ชีวิตเหยิมเหยิม ตอน ถนอมถ่ายทอดและแบ่งปัน

สมาชิกชาวเหยิมสัญจรเดินทางกลับจากใต้พร้อมด้วยเคย (กะปิ) หนึ่งไห ที่ขัดน้ำจนแห้งสนิทได้น้ำเคยมากินด้วย

แวะแจกเคยและหยุดพักบ้านเพื่อน ชีวิตคล้ายที่เห็นในวัยเด็ก จำได้ว่าแม่จะเอามะพร้าวมากองไว้หน้าบ้าน มีคนเอาของมาแลกมะพร้าว ชาวเลเอาปลาแห้งมาฝากแล้วก็เอามะพร้าวกลับไป ทางปากพนังเอาข้าวสารมาให้ เอาพร้าวกลับไป

ชาวเหยิมทำตัวคล้ายๆ กัน แวะบ้านเพื่อน แม่เพื่อนเอามะนาวให้ถุงใหญ่ ที่เหยิมก็มีมะนาวแต่เราก็ควรรับมาเป็นน้ำใจ

ที่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท หยุดนานหน่อย ที่นี่เมืองปลูกข้าว ทุ่งนากว้างไกล ในช่วงนี้ไม่มีข้าว เป็นช่วงหลังเก็บเกี่ยว ทุ่งนาจะถูกปล่อยเป็ด ที่เรียกว่าเป็ดไล่ทุ่งเป็นอย่างนี้เอง เลี้ยงกันในทุ่งนา ทุ่งนี้เขาบอกว่าสองพันตัว ไม่ต้องให้อาหาร ปล่อยให้มันหากินไปในทุ่งนา พอเย็นก็ไล่ต้อนเข้าคอก เช้าก็เก็บไข่ นอกจากนาข้าวแล้วมีอ้อยและมะม่วงเยอะ บ้านไหนๆ ก็มีมะม่วง…หยุดที่มะม่วงสักพัก ไปเก็บมะม่วงกัน นอกจากกินดิบกินสุกแล้ว ยังมีการทำมะม่วงกวน

การทำมะม่วงกวนมีสองแบบ มะม่วงแผ่นคือกวนแล้วทำเป็นแผ่นๆ เอามาตากแดดให้แห้งนั่นเคยกินอยู่เป็นธรรมดา แบบที่สองที่ไม่ธรรมดาคือมะม่วงกวนแบบเหนียวหนึบเพิ่งเคยกิน

“พรุ่งนี้ก็กวนอีก” แม่บ้านบอก หลังกินไปหนึ่งกล่องแล้วหวานมันถูกใจ พรุ่งนี้รอดูการกวน

Advertisement

“จะช่วยกวนด้วย” ฉันอาสา

ยามเช้าเริ่มแล้ว เด็กหญิงของบ้านเอามะม่วงมาปอก เธอเป็นวัยรุ่นที่ช่วยทางบ้านทำงานบ้านดีมาก ตั้งแต่ตื่นเช้าเก็บดอกไม้ คัดดอกไม้เพื่อเอาไปส่งขาย บ้านนี้ปลูกดอกไม้ขาย มีกุหลาบ มะลิ พุด และดอกรัก ดอกไม้ทั้งหมดขายให้กับร้านที่ร้อยมาลัย เธอบอกว่า ช่วงนี้ขายดีเพราะมีงานแต่งเยอะ เขาทำมาลัยบ่าวสาว

Advertisement

“แสดงว่าเราทำงานที่สนับสนุนความสุข”

เธอยิ้ม ยิ้มของเด็กสาวสดใส

“แรงงานที่ส่งไปให้ในกิจกรรมความรัก นับเป็นการงานที่ดี สนับสนุนความสุขของผู้อื่น” ฉันว่า ในขณะที่เราช่วยกันแกะดอกรัก ต้องเอาที่หุ้มกลีบออกทิ้ง

“ต้องระวังนะ เพราะยางดอกรักมีพิษ เข้าตาไม่ได้เลย” ย่าเธอเดินมาบอก พร้อมกับเทดอกมะลิที่เก็บมาจากต้นใหม่ๆ กองรวมกัน

“อ้าวไม่รู้…ต้องรีบไปเอาแว่นมาสวมป้องกันไว้ก่อนเผื่อพลาดขึ้นมา”

