สสก.1 โชว์ผลความสำเร็จพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ เผยสามารถพัฒนา YSF ผ่านการเทคโนโลยีเป็นผลสำเร็จ

นายไพศาล สังข์มงคล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในเรื่องการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ด้วยการพัฒนาและสร้างคนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคการเกษตรนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่ สสก.1 มีการดำเนินงานมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เน้นใช้องค์ความรู้ในเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการประกอบอาชีพนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยยกระดับพัฒนาการทำเกษตรในยุคปัจจุบันให้ก้าวไปสู่การทำเกษตรยุค 4.0 ได้อย่างแท้จริง ประกอบการส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการและขับเคลื่อนชุมชนโดยคนในชุมชนเองนั้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเป็นไปตามความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง

นายไพศาล สังข์มงคล

สำหรับการดำเนินการทั้งหมดนี้ก็มุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่มีความรู้ความสามารถในการทำการเกษตร ก่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพการเกษตร การพึ่งพาตนเอง และการแข่งขันทางการค้าในอนาคต โดยการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer เพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาตนเอง เชื่อมโยงจนเกิดเครือข่าย Young Smart Farmer ทุกภาคของประเทศต่อไป โดยในส่วนของ สสก.เขต 1 ซึ่งรับผิดชอบ 9 จังหวัดในภาคกลาง ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่อย่างเต็มรูปแบบ มาตั้งแต่ปี 2557 ตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยมุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสร้างเครือข่าย โดยให้เกษตรกรเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้และออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง” โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็น “ผู้จัดการเรียนรู้”  เพื่อพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้สามารถทดแทนเกษตรกรที่สูงอายุ สร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่มาประกอบอาชีพด้านการเกษตรมากขึ้น ผ่านการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ

โดยในปี 2557 มีเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคกลางจำนวน 236 คน และได้ขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นในปี 2560 เป็น 910 คน สามารถเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายอย่างเป็นรูปธรรม เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ สินค้ามีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน มีตลาดรองรับแน่นอนหลากหลายช่องทาง เช่น องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ตลาดเกษตรกร ตลาดค้าส่ง ตลาดค้าปลีกชุมชน และตลาดออนไลน์ ในปีงบประมาณ 2561 ได้ดำเนินการรับสมัครเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าร่วมโครงการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer จำนวน 315 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างสำนักงานเกษตรจังหวัดดำเนินการ พร้อมกนนั้น สสก.1 และ สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี และหน่วยงานภาคี ยังได้ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยใช้เครือข่าย Young Smart Farmer  เป็นกลไกในการขับเคลื่อน ผ่านการสร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเชื่อมโยงปัจจัยการผลิต องค์ความรู้ พัฒนาเข้าสู่ภาคธุรกิจเกษตร โดยการพิจารณาพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคกลางให้ครบทั้ง 9 จุด เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้บ่มเพาะเยาวชนเกษตร ยุวเกษตรกร และเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่ให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเกษตรและสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่ผู้ประกอบการเกษตรต่อไป

คุณพัชรพล  โพธิ์พันธุ์ เจ้าของฟาร์มเห็ดอัจฉริยะ ตั้งอยู่ที่ 60/7 หมู่ที่ 8 ตำบลแพรกศรีราชาอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ทำความโดดเด่นด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ด้านการตลาดเพื่อการยกระดับฟาร์มเห็ดธรรมดาให้เป็นสมาร์ทฟาร์ม (Smart farm) โดยการใช้นวัตกรรมด้านการเกษตรมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและพัฒนาภาคการเกษตรให้ยั่งยืนในอนาคต ทั้งเรื่องการผลิตก้อนเชื้อ  การสืบค้นย้อนกลับได้(Tracing) การทำก้อนเชื้อแบบประณีต ลดการสูญเสีย การทำโรงเรือนแบบปิดปรับสภาพแวดล้อมอัตโนมัติ สามารถติดตามได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านระบบอินเตอร์เน็ต(Iot) และนำการตลาดแบบออนไลน์ มาเป็นส่วนช่วยในการเพิ่มการตลาด

