สำรวจกาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิ-ข้าวเหนียว

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าข้าวในจังหวัดกาฬสินธุ์และร้อยเอ็ด แหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวที่สำคัญของประเทศ ซึ่ง สศก. โดยทีมสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ได้ลงพื้นที่เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่า ปีการผลิต 2565/66 ทั้ง 2 จังหวัด มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิ 2.785 ล้านไร่ (กาฬสินธุ์ 0.427 ล้านไร่ และร้อยเอ็ด 2.358 ล้านไร่) ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.18 และมีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวเหนียว 1.783 ล้านไร่ (กาฬสินธุ์ 1.066 ล้านไร่ และร้อยเอ็ด 0.717 ล้านไร่) ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.17

สำหรับพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เนื่องจากทนต่อโรคและแมลงศัตรูพืช คุณภาพของเมล็ดข้าวเมื่อนำไปสีจะได้ข้าวเต็มเมล็ด และข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ทนแล้ง เมื่อนำไปหุง ข้าวจะมีความนุ่มและมีกลิ่นหอมซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด สำหรับพันธุ์ธัญสิริน (กข 6 ต้นเตี้ย) ให้ผลผลิตต่อไร่สูง แต่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดมากนัก โดยข้าวเหนียวทั้ง 2 พันธุ์นี้ สามารถเห็นความแตกต่างทางกายภาพของเมล็ดข้าวเปลือกได้อย่างชัดเจนคือ พันธุ์ธัญสิริน เมล็ดจะมีลักษณะอ้วนป้อมกว่าพันธุ์ กข 6 ที่เมล็ดมีลักษณะยาวเรียว ทั้งนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวออกสู่ตลาดมากที่สุด ทั้ง 2 จังหวัด มีผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วประมาณร้อยละ 75-80 ของผลผลิตทั้งหมด ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มีคุณภาพดี เนื่องจากปริมาณน้ำฝนมีเพียงพอและฝนตกในช่วงเวลาที่เหมาะสม นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่พบว่า ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา ทั้งค่าปุ๋ยเคมี ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ส่งผลกระทบต่อค่าจ้างไถเตรียมดินและค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว ที่ปรับราคาขึ้นตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

ด้าน นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า หากพิจารณาถึงสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เดือนพฤศจิกายน 2565 ณ ความชื้น 15% พบว่า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาเฉลี่ยตันละ 14,000-15,000 บาท สูงขึ้นจากตันละ 11,000-12,000 บาท จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และข้าวเปลือกเหนียว เฉลี่ยตันละ 12,000-13,000 บาท สูงขึ้นจากตันละ 8,100-8,200 บาท จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยภาพรวมราคาข้าวทั้ง 2 ชนิด ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่เกษตรกรนำไปจำหน่ายให้กับโรงสี เมล็ดข้าวมีความสมบูรณ์ดี มีวัชพืชหรือข้าวพันธุ์อื่นปนน้อยมาก และการที่มีฝนตกตลอดช่วงการเพาะปลูกได้ส่งผลดีต่อเนื่องถึงในช่วงเก็บเกี่ยว เพราะดินยังมีความชุ่มชื้นทำให้เมล็ดข้าวภายในแตกหักน้อย ประกอบกับเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ต่างประเทศมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ราคาข้าวเปลือกจึงปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด

สำหรับท่านที่สนใจสถานการณ์การผลิตข้าว และงานศึกษาวิจัยด้านข้าวของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจพืชไร่นาและธัญพืช สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 02-579-7554 ในวันและเวลาราชการ