การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ โดย:ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฉลอง เกิดพิทักษ์

เนื่องจากในปัจจุบัน (มกราคม 2561) การจัดการน้ำทั้งโครงการที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และโครงการที่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่ เมื่อพิจารณาถึงในแง่วิชาการที่นำมาประยุกต์ใช้ ส่วนใหญ่ยังใช้วิธีการเก่าๆ เมื่อ 40 ปีที่แล้วอยู่ จึงทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งมีคุณภาพค่อนข้างต่ำ สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำทั้งกรณีที่เกิดน้ำท่วม กรณีปกติ และกรณีที่เกิดภัยแล้งด้วยมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ซึ่งจะขอยกตัวอย่างเฉพาะที่เห็นว่ามีความสำคัญมากที่สุดมาเพียงมาตรการเดียวก่อน คือ การปฏิรูปหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องให้เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเฉพาะทางดังเช่นประเทศที่เจริญแล้วได้ยึดถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 50 ปี ทั้งนี้ก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ดังตัวอย่าง เช่น

ในปี พ.ศ.2517-2518 รวมเวลา 1 ปี ผู้เขียนมีโอกาสไปปฏิบัติงานกับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาขนาดใหญ่ในประเทศแคนาดา คือ บริษัท เอเคอร์ (Acres Consulting Services Limited) ซึ่งสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ใกล้กับน้ำตกไนแอการา (Niagra Falls, Ontario, Canada) ที่สำนักงานใหญ่นี้มีงานมาให้ปฏิบัติจากทั่วโลก รวมทั้งจากประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย โดยผู้เขียนได้ปฏิบัติงานอยู่ในกลุ่มงานชลศาสตร์ (Hydraulic department) ก็ปฏิบัติงานเฉพาะชลศาสตร์และอุทกวิทยาเท่านั้น ถ้าเป็นงานฐานรากและเขื่อนดินจะอยู่ในกลุ่มงานปฐพีกลศาสตร์ (Geotechnical department) เป็นต้น ในกลุ่มงานเดียวกันผู้เขียนได้พบกับวิศวกรชาวเกาหลีใต้ ซึ่งสำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโทจากประเทศสหรัฐอเมริกาและได้สัญชาติแคนาดาแล้ว ท่านได้ถามผู้เขียนว่า หน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำในประเทศไทยแบ่งการปฏิบัติงานอย่างไร เมื่อผู้เขียนอธิบายจบท่านก็พูดขึ้นว่าในประเทศเกาหลีใต้เมื่อก่อนก็เคยแบ่งการปฏิบัติงานเช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ปัจจุบันได้แบ่งการปฏิบัติงานเป็นเฉพาะทางเช่นเดียวกับบริษัทเอเคอร์ได้ 2-3 ปีแล้ว อนึ่งเวลาได้ล่วงเลยมามากกว่า 40 ปีแล้ว หน่วยงานด้านการจัดการน้ำของประเทศไทยยังไม่ได้แบ่งการปฏิบัติเป็นเฉพาะทางเลย หน่วยงานที่ปฏิบัติงานเฉพาะทางจะรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาขั้นปริญญาโทขึ้นไปเข้าปฏิบัติงาน ตัวอย่างงานที่ปฏิบัติ ได้แก่

1.คำนวณหาระดับน้ำท่วมสูงขึ้นเมื่อปริมาณน้ำไหลผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) กว้าง 6-7 บาน และมีฝายอยู่ที่ปีกทั้ง 2 ข้าง รวมความกว้างประมาณ 1/3 ของเขื่อนเจ้าพระยาที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่และให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน ปตร.มาด้วย ผู้ให้งานกำชับว่าขอให้คำนวณให้ใกล้เคียงความเป็นจริงเพราะจะต้องซื้อที่ดินที่ถูกน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้นทางด้านเหนือน้ำเนื่องจากการก่อสร้าง ปตร. และแนะนำด้วยว่าก่อนการคำนวณควรไปอ่านหนังสือ “ชลศาสตร์ของทางน้ำเปิด (Open-Channel Hydraulics)” เขียนโดยศาสตราจารย์เวนทีเชาว์ จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในหัวข้อ “น้ำไหลช้าผ่านทางน้ำที่ถูกบีบ (Sub-critical flow through constrictions)” ซึ่งผู้เขียนก็มีหนังสือเล่มนี้อยู่แล้วที่เมืองไทย ปรากฏว่า เมื่ออ่านแล้วก็ได้สูตรที่ใช้ในการคำนวณและในปี พ.ศ.2523 เกิดอุทกภัยใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยวัดปริมาณน้ำอุทกภัยไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้ 3,800 ลบ.ม.ต่อวินาที (วัดจริง 2 ครั้ง) และปริมาณน้ำไหลผ่าน ปตร.เริงราง จ.สระบุรี และ ปตร.โพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี เมื่อนำปริมาณน้ำอุทกภัยที่วัดได้มาคำนวณหาค่าสัมประสิทธิ์ปริมาณน้ำ กรณียกบานประตูทุกบานพ้นน้ำจะได้ค่าเท่ากับ 0.85 ถ้ามีโอกาสในการคำนวณปริมาณน้ำไหลผ่าน ปตร. ผู้เขียนก็จะใช้สูตรและค่าสัมประสิทธิ์ปริมาณน้ำดังกล่าวในการคำนวณตลอดเวลา ปรากฏว่าเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเป็นอนุกรรมการสอบเลื่อนระดับใบประกอบวิชาชีพจากภาคีเป็นสามัญวิศวกรของสภาวิศวกร สอบสัมภาษณ์ตามผลงาน ปรากฏว่าผู้มีผลงานออกแบบ ปตร.กว้าง 4-6 เมตร บานเดียว เข้าสอบกับผู้เขียน 3 ราย ยังใช้สูตรเก่าๆ อยู่เลย มีอยู่รายหนึ่งยังอ้างสูตรจากตำราของอาจารย์ที่เคยสอนผู้เขียน และสูตรนี้ได้ถูกยกเลิกไปนานแล้ว เพราะจะทำให้ได้ประตูกว้างเกือบ 2 เท่าของสูตรที่ผู้เขียนยกมาอธิบาย ปรากฏว่าผู้เขียนยังไม่เคยเห็นใครใช้สูตรดังที่ผู้เขียนเคยใช้เมื่อ 40 ปีที่แล้วในประเทศไทยเลยแม้แต่รายเดียว

2.งานที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติอีกงานหนึ่งก็คือ งานออกแบบฝายหินทิ้งที่ยอมให้น้ำไหลข้ามได้ ตัวฝายสูงประมาณ 3.30 เมตร ผู้มอบหมายงานได้ให้ความกว้างของแม่น้ำและปริมาณน้ำที่ใช้ในการออกแบบมาด้วย ผู้ให้งานแจ้งว่าเป็นงานขนาดเล็กรับงานมาด้วยราคาถูกอย่าใช้เวลาในการคำนวณมากนักกับได้แนะนำว่าก่อนการคำนวณควรไปอ่านเอกสารอ้างอิงซึ่งได้ส่งรายชื่อมาให้ด้วยประมาณเกือบ 30 เรื่อง (ห้องสมุดของบริษัทดีมาก) และประมาณ 3 เรื่องเป็นภาษาเยอรมันซึ่งในบริษัทก็มีผู้รู้ภาษาเยอรมันให้สอบถามได้ และเป็นบทความที่เกี่ยวกับการคำนวณ จึงใช้ภาษาไม่มากนักแต่ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยสมการต่างๆ เมื่อศึกษาเอกสารอ้างอิงจบ

เนื่องจากเป็นฝายก่อสร้างบนแม่น้ำขนาดเล็กที่จุดก่อสร้างฝายจึงไม่มีกราฟความสัมพันธ์ระหว่างระดับน้ำกับปริมาณน้ำ เผอิญในวันนั้นหัวหน้ากลุ่มงานชลศาสตร์ไม่อยู่ ผู้เขียนจึงไปสอบถามวิศวกรผู้ที่มีอาวุโสรองลงมา ปรากฏว่าท่านได้อธิบายเรื่องที่เกี่ยวข้องให้ผู้เขียนฟังเป็นเวลาประมาณ 20 นาทีแล้วท่านก็สรุปว่าเรื่องที่ผู้เขียนถามคำตอบก็อยู่ในคำอธิบายของท่านให้ไปคิดดูก็แล้วกัน ทั้งๆ ที่เรื่องที่ท่านอธิบายผู้เขียนก็ทราบอยู่แล้วทั้งนั้น ผู้เขียนจึงไปถามวิศวกรที่อาวุโสรองลงมา ซึ่งท่านก็อาวุโสกว่าผู้เขียน 2-3 ปี แต่เมื่อท่านสำเร็จการศึกษาขึ้นปริญญาตรีแล้วท่านก็ศึกษาต่อขั้นปริญญาโทเลย แต่สำหรับผู้เขียนกว่าจะได้ศึกษาต่อก็ใช้เวลา 4-5 ปี เมื่อถามท่านเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างระดับน้ำและปริมาณน้ำ ณ จุดก่อสร้างฝาย เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบระดับพื้นอ่างขจัดพลังงานน้ำ (Stilling basin) ท่านก็ตอบว่าใช้เท่ากับความลึกของการไหลวิกฤตไม่ได้หรือ? เมื่อได้ฟังคำตอบผู้เขียนก็กล่าวขอบคุณท่านเพราะท่านหมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำและความลึกของการไหลวิกฤตของน้ำ ถึงแม้ว่าการคำนวณวิธีดังกล่าวจะได้ระดับพื้นอ่างขจัดกำลังน้ำ (Stilling basin) ต่ำไปเล็กน้อย แต่ก็เป็นการออกแบบที่มีทฤษฎีรองรับ ซึ่งผู้เขียนเข้าใจว่าวิศวกรท่านนี้น่าจะเคยพบปัญหาดังกล่าวนี้มาก่อน เพราะเมื่อถามจบท่านก็ตอบได้เลย เมื่อส่งผลการออกแบบให้ผู้ที่ให้งานก็ไม่มีปัญหา

เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วผู้เขียนได้มีโอกาสทบทวนการศึกษาความเหมาะสมของอ่างเก็บน้ำแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกและในการศึกษาความเหมาะสมได้สำรวจรูปตัดลำน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำไว้ ผู้เขียนจึงได้นำมาคำนวณหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับน้ำและปริมาณน้ำเพราะในการออกแบบอ่างขจัดกำลังงานน้ำของทางน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำจำเป็นจะต้องใช้กราฟความสัมพันธ์ดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าอีกบริษัทหนึ่งได้ออกแบบและได้ส่งแบบมาให้บริษัทที่ผู้เขียนสังกัด 1 ชุด เมื่อผู้เขียนตรวจสอบปรากฏว่าไม่ได้ใช้ความสัมพันธ์ระหว่างระดับน้ำและปริมาณน้ำที่ผู้เขียนได้ศึกษาไว้ไปใช้ออกแบบอ่างขจัดกำลังงานน้ำของทางน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำ จึงทำให้กดระดับพื้นอ่างขจัดกำลังงานน้ำต่ำเกินไป ประมาณ 1.50 เมตร อนึ่งผู้เขียนยังไม่เคยเห็นการออกแบบระดับพื้นอ่างขจัดกำลังงานน้ำ (Stilling basin) ของทั้งประตูระบายน้ำและของทางน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำที่คำนวณถูกต้องเลย รวมทั้งอ่างขจัดกำลังงานน้ำ (Stilling basin) ของทางน้ำล้นของอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง จังหวัดปราจีนบุรีด้วย (ข้อมูลจากผู้ที่มาสอบเลื่อนระดับใบประกอบวิชาชีพ) ยกเว้นของเขื่อนเจ้าพระยาซึ่งออกแบบโดยหน่วยงานชลประทานจากประเทศสหรัฐอเมริกา

3.การคำนวณตรวจสอบขนาดของเครื่องสูบน้ำที่ปากอุโมงค์ของทางรถยนต์และทางรถไฟลอดใต้แม่น้ำ ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนประเทศสหรัฐอเมริกา-แคนาดา เป็นปากอุโมงค์ฝั่งประเทศแคนาดา เนื่องจากพื้นที่รับน้ำฝนที่เกิดจากทางรถไฟและทางรถยนต์บนพื้นที่ราบลาดลงสู่ปากอุโมงค์ไม่ราบเรียบ จึงยากแก่การคำนวณ ผู้คำนวณท่านแรกจึงเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการคำนวณ ซึ่งผู้เขียนอ่านดูแล้วไม่เข้าใจ ผู้เขียนจึงคำนวณด้วยสูตรจากตำราอุทกวิทยาจำนวน 3-4 สูตรโดยใช้ฝนที่มีโอกาสตก 1 ครั้งในรอบ 25 ปีมาใช้ในการคำนวณ และผู้ที่ให้งานบอกว่า บริษัทอาจถูกฟ้องได้ ถ้าเครื่องสูบน้ำมีขนาดเล็กเกินไป ผลการคำนวณปรากฏว่าแต่ละสูตรคำนวณได้ค่าปริมาณน้ำที่ต้องสูบออกไม่เท่ากัน ผู้เขียนจึงเลือกสูตรที่คำนวณได้ค่าปริมาณน้ำสูงสุดมาใช้ ปรากฏว่าเครื่องสูบมีขนาดเพียงพอที่จะสูบน้ำออกได้ เมื่อนำผลการศึกษาไปส่งมอบ ผู้ที่รับมอบพูดว่าถ้าผลการคำนวณของคุณถูกต้อง บริษัทคงไม่ถูกฟ้อง

ต่อมาเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ผู้เขียนได้เป็นอนุกรรมการสอบเลื่อนระดับใบประกอบวิชาชีพจากภาคีเป็นสามัญวิศวกรของสภาวิศวกร เป็นการสอบสัมภาษณ์ตามผลงาน ซึ่งผู้ที่มีผลงานคุมงานก่อสร้างได้มาเข้าสอบกับผู้เขียนประมาณ 20 คน ผู้เขียนถามว่าการระบายน้ำออกจากบ่อก่อสร้างระบายออกโดยการสูบหรือระบายออกจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ (Gravity) ทุกท่านตอบว่าระบายน้ำออกโดยการสูบ ผู้เขียนจึงถามต่อว่าขนาดเครื่องสูบน้ำคำนวณอย่างไร ปรากฏว่าไม่มีผู้ตอบถูกเลยแม้แต่ท่านเดียว ผู้สอบ 1 ท่านจาก 20 ท่าน สำเร็จการศึกษาปริญญาโททางด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ

4.ในช่วงปี พ.ศ.2522-2525 กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากประเทศแคนาดา (Acres Consulting Services Limited) มาเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์อย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลอง จึงทำให้ทราบความจุของคลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำและแม่น้ำสายต่างๆ ในลุ่มน้ำเป็นอย่างดี และในปี พ.ศ.2523 เกิดอุทกภัยใหญ่ขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยวัดปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้ 3,800 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ผู้จัดการโครงการของกรมชลประทานที่ควบคุมการปฏิบัติงานของบริษัทที่ปรึกษาสามารถบริหารจัดการปริมาณน้ำอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะท่านเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สูงทั้งทางด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติและภาษาอังกฤษของท่านดีมากอีกด้วย โดยท่านมักจะมาปฏิบัติงานที่กรมชลประทานสามเสนเป็นประจำโดยไม่มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จึงไม่เกิดน้ำท่วมพื้นที่รังสิต ดอนเมือง หลักสี่ และเขตจตุจักร ดังเช่นที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2554 และจะเกิดขึ้นอีกในปี พ.ศ.2559 ถ้าผู้เขียนไม่รีบเขียนบทความเรื่อง “คลองระพีพัฒน์แก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือ?” ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันเสียก่อน แต่เป็นที่น่าเสียดายเพราะเมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างในปี พ.ศ.2525 กรมชลประทานไม่สามารถดำเนินการจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์อย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาต่อได้

5.ในการสอบเลื่อนระดับใบประกอบวิชาชีพ จากภาคีเป็นสามัญวิศวกรของสภาวิศวกร เป็นการสอบข้อเขียน (เมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว) ผู้เขียนได้ออกข้อสอบ

1) เขื่อนเจ้าพระยาเมื่อปิดบานประตูสนิททุกบานจะเปิดบานประตูแต่ละบานเท่าๆ กันอย่างไรจึงจะไม่เกิดการกัดเซาะท้ายน้ำ ออกข้อสอบ 4 ครั้งไม่มีผู้ตอบได้ ครั้งที่ 5 มีผู้ตอบได้เพราะมีเฉลยอยู่ในตำรา “ชลศาสตร์ประยุกต์” ของผู้เขียน (เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อแจกจ่ายไปยังห้องสมุดของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)

2) ถ้าจะขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยาท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเป็นความลึกเฉลี่ย 0.50 เมตร จะต้องเว้นระยะห่างตามลำน้ำท้ายเขื่อนเป็นระยะทางเท่าใด เมื่อปิดบานประตูเขื่อนทุกบานสนิท แล้วจะเปิดบานประตูเขื่อนอย่างไร จึงจะไม่เกิดการกัดเซาะท้ายน้ำ ออกข้อสอบ 5-6 ครั้ง ไม่มีผู้ตอบได้

ต่อมาในปี พ.ศ.2556 ได้มีการขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยาท้ายเขื่อนเจ้าพระยาโดยไม่มีการคำนวณตรวจสอบโดยอ้างว่าขุดลอกเฉพาะตะกอนที่มาตกทับถม ตามหลักวิชาการแล้วตะกอนที่ตกทับถมบนแม่น้ำเจ้าพระยาท้ายเขื่อนเจ้าพระยาส่วนใหญ่จะเกิดจากการกัดเซาะแม่น้ำเจ้าพระยาท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ในปัจจุบัน (ธันวาคม 2560) ผู้เขียนเชื่อว่าเขื่อนเจ้าพระยาเมื่อปิดบานประตูทุกบานสนิท แล้วไม่สามารถเปิดบานประตูเพื่อระบายน้ำลงท้ายน้ำโดยไม่ให้เกิดการกัดเซาะแม่น้ำท้ายเขื่อนได้ ก่อนปี พ.ศ.2522 การปิด-เปิดบานประตูเขื่อนเจ้าพระยาไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้เกิดการกัดเซาะท้องน้ำท้ายอ่างขจัดกำลังงานน้ำ (Stilling basin) ช่วงที่เป็นหินเรียงเป็นความกว้างและลึกหลุมละ 3-4 เมตร จำนวนหลายหลุม อนึ่งผู้เขียนมีความเชื่อว่าในปัจจุบันเขื่อนเจ้าพระยากำลังได้รับอันตรายเช่นเดียวกับที่เกิดในช่วงปี 2522 ถ้าเป็นจริงดังที่ผู้เขียนคาดการณ์ไว้ เขื่อนเจ้าพระยาน่าจะใช้งานได้อีกเป็นเวลาประมาณ 10 ปี และถ้าผู้เขียนเป็นผู้รับผิดชอบ ผู้เขียนจะสั่งให้มีการตรวจสอบและหาทางแก้ไขโดยเร่งด่วน

6.การพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย

1) เขื่อนเจ้าพระยา เป็นเขื่อนผันน้ำเพื่อการชลประทานก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2498 และระบบส่งน้ำซึ่งสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกฤดูฝนได้มากกว่า 7 ล้านไร่ ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2504

2) เขื่อนภูมิพล เป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อผลิตกำลังงานไฟฟ้า เพื่อการชลประทานและป้องกันน้ำท่วม ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2506 เป็นอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

3) เขื่อนสิริกิติ์ ทำหน้าที่เช่นเดียวกับเขื่อนภูมิพลก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2514
หลังจากเขื่อนสิริกิติ์ก่อสร้างแล้วเสร็จ ข้าราชการในกรมชลประทานเข้าใจว่าปริมาณน้ำที่สามารถเก็บกักได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งสอง สามารถเปิดพื้นที่ชลประทานด้านท้ายน้ำเพิ่มขึ้นได้อีกเป็นจำนวนมาก ร้อนถึงธนาคารโลกซึ่งให้กู้เงินมาก่อสร้างโครงการทั้งสามได้เสนอแนะให้กรมชลประทานว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศมาศึกษาการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง ซึ่งบริษัท เอเคอร์ (Acers International Ltd.) จากประเทศแคนาดาได้รับการคัดเลือกให้เข้ามาศึกษา ผลการศึกษาการใช้น้ำอย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลอง ปรากฏว่า ปริมาณน้ำที่สามารถเก็บกักได้ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์มีไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกฤดูแล้งในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาได้เต็มพื้นที่ (เต็มตามความสามารถที่คลองส่งน้ำจะส่งให้ได้) ทุกปี เป็นผลให้โครงการชลประทานพิษณุโลกระยะที่ 2 ฝั่งซ้าย (หันหน้าตามน้ำ) ของแม่น้ำน่านในเขตจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ หลายแสนไร่ต้องหยุดการพัฒนา

นอกจากนี้ บริษัทยังมีข้อเสนอแนะที่นับว่าสำคัญมากคือ ไม่ควรก่อสร้างอ่างซ้อนอ่างแล้วเปิดพื้นที่ชลประทานท้ายอ่างด้านเหนือน้ำเพิ่ม เพราะจะเป็นการย้ายพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งจากโครงการชลประทานเจ้าพระยาไปยังท้ายอ่างด้านเหนือน้ำซึ่งต้องเสียค่าก่อสร้างเพิ่ม และขณะนั้นอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดพร้อมระบบชลประทานท้ายอ่างในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงพร้อมระบบชลประทานท้ายอ่างในเขตจังหวัดลำพูนยังไม่ได้ก่อสร้าง ซึ่งทั้งสองอ่างอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ซึ่งต่อมาก็ได้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดพร้อมระบบชลประทานท้ายอ่าง และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวง พร้อมระบบชลประทานท้ายอ่าง โดยไม่สนใจข้อเสนอแนะของการศึกษา แต่กลับก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใหญ่เกินไปจนไม่มีน้ำให้เก็บกักได้เต็มอ่างและในปี พ.ศ.2560 ได้มีการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากแม่น้ำแม่แตง (แม่น้ำแม่แตงไหลลงแม่น้ำปิงเหนือที่ตั้งจังหวัดเชียงใหม่) ไปยังแม่น้ำปิงและก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากแม่น้ำปิงไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัด

และจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวง ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและทำให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลมีปริมาตรอ่างว่างโดยเกณฑ์เฉลี่ยปีละเกือบ 4,000 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างเขื่อนผาจุกในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นเขื่อนผันน้ำพร้อมระบบชลประทานอีกนับแสนไร่ ซึ่งเป็นโครงการชลประทานลักษณะเดียวกับโครงการพิษณุโลกฝั่งซ้ายระยะที่ 2 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว

อนึ่งการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในลำดับต่อมาเช่นอ่างเก็บน้ำเขื่อนแควน้อย พร้อมระบบชลประทานท้ายอ่าง และอ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์พร้อมระบบชลประทานท้ายอ่างก็ไม่ได้ศึกษาอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำที่ถูกต้อง แต่ศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นโครงการๆ ไป จึงทำให้เกิดการย้ายการใช้น้ำโดยเฉพาะเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้งในเขตโครงการชลประทานเจ้าพระยาไปยังโครงการชลประทานที่เปิดใหม่ด้านเหนือน้ำ และในปี พ.ศ.2536 เกิดความแห้งแล้งขึ้นในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจนทำให้สถานีสูบน้ำสามแล จังหวัดปทุมธานี ของการประปานครหลวง ซึ่งสูบน้ำดิบไปใช้ผลิตน้ำประปาให้ประชาชนในเขตกรุงเทพฯ เกือบขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปา

7.บทสรุป ถ้าไม่รีบดำเนินการปฏิรูปหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดการน้ำ โดยให้เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเฉพาะทางดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้ยึดถือปฏิบัติมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 50 ปี ผลกระทบในทางลบต่อประชาชนที่เกิดจากการจัดการน้ำท่วมและภัยแล้งที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น และสูญเสียงบประมาณในการแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น ส่วนการนำเทคโนโลยีแบบจำลองมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำก็เป็นไปได้ยาก อนึ่งผู้เขียนเชื่อว่าถ้าอุโมงค์ผันน้ำจากแม่น้ำแม่แตงไปยังแม่น้ำปิง และจากแม่น้ำปิงไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดและเขื่อนแม่กวงก่อสร้างแล้วเสร็จ และระบบชลประทานของโครงการเขื่อนผาจุกก่อสร้างแล้วเสร็จและถ้าเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ.2536 ขึ้นมาอีกกรุงเทพฯ (ที่สถานีสูบน้ำสามแลของการประปานครหลวง) จะขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาอย่างแน่นอน เพราะภายหลังปี พ.ศ.2536 ยังมีการพัฒนาโครงการชลประทานขนาดกลางซึ่งมีพื้นที่รับประโยชน์ของแต่ละโครงการมากกว่า 10,000 ไร่ เหนือเขื่อนเจ้าพระยาอีกหลายโครงการโดยมิได้ศึกษาเพื่อพัฒนาอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำที่ถูกต้อง อนึ่งการศึกษาเพื่อผันน้ำจากสาขาของแม่น้ำสาละวินที่อยู่ในประเทศไทยมาลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลต้องใช้เวลานานเพราะถ้าจะศึกษาให้ถูกต้องเพื่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศจะต้องมีการศึกษาการใช้น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลองควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้ทราบว่าควรจะผันน้ำมาลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลเท่าใดจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

8.ถ้าได้มีการปฏิรูปหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำให้เป็นหน่วยราชการที่ปฏิบัติงานเฉพาะทางดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ใช้ปฏิบัติงานมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 50 ปีแล้ว

การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำควรจะดำเนินการอย่างไรจะได้นำมากล่าวในโอกาสต่อไป

ที่มา มติชนออนไลน์