ถอดบทเรียน ต้นแบบ Koh Mak Low Carbon Destination

การพัฒนาการท่องเที่ยวเทรนด์มาตรฐานสากล “การท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” อาจจะไม่คุ้นหูนัก แต่สำหรับเมืองท่องเที่ยวสุดชายฝั่งภาคตะวันออกของจังหวัดตราดแล้ว เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวเมืองเกาะในฝัน ที่หลายๆ คนต้องหาโอกาสไปเยือนนั้น ผู้ประกอบการ ชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดตราดทั้งบนฝั่งและตามเกาะคุ้นชินเป็นอย่างดี เพราะองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เลือกปักหมุดพัฒนาพื้นที่ “เกาะหมาก” เป็นพื้นที่ต้นแบบ Low Carbon Destination หรือสังคมคาร์บอนต่ำ

คุณสุธารักษ์ สุนทรวิภาต

ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุภาวะโลกร้อน เช่น การใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ตามรีสอร์ตและชุมชน การกำจัดขยะ การบำบัดน้ำเสีย การรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิม และการสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวที่รักษาธรรมชาติสิ่งแวดล้อม 5 ปีเต็ม (พ.ศ. 2555-2560) ภาพความสำเร็จทยอยให้เห็นชัดเจน จึงนำมาถอดบทเรียนเพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ต่อๆ ไป

แบรนด์ “Low Carbon Destination@เกาะหมาก

Low Carbon Destination” หรือสังคมคาร์บอนต่ำบนเกาะหมาก เป็นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ วิถีชีวิตเดิมๆ ที่มีอัตลักษณ์เป็นเสน่ห์อยู่แล้ว ยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวทำลายธรรมชาติน้อยที่สุด ลดการใช้พลังงานปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุด เริ่มจาก การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ทดแทนพลังงานไฟฟ้าในสระว่ายน้ำ ห้องพัก ไฟทาง ไฟราวสะพาน ในรีสอร์ต ร้านอาหาร และบริเวณทางเดินและถนนสาธารณะ รวมทั้งตามอาคารบ้านเรือนของชาวบ้าน การคัดแยกขยะขาย หมักปุ๋ยชีวภาพ และกำจัดที่โรงขยะ และกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ เช่น แล่นเรือใบ พายเรือคยัค สนามดิสกอล์ฟ การเดินหรือขี่จักรยานรอบเกาะเรียนรู้วิถีชีวิต เรียนรู้การทำสวนผักออร์แกนิก เมนูอาหารท้องถิ่น ล่าสุดคือการใช้เรือโซลาร์เซลล์นำนักท่องเที่ยวเที่ยวตามเกาะต่างๆ หรือดำน้ำดูปะการัง และในอนาคตจะมีเส้นทางจักรยานและรถรางขนส่งสาธารณะพลังงานโซลาร์เซลล์ให้บริการนักท่องเที่ยว

เรือโซลาร์เซลล์

 อพท. ปั้นโมเดลต้นแบบเกาะหมาก ต้นทุนดี

คุณสุธารักษ์ สุนทรวิภาต รองผู้จัดการ รักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง กล่าวถึงโมเดลกระบวนการต้นแบบ Low Carbon Destination ในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2555-2560) ว่าช่วงปีแรก เริ่มจากสร้างกระบวนยอมรับกับผู้ประกอบการและชุมชน ยอมรับว่ามีปัญหาอยู่บ้างเพราะชุมชนมองเป็นเรื่องไกลตัว ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจและทำเป็นตัวอย่างในสิ่งที่เขาจับต้องได้ เช่น การนำพลังงานโซลาร์เซลล์มาใช้แทนพลังงานไฟฟ้า ปีที่ 2 ต่อยอดให้องค์ความรู้ ใช้ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการหนุนเสริม ชวนแกนนำผู้ประกอบการนำร่อง 6 แห่งเข้าร่วมกิจกรรม มีการทำปฏิญญาชุมชน จัดเวทีแลกเปลี่ยนระหว่างนักวิชาการกับตัวแทนจากผู้ประกอบการภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและผู้นำชุมชน และจัดกิจกรรมโลว์คาร์บอน เมนูอาหารท้องถิ่น ใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อน สร้างการรับรู้เพื่อให้เกิดความร่วมมือ

เมนูอาหารเช้าที่เกาะหมาก

จากนั้นปีที่ 3 จึงเริ่มขยายผลต้นแบบเกาะหมาก Low Carbon Destination สู่เมือง Green City ของจังหวัดตราด มีการตอกย้ำแบรนด์โลว์คาร์บอนสร้างการรับรู้ให้นักท่องเที่ยวด้วยกิจกรรมการโลว์คาร์บอนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น มีงานอีเว้นต์ และเผยแพร่สื่อโซเชียลมีเดียสิ่งพิมพ์ และปีที่ 4-5 ตอกย้ำภาพลักษณ์ “Low Carbon destination @ Koh Mak” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ ขยายรูปแบบ Low Carbon Destination สู่การเป็น Green City ของจังหวัดตราด ซึ่งมีนโยบายอย่างชัดเจนภายในปี 2562 ทั้งพื้นที่บนฝั่ง เกาะกูดและเกาะช้าง เป็นโลว์คาร์บอนเดสติเนชั่น

