คอลัมน์ ฎีกาชาวบ้าน : ดอกทอง

“อีพวกดอกทอง ไม่ต้องมายุ่งเรื่องของกู มึงออกไปเลยเชียว ออกไปจากบ้านของกู”

นั่นฟังมัน ถ้อยคำที่หลานรักมันพูดเอากับลุงป้าน้าอา กะอีเรื่องเดิมนั้นแค่ลุงป้าน้าอาไปออกปากต่อว่าต่อขานกรณีที่พิพาทกัน เรื่องหลักหมุดที่ดินเท่านั้น

อันที่จริงก่อนจะมาถึงประโยคนี้ ปรากฏว่าเคยพิพาทกันมาก่อนหน้านี้หลายหนหลายคราวแล้วละ แต่ดูเหมือนยังไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้าย เที่ยวนี้ดูเหมือนจะสุดท้ายแล้ว

ลุงป้าน้าอารับฟังประโยคข้างต้น ดังนี้จึงเหลือจะทนทาน คิดในใจแต่ละคน บ้างปรึกษาหารือกันว่า หนอย ไอ้เรารึเคยรักใคร่เอ็นดู อุ้มชูมาแต่อ้อนแต่ออก เห็นว่าไม่มีที่อยู่ที่อาศัยทำกิน ถึงขนาดร่วมกันยกที่ดินให้มันได้อาศัยอยู่คุ้มกะลาหัว

เมื่อได้มีที่ดินแล้ว แทนที่จะสำนึกในบุญคุณ แทนที่จะรำลึกนึกหาหนทางทดแทนพระคุณ ที่ไหนได้กลับมาแสดงอาการน่าชังเอากับลุงป้าน้าอาอย่างนี้

เจอเข้าอย่างนี้ ลุงป้าน้าอาทั้งหลายจึงตัดสินใจว่า “ต้องเอาคืน”

แต่การจะเอาคืนได้นั้น ต้องทำตามกฎหมายด้วยการยื่นฟ้องเรียกที่ดินคืน หรือฟ้องถอนการให้ ด้วยข้อกล่าวหาว่า หลานรักที่กลายเป็นหลานชังประพฤติเนรคุณผู้ให้ ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531 ว่าไว้ว่า

“อันผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น อาจจะเรียกได้แต่เพียงในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดอาญาร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ

(2) ถ้าผู้รับได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง หรือ

(3) ถ้าผู้รับได้บอกปัด ไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้และผู้รับยังสามารถจะให้ได้”

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า ให้ถอนคืนการให้ จึงพิพากษาไปตามที่ขอ

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเจ้าหลานไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาจึงสู้ต่อไปในชั้นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ว่าถอนคืนไม่ได้

ฝ่ายลุงป้าน้าอาที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจึงยื่นฎีกาว่า ขอให้ศาลพิพากษาให้ถอนคืนการให้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความ “ดอกทอง” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า หญิงใจง่ายในทางประเวณี (ใช้เป็นคำด่า)

โดยวิสัยของบุคคลระดับชาวบ้านเช่นนี้ใช้ด่ากัน แม้จะไม่สุภาพและไม่สมควรที่หลานจะกล่าวต่อผู้ที่เป็นญาติที่เคยยกที่ดินให้ได้อยู่อาศัย แต่ก็ยังไม่อาจรับฟังได้ถึงขั้นว่าหลานมีเจตนาจะหมิ่นประมาทลุงป้าน้าอาอย่างร้ายแรง อันจะเป็นเหตุประพฤติเนรคุณเสียทีเดียว จึงยังไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะเรียกถอนคืนการให้ที่ดินได้

ศาลฎีกาในคดีนี้ พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ว่าให้ยกฟ้องของลุงป้าน้าอาที่มาฟ้องถอนคืนการให้ไป

เป็นอันว่า เที่ยวนี้หลานจึงไม่ต้องคืนที่ดิน

แต่คราวหน้า ถ้าข้อเท็จจริงเป็นอีกแบบ ถ้าคำด่าเป็นอีกแบบ ก็ต้องว่ากันอีกทีนะหลานนะ

 

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8306/2548)

——————————————-

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 535 การให้อันจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้ คือ

(1) ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้

(2) ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน

(3) ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา

(4) ให้ในการสมรส