได้ซื้อรองเท้าโคนมในราคาที่ถูกกว่า

“สิ่งที่ยากที่สุดคือ เราต้องอธิบายให้เกษตรกรรายย่อยฟังว่าเรามีรองเท้าโคนมประเภทนี้อยู่ สามารถช่วยหรืออะไรเขาได้บ้าง จึงมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไร จึงไปติดต่อสัตวแพทย์ในแต่ละฟาร์ม แต่ละพื้นที่ที่ดูแลฟาร์มนั้นๆ อยู่ เพราะว่าสัตวแพทย์จะเข้าใจในส่วนของการนำเข้าเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งจะง่ายขึ้น รวมถึงสหกรณ์ฟาร์มโคนมแต่ละพื้นที่”

รองเท้าโคนม แบรนด์ Deeco

ด้านการตลาด คุณณัฐวีไม่ได้มองแค่ตลาดในประเทศ เพราะประเทศไทยมีวัวแค่ 7 แสนตัว ประมาณ 2 หมื่นฟาร์ม อัตราการบาดเจ็บอยู่ที่ประมาณ 30% คือ 100 ตัว บาดเจ็บ 30 ตัว ซึ่งการบาดเจ็บนี้เป็นการหมุนเวียน เมื่อโคนมตัวนี้หายจากอาการบาดเจ็บกีบเท้า โคนมตัวถัดไปก็จะเป็นต่อ ปัจจุบันบริษัทกำลังขยายตัวไปยัง 2 ประเทศ คือ ประเทศอินเดียและประเทศนิวซีแลนด์ จึงมีการตั้งตัวแทนจัดจำหน่าย มีการส่งสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ ทำให้ตัวแทนมีกำไร สามารถแข่งขันได้อยู่

สวมใส่รองเท้าให้โคนม

สำหรับท่านใดที่สนใจรองเท้าโคนม แบรนด์ Deeco สามารถสั่งซื้อและสอบถามได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Deeco หรือได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 064-497-7095