มาเลย์ชู “มูซังคิง” ทุเรียนพรีเมียม

ขณะที่การค้าขายทุเรียนไทยฮอตฮิตติดลมบนมากในปีนี้ ก็น่าสนใจว่าเพื่อนบ้านที่ปลูกทุเรียนมีความเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง

สถานทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยจัดเทศกาลทุเรียน ช่วงต้นเดือนมิถุนายน นำทุเรียนสายพันธุ์ดีจากมาเลเซีย และพันธุ์หมอนทองจากไทย ให้ผู้เข้าร่วมงานผู้มีเกียรติทั้งหลายได้ชิมกัน

เริ่มจาก “มูซังคิง” หรือ ราจา กูญิต ชื่อพันธุ์ทุเรียนของมาเลเซียที่ขึ้นชื่อทั้งยังรู้จักในชื่อภาษาจีนว่า    เหมาชางหวัง หรือ ราชาแมวภูเขา
นายจอจี้ ซามูเอล เอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยกล่าวว่า ทุเรียนพันธุ์นี้เป็นความภาคภูมิใจของประเทศ และการนำทุเรียนพันธุ์นี้มาเผยให้ผู้คนได้ลิ้มรสชาติกัน สืบเนื่องมาจากมาเลเซียได้รับโอกาสในการส่งออกทุเรียนพันธุ์นี้มายังประเทศไทย

“พันธุ์มูซังคิง ได้รับความนิยมมากทั้งในประเทศมาเลเซียเอง หรือตลาดต่างชาติ อย่างฮ่องกง จีน และสิงคโปร์ ตลอดจนเพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกทุเรียนได้ทันความต้องการของผู้บริโภค รัฐบาลมาเลเซียได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรในด้านการวิจัยหานวัตกรรมต่างๆ เพื่อเพาะปลูกทุเรียนในมาเลเซีย”

ส่วนรสชาติของทุเรียนมาเลย์สายพันธุ์นี้ที่หวาน ขมหน่อยๆ สีออกทางเหลืองเข้ม เม็ดเล็ก แบนกว่าทุเรียนไทยทั่วไป ส่วนรูปร่างของผลทุเรียนส่วนใหญ่จะมารูปวงรี คล้ายลูกรักบี้ แต่มูซังคิงอาจจะไม่ค่อยถูกกับสไตล์ของคนไทยมากนัก เนื่องจากเกษตรกรสวนทุเรียนมาเลเซียมักจะเก็บเกี่ยวทุเรียนหลังจากที่มันตกลงมาจากต้นแล้ว ต่างกับไทยที่ตัดเพื่อเก็บผลผลิต
ต้นกำเนิดของทุเรียนมูซังคิงมาจากทางเมืองตานะห์ เมระห์ รัฐกลันตัน ติดกับอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาสในฝั่งไทย และได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมการเกษตรมาเลเซียในปี 2536

เจ้าหน้าที่ทูตมาเลเซียท่านหนึ่งเผยว่า ทุเรียนพันธุ์มูซังคิง มีราคาต่อกิโลกรัมอยู่ที่ประมาณ 50-80 ริงกิต หรือคิดเป็นเงินไทยราวประมาณ 400-640 บาทต่อกิโลกรัม และคนมาเลเซียให้ชื่อชั้นทุเรียนพันธุ์นี้ถึงระดับพรีเมียม
สำหรับการเปิดตลาดในประเทศไทย นายจอจี้กล่าวว่า ทางการมาเลเซีย และประเทศไทยได้ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งมาเลเซียได้รับโอกาสในการ ส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลายชนิด รวมถึงทุเรียนมูซังคิง เมื่อต้นปี และพืชอื่นๆ อย่างดอกเก๊กฮวย หรือพืชใต้น้ำหลากหลายสายพันธุ์
แม้ว่าจะได้รับอนุญาตให้นำเข้ามายังประเทศไทย ทางเจ้าหน้าที่ทูตท่านหนึ่งของสถานทูตมาเลเซียระบุว่า มาเลเซียยังเจออุปสรรคทางการค้าอยู่ เนื่องจากไทยมีกฎหมายที่ปกป้องสินค้าท้องถิ่น โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร รวมไปถึงการทำเอกสารที่ยืดยาวในเรื่องการนำเข้าสินค้าเกษตร
แต่ทางมาเลเซียก็จะใช้ช่องทางทั้งจากกรอบเจรจาการค้าในอาเซียน รวมไปถึงกรอบองค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอ ในการเจรจาเพื่อขยายผลนำเข้าสินค้าการเกษตรสู่ไทยมากกว่านี้

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจาก มัธธาณะ รอดยิ้ม