ฟันธงผุด ‘นิคมใหม่’ อีก 4 พันไร่ ‘คอลลิเออร์ส’ ชี้อานิสงส์อีอีซีเอกชนแห่ลงทุน กทม.แชมป์แพงสุด – ‘ปากน้ำ-ปทุม’ ขยับตาม

‘คอลลิเออร์ส’เผยปีนี้ตลาดนิคมอุตสาหกรรมมาแรง พบ 3 เดือนแรกขายไปแล้วกว่า 800 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อีอีซี คาดปีนี้จะมีนิคมอุตสาหกรรมเปิดใหม่อีกกว่า 4 พันไร่ กทม.แชมป์ราคาสูงสุด ตามด้วยสมุทรปราการและปทุมธานี

นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้ความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมมีสัญญาณบวกเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากต่อเนื่องจากปี 2560 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะต่อเนื่องในอนาคต โดยมีโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  (อีอีซี) และเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยเพิ่มความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในระยะยาว ความชัดเจนของภาครัฐเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ที่เป็นรูปเป็นร่างอย่างชัดเจนใน ปีที่ผ่านมา จะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในปี 2561 และในอนาคต โดยในปี พ.ศ. 2560 ขายที่ดินได้ประมาณ 3,300 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 83,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับยอดขายในปี 2559

นายภัทรชัย กล่าวว่า สำหรับในปี 2561 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) วางเป้าหมายว่าจะสามารถปิดการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมไว้ที่ประมาณ 3,500 ไร่ มูลค่าการลงทุนประมาณ 90,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 17% จากปี 2560 โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 สามารถปิดการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมแล้วประมาณ 800 ไร่ มูลค่าการซื้อขายกว่ากว่า 20,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อีอีซี และคาดการณ์ว่าในปี 2561 นี้ จะมีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเปิดใหม่อีกว่า 4,000 ไร่

“ณ ครึ่งปีหลัง พ.ศ. 2560 พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอยู่ประมาณ 164,470 ไร่ ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมหลายรายชะลอการเปิดขายเฟสใหม่ในช่วงปี พ.ศ.2558-2559 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและการลดลงของนักลงทุนต่างชาติ แต่ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมประมาณ 3,000 ไร่ที่เปิดขายใหม่และประมาณ 80% อยู่ในพื้นที่อีอีซี อย่างไรก็ตามพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม เพราะว่า ประมาณ 56% ของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยอยู่ในพื้นที่นี้  และอีกประมาณ 39% อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง” นายภัทรชัย กล่าว

นายภัทรชัย กล่าวว่า สำหรับราคาที่ดินในนิคมอุตสาห กรรมนั้นพบว่า ในกรุงเทพมหานครสูงที่สุดเพราะเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้า ซึ่งมีทั้งท่าเรือและสนามบินนานาชาติ รองลงมาคือสมุทรปราการ และปทุมธานี ตามลำดับ ขณะที่บางจังหวัด เช่น สงขลา สระบุรี มีราคาที่ดินต่ำกว่ามาก เนื่องจากไกลออกไปจากกรุงเทพมหานครและท่าเรือ ทำให้มีที่ดินเหลือขายอยู่เป็นจำนวนมาก

นายภัทรชัย กล่าวว่า ในปี 2561 ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลายรายได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมในพื้นที่อีอีซีเพื่อเตรียมนำมาพัฒนานิคมอุตสาหกรรมใหม่เพื่อดึงดูดนักลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อย่าง บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเม้นท์ที่ร่วมทุนกันและไออาร์พีซี ซื้อที่ดินประมาณ 2,152 ไร่ ใน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ ห่างจากตัวเมืองระยอง      20 กิโลเมตร ห่างจากท่าเรือมาบตาพุด 36 กิโลเมตร และสนามบินอู่ตะเภา 50 กิโลเมตร โดย         นิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่นี้จะมีชื่อว่า “นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง” เป็นต้น

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน

Advertisement