เกาะหมาก

“จุดแข็งที่เป็นต้นทุนที่ดีของเกาะหมากคือ พื้นที่เกาะไม่มาก เพียง 9,000 ไร่ ตอนนั้นสภาพพื้นที่ยังไม่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน น้ำประปา ไฟฟ้า ถนน และเริ่มมีปัญหาขยะ มีรีสอร์ตเพียง 30 กว่าแห่ง เจ้าของรีสอร์ตส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และพื้นฐานของผู้นำชุมชนมีความคิดกว้างไกลจากประชาคมหลักหมู่บ้านที่มีอยู่ ไม่สนับสนุนการนำรถยนต์ข้ามมาบนเกาะ การเล่นกีฬาทางน้ำด้วยเครื่องเล่นที่ใช้เครื่องยนต์ หรือเปิดสถานเริงรมย์ยามวิกาล สอดคล้องกับนโยบาย อพท. จึงได้รับการตอบรับที่ดีภายใน 2 ปี ผู้ประกอบการและชุมชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นเมื่อนำองค์ความรู้ต่างๆ มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้จริง เช่น การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าในสระน้ำ รีสอร์ต และบ้านเรือนช่วยลดค่ากระแสไฟฟ้า การกำจัดและคัดแยกขยะที่สร้างรายได้” คุณสุธารักษ์ กล่าว

ถอดโมเดล ต่อยอดพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

สุธารักษ์ กล่าวว่า บทสรุปต้นแบบเกาะหมาก Low Carbon Destination คือ อพท. ชัดเจนเป้าหมาย Low Carbon destination โดยเริ่มจากการสร้างความมั่นใจ เชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการและชาวบ้านในชุมชน จากนั้นใช้กลยุทธ์ขับเคลื่อนเชื่อมโยงภาควิชาการงานวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ กับการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก ชมรมการท่องเที่ยวเกาะหมาก สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด ซึ่งระยะแรกนั้นใช้แนวร่วมผู้ประกอบการนำร่อง 6 แห่ง ส่งผู้นำชุมชนไปศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศให้มาช่วยขยายผล ใช้กิจกรรมองค์ความรู้เป็นเครื่องมือเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และสำคัญที่สุดคือให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นี่คือความโชคดีของ อพท. ที่เลือกเกาะหมาก

จักรยานสำหรับให้นักท่องเที่ยวเช่า

“ปี 2561 กระทรวงพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับ อพท. นำโมเดลต้นแบบเกาะหมากโลว์คาร์บอน เดสติเนชั่นศึกษาวิจัยพัฒนาต่อเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวระดับโลก ทำให้ภาพโลว์คาร์บอนจะชัดเจนมากขึ้น เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีประกาศลดก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 ภายในปี ค.ศ. 2030 และใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 ที่กรุงปารีส เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 วันนั้นเกาะหมากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก” คุณสุทธารักษ์ กล่าว

ท่องเที่ยวเกาะหมากโต

ทิศทางโลว์คาร์บอนโดยธรรมชาติ

ทางด้าน คุณจักรพรรดิ ตะเวทิกุล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะหมากและผู้จัดการเกาะหมากรีสอร์ต กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ อพท. เข้ามาพัฒนาพื้นที่เกาะหมาก ได้ตอกย้ำการท่องเที่ยวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน แม้ปี 2557 จะมีไฟฟ้าจากฝั่ง ยังคงใช้พลังงานโซลาร์เซลล์กันประมาณ 50% รวมทั้งกิจกรรมการท่องเที่ยวธีมโลว์คาร์บอนเดสติเนชั่นที่เพิ่มขึ้น การแล่นมีเรือใบ เรือนำเที่ยวโซลาร์เซลล์ ดำน้ำดูปะการัง การปลูกผักอินทรีย์ การทำเมนูอาหารท้องถิ่น การแข่งขันจักรยาน สนามดิสก์กอล์ฟ และล่าสุดได้จัดกิจกรรมวิ่งหน้าฝน ทุกๆ อย่างทำให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศเที่ยวได้ทั้งปีและประทับใจ ต้องการกลับมาเที่ยวซ้ำ

