“พาณิชย์” ลงพื้นที่ พบปะเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้า ชี้ช่องใช้ FTA นำเข้าวัตถุดิบ-ส่งออกไปขาย

“พาณิชย์” ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้า ชี้ช่องใช้ FTA นำเข้าวัตถุดิบ และเบิกทางส่งออกไปขาย พร้อมติวเข้มรับมือเปิดเสรีกับออสเตรเลีย ปี 63

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า วันที่ 8 มี.ค. 2561 กรมได้ลงพื้นที่พบปะกับเกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจกาแฟ ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ และวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรทำสวนเขาทะลุ จังหวัดชุมพร เพื่อชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการใช้ประโยชน์จากความตกลงเปิดการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ ในสินค้ากาแฟและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการเปิดตลาดลดภาษีภายใต้ความตกลง FTA ไทย–ออสเตรเลีย ในปี 2563

 “ในปัจจุบัน ไทยผลิตเมล็ดกาแฟได้ ประมาณ 26,000 ตัน ต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศที่มีถึง 90,000 ตัน ต่อปี จึงต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟ ปีละประมาณ 60,000 ตัน จึงควรจะใช้ประโยชน์จาก FTA ในการแสวงหาวัตถุดิบราคาถูกเข้ามาใช้ในส่วนที่ไม่เพียงพอ ทางกรมจึงได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มูลนิธิชาวสวนกาแฟ และสมาคมกาแฟไทย ลงพื้นที่ให้ความรู้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกาแฟ ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ปลูกกาแฟ โรงคั่วกาแฟ ร้านกาแฟ ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออก เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการเปิดเสรี ตั้งแต่การเพาะปลูก การผลิต และการรักษาคุณภาพ มาตรฐานกาแฟไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้แข่งขันได้ แม้จะมีการเปิดเสรีเกิดขึ้น”

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ไทยนำเข้ากาแฟจากประเทศในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย และลาว ซึ่งไทยเก็บภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ 5% และยกเว้นการเก็บภาษีเมล็ดกาแฟคั่ว ในขณะที่ประเทศอาเซียนเปิดเสรีโดยไม่เก็บภาษีนำเข้าทั้งเมล็ดกาแฟดิบและกาแฟคั่ว ยกเว้นเมียนมาที่ยังเก็บภาษีเมล็ดกาแฟคั่วบางชนิด ที่ 5%

ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟ เช่น กาแฟสำเร็จรูป กาแฟ 3 in 1 ไทยสามารถใช้ FTA ในการส่งออกไปอาเซียน เพราะไม่มีการเก็บภาษีศุลกากรผลิตภัณฑ์กาแฟระหว่างกัน ขณะที่ตลาดจีน ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–จีน (ACFTA) จีนเก็บภาษีศุลกากรผลิตภัณฑ์กาแฟจากไทย อยู่ที่ 17–32% และไทยเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์กาแฟจากจีนเท่ากับประเทศสมาชิก WTO อื่น คืออัตราภาษีในโควตาที่ 40% และอัตราภาษีนอกโควตาที่ 49% โดยโควตาที่จัดสรรให้จีนและประเทศสมาชิก WTO อื่น รวมกันอยู่ที่ 134 ตัน ต่อปี โดยปัจจุบันไทยส่งออกเป็น อันดับที่ 8 ของโลก อยู่ที่ประมาณ 30,000 ตัน ต่อปี ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังลาว เมียนมา และจีน

ปัจจุบัน การบริโภคกาแฟของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ความต้องการใช้กาแฟของโลก อยู่ที่ 9.33 ล้านตัน ต่อปี เพิ่มขึ้น 2.5% จากปี 2559 และอุตสาหกรรมกาแฟไทยก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน โดยความต้องการใช้เมล็ดกาแฟของโรงงานแปรรูปในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยใน ปี 2560 มีความต้องการใช้กาแฟกว่า 90,000 ตัน ต่อปี เพิ่มขึ้นกว่า 6.5% จากปี 2559 ดังนั้น จากความต้องการกาแฟของโลกและของไทยที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมกาแฟไทยมีโอกาสพัฒนาและเติบโตในอนาคต ซึ่งภาคใต้เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟที่สำคัญของไทยโดยมีสัดส่วนการปลูกถึง 75% ของพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมดของไทย โดยจังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่ปลูกกาแฟมากที่สุดในประเทศไทย

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