คุณพัชรพล โพธิ์พันธุ์

แนวความคิด Young Smart Farmer รุ่นใหม่

เกษตรกรยุคใหม่ ต้องทำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ด้านการเกษตร ตามแนวคิดต้องเปลี่ยนสู่ยุค Thailand 4.0 เพื่อให้ประเทศไทยให้กลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงจึงต้องการปรับเปลี่ยนเป็น “ทำน้อย ได้มาก” ก็จะต้องเปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์”ควรเป็นการผลิตที่ลดแรงงาน แต่เพิ่มคุณภาพและจำนวนของผลผลิตที่ได้ ใช้แนวคิดที่ว่าต้องทำงานน้อยลง แต่ได้ผลผลิตที่ดีและมีคุณภาพมาตรฐานมากขึ้น ต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาไม่ยึดติดกับองค์ความรู้เดิมและพร้อมที่จะเปิดใจทดลองใช้เทคโนโลยีพร้อมองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยการแปรรูปและออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอยู่เสมอเพื่อเพิ่มมูลค่า ต้องสร้างกลุ่มเป็นเครือข่ายในการประสานงานแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆ พร้อมทั้งเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการเกษตรจากสมาชิกเพิ่มเติมอีกด้วยทั้งยังเป็นเครือข่ายในการขยายตลาด โดยมีความเข้มแข็งสามารถต่อรองกับตลาดคนกลาง หรือสามารถเป็นลู่ทางในการส่งตรงผลผลิตสู่ผู้บริโภคได้

 

วิธีปฏิบัติ เทคโนโลยี หรือช่องทางการตลาด

ในการปฏิบัติงานของทางฟาร์มนั้น มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในทุกๆ ส่วนของงานเพื่อเพิ่มคุณภาพ และลดแรงงานจากเจ้าของกิจการ ทั้งลดการจ้างงาน

การผลิตก้อนเชื้อมีการยกระดับ ตั้งแต่การผสมโดยชั่งตวงวัตถุดิบทุกชนิด การปรับความชื้นโดยการคำนวณระบบดิจิตอล ซึ่งการผลิตก้อนเชื้อโดยทั่วไปใช้ความเคยชินและประสบการณ์ในการทำงาน การอัดก้อนเชื้อด้วยเครื่องจักร ใช้ระบบการนึ่งฆ่าเชื้อควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ  การบ่มก้อนเชื้อในโรงเรือนปรับอากาศ การใช้ระบบBarcode เข้ามาช่วยในการสืบค้นข้อมูลย้อนกลับได้

การเปิดดอกเห็ดทำในโรงเรือนระบบปิด และปรับอากาศภายในโรงเรือนด้วยระบบEvap ซึ่งควบคุมด้วยเซนเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื้น ให้ความชื้นผ่านระบบพ่นหมอกและCoolingPad ทำให้สามารถควบคุมสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับเห็ดที่เปิดดอกได้ ช่วยให้สามรถทำผลผลิตได้ใกล้เคียงกันตลอดทั้งปี อีกทั้งสามารถคอนโทรล มอนิเตอร์ ผ่านอินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือได้ตลอดเวลา

การตลาด เนื่องจากทางฟาร์มจะมีการเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ ข้อมูลการผลิตก้อนเชื้อ การเปิดดอก สภาพอากาศ ผลผลิต ทำให้สามารถคำนวณและคาดการณ์ผลผลิตได้แน่นอน มีผลทำให้สามารถเจรจากับผู้ค้าได้ง่ายขึ้น อีกทั้งการผลิตของดอกเห็ดในระบบปิด จะทำให้การปนเปื้อนของผลผลิตน้อยลงกว่าโรงเรือนธรรมดามาก มีผลให้ดอกเห็ดจากทางฟาร์มสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่พอใจ และกำลังเริ่มใช้วิธีโฆษณาผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อเพิ่มขอบเขตการตลาดอีกด้วย

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในเบื้องต้นทางฟาร์มกำลังเริ่มทดลองการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ด เช่น น้ำพริกเห็ดกรอบ เห็ดสวรรค์ แหนมเห็ด ข้าวเกรียบเห็ด และได้มีการทดลองการปลูกพืชในระบบโรงเรือนและไฮโดรโพนิคเพิ่มขึ้น โดยมีแผนจะเปิดเป็นแปลงท่องเที่ยวการเกษตร และร้านค้าผลิตภัณฑ์จากฟาร์ม ในพื้นที่ฟาร์มของตน

ความภูมิใจในอาชีพเกษตรกร

คุณพัชรพล บอกว่า สามารถลืมแนวคิดและความเชื่อเก่าๆ ในสังคม ที่ว่าเกษตรกรต้องใช้แรงงานแรกเงินไปวันๆ หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน เป็นกลุ่มคนระดับล่าง รายได้ต่ำ เข้ามาสู่อาชีพด้านการเกษตรที่มีความมั่นคงยั่งยืน มีอิสระในการทำงาน สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ มีการตลาดแบบเครือข่าย ส่งเสริมการจ้างงานในชุมชน อีกทั่งยังสามารถถ่ายทอด เทคโนโลยี ให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ได้ไม่เฉพาะแค่เห็ด อีกด้วย

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที โทรศัพท์ : 065- 506-8869 , 095-635-1811