คุณจักรพรรดิ ตะเวทิกุล

“นักท่องเที่ยวเยอรมนี สแกนดิเนเวีย อังกฤษ เป็นกลุ่มหลักและมาเที่ยวซ้ำ 1-2 ปีที่ผ่านมาเริ่มกลุ่มเอเชีย จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซียเพิ่มขึ้น เราต้องการกลุ่มคุณภาพมากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นชัดเจนร้อยละ 9 ต่างจากที่เคยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-3 ส่วนรีสอร์ต ห้องพักเพิ่มเล็กน้อยจาก 600 ห้อง เป็น 700 ห้อง คาดว่าปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้คงจะใกล้เคียงหรือเพิ่มขึ้นจากปี 2559 เล็กน้อย การพัฒนาเกาะหมากอนาคตหากราคาที่ดินสูงและถูกขายให้นายทุนใหญ่ๆ เข้ามาพัฒนา จะรักษาสภาพเกาะหมากโลว์คาร์บอนไว้ได้หรือไม่ ตอนนี้มีโครงการพัฒนาพื้นที่ขนาด 100-200 ไร่เศษ 2 แห่ง ทำให้ที่ดินชายทะเลราคาพุ่งไปถึงไร่ละ 5 ล้านบาท จากราคาหลักแสนในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา” คุณจักรพรรดิ กล่าว

ย้ำจุดยืนอัตลักษณ์ เตรียมประกาศกฎหมู่บ้าน

ทางด้าน คุณธานินทร์ สุทธิธนกุล รองประธานชมรมท่องเที่ยวเกาะหมากและเจ้าของร้านอาหารเกาะหมากซีฟู้ด กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าระยะแรกจะมีปัญหาเรื่องการสร้างความเข้าใจอยู่บ้าง สิ่งสำคัญที่สุดที่ อพท. เข้ามาพัฒนาสำเร็จได้คือ เกาะหมากยังมีธรรมชาติสมบูรณ์ถึง 90% และมีวิถีชีวิตแบบเดิมๆ อยู่จึงเป็นต้นทุนที่ดี และมีปัญหาที่ยังต้องใช้ไฟฟ้าที่ปั่นจากโรงไฟฟ้าเองที่ใช้ไม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเริ่มมีปัญหาเรื่องขยะ เมื่อมีการให้ความรู้ แนะนำสอนให้ทำไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ใช้กันเองทั้งรีสอร์ตและบ้านเรือน เรียนรู้การกำจัดขยะ เป็นการจุดประกายให้ทุกคนเริ่มสนใจ

พิพิธภัณฑ์

“การลดค่าคาร์บอนฟรุตปริ้นต์ชาวบ้านไม่ได้สนใจ เท่ากับการนำโซลาร์เซลล์ใช้เป็นพลังไฟฟ้าแล้วเสียค่าไฟฟ้าน้อยลง ขยะแยกแล้วนำไปขายได้ วิธีการกำจัดที่นำไปเป็นปุ๋ย เป็นแก๊สได้ การทำแปลงผักอินทรีย์ เมนูอาหารท้องถิ่นที่ลดต้นทุนได้ เมื่อมีคนทำเป็นตัวอย่างจะทำตามกัน ความเปลี่ยนแปลงเห็นชัดในช่วง 3 ปี คือมีหน่วยงานเข้ามาศึกษาดูงานหลายคณะ ส่วนอัตรานักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่แน่ใจว่ารับรู้ตอบรับแบรนด์โลว์คาร์บอนเพียงใด เพราะด้วยสภาพการท่องเที่ยวของเกาะหมากเป็นโลว์คาร์บอนตามธรรมชาติอยู่แล้ว ต่อไปภาพจะชัดขึ้น ถ้า อพท. สนับสนุนรถรางพลังงานแสงอาทิตย์ใช้บริการขนส่งนักท่องเที่ยวและมีจักรยานเพิ่มขึ้น ด้านชุมชนเองเตรียมประกาศกฎหมู่บ้านที่จะรักษาเอกลักษณ์ให้ท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวพึงปฏิบัติ เช่น การกำจัดขยะ ควบคุมปริมาณรถจักรยานยนต์ ควบคุมเรือเฟอร์รี่บรรทุกรถยนต์ เลิกใช้โฟม สารเคมี ควบคุมสถานบันเทิงหรือทำกิจกรรมเสียงดัง ความต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลาคือการสร้างจิตสำนึกในชุมชนเรื่องขยะ การกระจายรายได้สู่ชุมชน” คุณธานินทร์ กล่าว

แผงโซลาร์เซลล์ไฟฟ้าราวสะพาน
แบตเตอรี่เก็บไฟใช้กับสระว่ายน้ำ

ความสำเร็จอีกโมเดลหนึ่งของ อพท. ที่เกาะหมาก พื้นที่เล็กๆ เป็นต้นแบบสู่การขยายผลและต่อยอดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก