เผยแพร่ |
---|
การให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำ หรือที่เรียกว่า “การให้ปุ๋ยแบบน้ำ” เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการธาตุอาหารให้กับพืช โดยเฉพาะในระบบเกษตรที่ใช้การรดน้ำด้วยระบบน้ำหยดหรือระบบน้ำแบบฝอย ซึ่งมีข้อดีหลายอย่าง
การให้ปุ๋ยผ่านระบบน้ำ
เป็นวิธีการให้ปุ๋ยวิธีหนึ่ง โดยจะผสมปุ๋ยที่สามารถละลายน้ำได้หมดลงไปในระบบน้ำ เมื่อพืชดูดน้ำก็จะดูดธาตุอาหารไปพร้อมกัน ช่วยลดแรงงานในการให้ปุ๋ย ลดการชะล้างปุ๋ยออกไปจากเขตรากพืช ช่วยให้การแพร่กระจายปุ๋ยสม่ำเสมอบริเวณรากพืช
การเลือกใช้ระบบน้ำ
1. พืชที่เหมาะสมกับระบบให้น้ำ
ระบบน้ำหยด : พืชที่ปลูกระหว่างต้นชิดกัน และปลูกเป็นแนวยาว จะเป็นพืชที่มีระบบรากลึกไม่แผ่กว้าง
การให้น้ำแบบประหยัด : เหมาะกับไม้ผล เช่น ลำไย มะม่วง เงาะ ทุเรียน มะนาว ส้ม รวมทั้งพืชผักและพืชไร่ที่มีระยะแถวต่อต้นที่ห่างกัน
2. ดินและระบบให้น้ำ
ระบบน้ำหยด : เหมาะสำหรับดินที่มีปัญหา เช่น ดินเหนียวจะระบายน้ำได้ช้า อัตราซึมน้ำต่ำ หรือดินทรายที่มีอัตราซึมน้ำสูง ดินเค็มต้องให้ดินชื้นตลอดเวลาทำให้เกลือถูกผลักออก
การให้น้ำแบบประหยัด : เลือกหัวจ่ายน้ำที่เหมาะสมกับชนิดดินให้น้ำที่ไม่มากกว่าอัตราการซึมน้ำของดิน
3. ระบบให้น้ำกับการจัดการปุ๋ยพร้อมระบบน้ำ
ระบบน้ำหยด : การให้ปุ๋ยต้องมีกรองหรือระบบกรองเพื่อป้องกันการอุดตัน
การให้น้ำแบบประหยัด : อาจติดตั้งอุปกรณ์จ่ายปุ๋ยพร้อมระบบน้ำ หรือวิธีการให้ปุ๋ยทางดินวิธีอื่น เช่น การให้ปุ๋ยโดยการหว่านในรัศมีที่มีหัวจ่ายน้ำ การให้น้ำทั่วถึงแล้วละลายปุ๋ยลงไปในรากพืชได้
ระบบน้ำที่เหมาะสม สำหรับการให้ปุ๋ยไปพร้อมกับระบบน้ำ
การให้น้ำแบบน้ำหยด และแบบฉีดฝอย นอกจากใส่ปุ๋ยไปพร้อมกับน้ำแล้ว ยังมีการใส่ยาปราบวัชพืช ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชลงไปในน้ำด้วย
ข้อดี
- เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยของพืช พืชสามารถนำธาตุอาหารไปใช้ได้ทันที ช่วยลดการสูญเสียปุ๋ยได้
- ลดแรงงาน และเวลาในการให้ปุ๋ย
- เพิ่มผลผลิตทั้งคุณภาพ และปริมาณ
ข้อเสีย
- ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของดิน ปุ๋ย และน้ำ ควรมีการส่งตัวอย่างดินและน้ำไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อทราบถึงคุณสมบัติของดินและน้ำที่ใช้ปลูกพืช ทำให้สามารถวางแผนการจัดการดินน้ำ ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ปุ๋ยที่ละลายน้ำได้หมดและมีความบริสุทธิ์ มีราคาแพง การผสมปุ๋ยใช้เองจะมีราคาถูกกว่าปุ๋ยสูตรสำเร็จ
- การลงทุนติดตั้งระบบการทำสวนสมัยใหม่มีราคาสูง รวมถึงระบบน้ำ ดังนั้น ควรวางแผนการติดตั้งระบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับพืชและพื้นที่
ขอบคุณข้อมูล : กรมพัฒนาที่ดิน, กรมส่งเสริมการเกษตร