เผยแพร่ |
---|
เนื่องจากคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์สีย้อมสังเคราะห์ 5 ชนิด ได้แก่ สีไดเร็กต์ สีรีแอกทีฟ สีแวต สีซัลเฟอร์ และสีแอซิด ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 29 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา ผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้นำเข้าสีย้อมสังเคราะห์ดังกล่าว ต้องยื่นขออนุญาตเพื่อยืนยันว่า สีย้อมสังเคราะห์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งกรณีนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและกลุ่มผู้ผลิตสิ่งทอและย้อมสีเส้นใย รวมถึงการย้อมสีเส้นไหมด้วย
ดังนั้น กรมหม่อนไหม จึงได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ กลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยเข้ามาเรียนรู้การย้อมสีธรรมชาติ ที่ “ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ไม้ย้อมสี” เพื่อเพิ่มทางเลือกในการย้อมเส้นไหมด้วยวัสดุธรรมชาติ ซึ่งให้สีสันสวยงามสุดคลาสสิก เป็นเอกลักษณ์และมีคุณภาพไม่แพ้การย้อมสีสังเคราะห์ ที่สำคัญยังมีความปลอดภัยสูงและช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วย
ปัจจุบันกรมหม่อนไหมมีศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ไม้ย้อมสี จำนวน 15 ศูนย์ทั่วประเทศ ได้แก่ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (ศมม.) แพร่ ตาก อุดรธานี หนองคาย สกลนคร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ มุกดาหาร บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สระบุรี ชุมพร และนราธิวาส ซึ่งแต่ละ ศมม. ได้รวบรวมพันธุ์ไม้ย้อมสีที่มีการใช้กันมาก พันธุ์ไม้ย้อมสีในภูมิปัญญา และพืชใหม่ที่สามารถทดสอบการใช้ประโยชน์ด้านการย้อมสี เป็นต้น โดยจัดเป็นแปลงสาธิตพันธุ์ไม้ย้อมสี พื้นที่ 2 ไร่ โดยแต่ละศูนย์มีพันธุ์ไม้ย้อมสีไม่น้อยกว่า 107 ชนิด รวมทั้งสิ้น 413 ชนิด
นอกจากนั้น แต่ละ ศมม. ยังปลูกไม้ย้อมสีประจำถิ่น เช่น พืชที่เกษตรกรในพื้นที่ใช้กันมาก หรือไม้ย้อมสีหายาก รวม 26 ชนิด อาทิ มะพูด ช้างน้าว อินทนิลน้ำ ครามเลื้อย มะกาย ส้มเสี้ยว ลำดวน เข เหมือดแอ ย่านางแดง มะหาด ผดุงไทร ขี้เถ้า และสำโรง เป็นต้น ขณะเดียวกัน ยังมีการเพาะเลี้ยงแมลงให้สี เช่น ครั่ง เพื่อใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการย้อมสีด้วย อนาคตได้มีแผนที่จะพัฒนาศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ไม้ย้อมสีเป็นศูนย์เรียนรู้และขยายพันธุ์ครั่งต่อไป
ขณะนี้กรมหม่อนไหมได้เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ผลิตหม่อนไหม โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยเข้ามาศึกษาเรียนรู้เทคนิคและวิธีการย้อมสีเส้นไหมด้วยสีธรรมชาติ ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ไม้ย้อมสีทุกแห่ง เพื่อเพิ่มทางเลือกในการย้อมเส้นไหมด้วยสีธรรมชาติจากไม้ย้อมสี ซึ่งสามารถผลิตเฉดสีที่คลาสสิก มีมิติ ซอฟต์ และให้สีสันที่สวยงามได้หลากหลายถึง 400-500 เฉดสี สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าเส้นไหมและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมได้ และยังมีความปลอดภัยต่อผู้ผลิตด้วย
อย่างไรก็ตาม กรมหม่อนไหมได้มีการพัฒนาและทดสอบการให้สีและวิธีการย้อมของพันธุ์ไม้และวัสดุย้อมสี โดยศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ไม้ย้อมสีแต่ละแห่งได้ดำเนินการทดสอบการย้อมสีพันธุ์ไม้ย้อมสี ปีละไม่น้อยกว่า 10 ตัวอย่าง รวมตัวอย่างสำหรับวิเคราะห์ความคงทนของสีต่อแสงและการซัก จำนวน 150 ตัวอย่าง/ปี เพื่อศึกษาการให้สีและความคงทนของสีของพันธุ์ไม้และวัสดุย้อมสี ขณะเดียวกัน ยังได้ส่งตัวอย่างเส้นไหมย้อมสีธรรมชาติไปวิเคราะห์ความคงทนของสีต่อการซักและแสงที่สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งกรมหม่อนไหมได้วิเคราะห์ความคงทนของเส้นไหมย้อมสีธรรมชาติแล้วไม่น้อยกว่า 300 ตัวอย่าง
สำหรับเทรนด์ (Trend) สีผ้าไหมของโลกในปี 2559 นี้ คือ สีฟ้า น้ำเงิน และสีชมพู เป็นเฉดสี ที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความนิยมสูง ซึ่งเฉดสีดังกล่าว สามารถผลิตได้จากไม้ย้อมสีซึ่งเป็นสีธรรมชาติ เช่น ครามจะให้สีฟ้า และแมลงครั่งจะให้สีชมพูและสีแดง ประกอบกับการใช้เทคนิคการย้อม และวิธีการย้อมที่เหมาะสม ก็สามารถย้อมสีเส้นไหมได้ตามเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคได้
ด้าน นางสาวศิริพร บุญชู ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม กรมหม่อนไหม กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ไม้ย้อมสีที่มีอยู่ทุกแห่ง นอกจากเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุกรรมไม้ย้อมสีแล้ว ยังได้เผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการ โดยจัดแสดงนิทรรศการความรู้เรื่องการย้อมสีธรรมชาติ วิธีการย้อม เช่น การย้อมร้อนและการย้อมเย็น พืชที่ให้สีธรรมชาติ การจัดทำตัวอย่างแห้ง (Herbarium) ของพืชให้สี พืชที่มีความคงทนเหมาะสำหรับการย้อมสีเส้นไหม และการใช้ประโยชน์ด้านการย้อมสีธรรมชาติจากพันธุ์ไม้ย้อมสีอย่างยั่งยืน ซึ่งเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป สามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ได้
อนาคตกรมหม่อนไหมได้มีแผนที่จะพัฒนาและอนุรักษ์ไม้ย้อมสี โดยส่งเสริมและแนะนำการปลูกพืช/วัสดุให้สีที่มีความเหมาะสมให้แก่เกษตรกร เน้นพืชที่มีศักยภาพในการผลิตทางการค้า ทั้งยังเป็นพืชที่ปลูกขยายพันธุ์ง่าย เจริญเติบโตเร็ว มีความคงทนของสีในระดับมากกว่า 4 ขึ้นไป และใช้กันอย่างแพร่หลาย มีเป้าหมายศูนย์ฯ นำร่อง 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ (ศมม.) เลย และชัยภูมิ เน้นส่งเสริมการเลี้ยงครั่งซึ่งให้สีแดง ศมม. นครราชสีมา เน้นส่งเสริมการปลูกพืชที่ให้สีเหลือง คือ ดาวเรือง เข และมะพูด ศมม. สกลนคร มุ่งส่งเสริมการปลูกครามซึ่งเป็นพืชที่ให้สีน้ำเงิน และ ศมม. ศรีสะเกษ เน้นพืชที่ให้สีดำ คือ มะเกลือ
อีกทั้งยังมีแผนส่งเสริมให้เกษตรกรประกอบอาชีพปลูกและแปรรูปพันธุ์ไม้ย้อมสี เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้น และสร้างแหล่งวัตถุดิบพืชให้สีธรรมชาติให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่มีความต้องการใช้วัตถุดิบย้อมสีธรรมชาติ และมีการแปรรูปในรูปแบบที่ใช้ง่าย เช่น การผลิตสีผงธรรมชาติ อาทิ ดาวเรืองผง ครามเค้ก และครั่ง โดยมุ่งเน้นคุณภาพ พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้สีย้อมธรรมชาติด้วย และมีแผนเร่งรัดจำแนกกลุ่มพืชให้สีตามโทนสีที่มีมาตรฐาน โดยสำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหมจะนำผลวิเคราะห์ความคงทนของสีที่ย้อมเส้นไหมมาจัดกลุ่มโทนสี ระบุค่าความคงทนต่อแสงไม่ต่ำกว่า 4 พร้อมกรรมวิธีการย้อม เพื่อจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่ ให้แก่ผู้ที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์และศึกษาพัฒนาต่อยอดในอนาคตต่อไป