“วันก่อนโดยเข้าตาแม่ต้องไปหาหมอ”

“ขนาดนั้นเลยเหรอ เสี่ยงนะนี่”

“ต้องเสี่ยงเอาบ้าง” แม่ว่า

นี่เป็นปรัชญาจากดอกรักเลย มันชื่อรัก แต่ยางมีพิษ อยู่กับรักต้องระวัง

เสร็จจากดอกไม้ก็มาทำมะม่วงกวนกัน ปอกมะม่วง ปอกเปลือกเฉือนเอาแต่เนื้อยังไม่พอต้องเอามีดถากให้หมดเนื้อเหลือแต่เม็ด วันนี้ใช้มะม่วงหลากหลายชนิด กลิ่นมะม่วงหอมหวานติดจมูกในระหว่างทำ (ชีวิตหอมหวานเหมือนมะม่วงก็ดี)

เนื้อมะม่วงได้มากเพียงพอที่จะกวนหนึ่งกระทะแล้ว ยีให้เละๆ ใส่ลงในกระทะ กวนกวนๆ และกวน เติมน้ำตาลหนึ่งกิโล ต้องเติมน้ำตาลซึ่งความจริงมะม่วงหวานอยู่แล้วแต่ต้องการให้มันเหนียว กะทิสดสองกิโล ต้องเติมกะทิไม่เช่นนั้นติดกระทะ เพราะมะม่วงเป็นผลไม้ที่ไม่มีน้ำมันไม่เหมือนทุเรียน ทุเรียนกวนได้โดยไม่ต้องใส่กะทิ น้ำมันจากทุเรียนจะออกมาเอง

แม่สำริด ผู้เชี่ยวชาญการกวนมะม่วง เรียกผู้เชี่ยวชาญเพราะกวนมานานมาก กวนมะม่วงนี้แม่ว่าใช้ฟืนใช้ถ่านดีกว่าแก๊ส ไม่เปลือง และควบคุมไฟได้ดีกว่าแก๊ส กวนไปสักพักเราก็เริ่มเอาช้อนเอาถ้วยมาตักชิม เพื่อดูรสชาติตั้งแต่ต้น (ให้เหตุผลเช่นนี้-ดูดี)

นั่งกินอยู่ใกล้ๆ กระทะ ขูดขอบกระทะกินไปเรื่อยๆ พบว่าที่ขอบกระทะอร่อยสุด

“เป็นไงบ้าง” คนกวนถาม

“มันมีปัญหานิดหนึ่ง” เราบอก

“เป็นไง ไม่มันเหรอแม่ก็ว่ากะทิท่าจะน้อยไปนิดหนึ่ง”

“มีปัญหาตรงที่ว่า กินแล้วหยุดไม่ได้” เป็นคำตอบที่เรียกเสียงหัวเราะรอบกระทะได้ (เรียกว่าตลกกิน)

จริงๆ มันอร่อยจนหยุดไม่ได้

“ช่วยกวน เผื่อได้กวนกินเองบ้าง ที่เหยิมก็มีมะม่วงอยู่สองต้น”

“ต้องระวังนะกระเด็นโดนขาโดนตีนแล้วจะปวดมาก” แม่สำริด เตือน และก็จริงกระเด็นแรงมากถ้ากวนไม่สม่ำเสมอ กวนช้าหรือหยุดกวนไม่ได้เลยกระเด็น นี่ถือเป็นข้อควรระวังในการกวนมะม่วงเลยทีเดียว คือมันจะกระเด็นหน้าโดนแข้งหรือเท้าได้ถ้ากวนช้า ดังนั้น ต้องกวนอย่าหยุดและสม่ำเสมอ

กวนมะม่วงแบบเดียวกับกวนทุเรียน เปรียบเทียบเช่นนี้เพราะฉันมาจากใต้ที่มีสวนทุเรียน พี่สาวจะกวนทุเรียนเพื่อให้น้องๆ เธอมีกำลังแขนและกำลังใจมาก เพียงเพราะอยากให้น้องได้เอาไปกิน ทุกคนที่มาเยี่ยมบ้านต้องได้ทุเรียนกวนไปกินคนละกิโล แต่ปีนี้ทุเรียนแพง มีผู้นิยมกินทุเรียนกันมากขึ้น อาจจะไม่ได้กินทุเรียนกวนของพี่สาว

มะม่วงกวนก็เช่นเดียวกัน ต้องใช้เวลาและต้องมีกำลังแขนกำลังใจที่ดี แม่สำริดแกกำลังใจดีเพราะแกกวนเพื่อให้ลูกหลานกินและแจกญาติมิตรเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะลูกชาย หลานชาย ชอบกินมากจึงต้องทำเยอะๆ

ยิ่งแห้งจะยิ่งเหนียวหนึบกว่าทุเรียน ต้องให้อีกคนหนึ่งจับหูกระทะไว้

แต่หลังจากนั้น…พบว่า อร่อยเกินคุ้ม หอม หวานมัน…ตักใส่กล่องเอาไว้กินได้นานๆ

ชาวเหยิมเหยิมได้มานับสิบกล่อง เพื่อเอามาฝากใครต่อใคร ไม่มีใครสักคนที่กินแล้วบอกว่าไม่อร่อย เรียกว่าใครมาเหยิมในช่วงเดือนพฤษภาก็จะได้กินมะม่วงกวนทุกคน หลายคนถามว่ากวนอย่างไร ขอสูตรไปด้วย

“ได้เลย เนื้อมะม่วงหนึ่งกระทะขนาดกลางต้องกะเอาเอง ทดลองสูตรดู น้ำตาลน่าจะหนึ่งต่อสิบส่วน กะทิสองต่อสิบ”

“ไว้รับแขกได้เลย” ชายคนหนึ่งบอกหลังจากชิมแล้ว

เขาบอกว่าเขาจะลองไปกวน จะลองทำเป็นก้อนๆ แบบกะละแม เผื่อขายได้ เพราะในสวนเขามีมะม่วงเยอะสุกกินไม่ทันเอาไปขายก็ราคาถูกมาก แปรรูปเป็นมะม่วงกวนใส่ถุงเป็นก้อนเล็กๆ ขนาดพอคำน่าจะดี

“แล้วจะเอามาให้ชิม” เขาบอก

วันนี้เขากับแฟนเอาลูกหมาน่ารักมาให้เราหนึ่งตัว แม่หมาออกลูกมาแปดตัวเยอะเกินเลี้ยงไม่ไหว จึงเอามาแจกที่กาดวัว หรือกาดทุ่งฟ้าบด (ตลาดนัดวันเสาร์ใกล้สวนเหยิม)

หน้ามันย่นจึงให้ชื่อมันว่า เจ้าย่น และเพื่อให้คล้องกับสวนเหยิม ย่นเป็นหมาพันใหญ่เหมาะสำหรับอยู่ในสวน แต่เราจะเลี้ยงให้มันเป็นมิตรกับผู้คน อยู่เฝ้าสวนแบบเป็นมิตร

พอมาถึงย่นก็เป็นมิตรกับพื้นที่นี้จริงๆ ลงไปอาบน้ำในร่องน้ำก่อนที่เจ้าของจะไป เขาบอกว่ามันคงเหมาะกับที่นี่ เพราะครั้งหนึ่งย่นได้บ้านไปแล้วเจ้าของใหม่ก็รักมาก แต่ไม่นานเธอก็บอกว่า มันดูเฉาๆ ไม่กินข้าว และเดินลื่นล้มอยู่ตลอด คือเดินกับหินอ่อนในบ้านไม่เป็น เขาจึงไปรับกลับมาและเอาไปไว้ที่บ้านเดิมจนมันร่าเริงแข็งแรงอีกครั้ง และเอามาให้เราซึ่งอยากได้ตั้งแต่แรกแต่จองไม่ทัน

เจ้าของย่นกลับไปแล้ว เขาบอกว่าจะส่งข่าวเรื่องมะม่วงกวน และกลับมาพร้อมกับมะม่วงมาให้ชิม เขาหวังจะแปรรูปเป็นสินค้าโอท็อป

ถือว่าเป็นเรื่องดีมาก การเดินทางของคณะเหยิมได้ประโยชน์ต่อผู้อื่น ในเรื่องการถ่ายทอด แบ่งบัน และในช่วงที่ผลไม้เมืองไทยล้นตลาด การแปรรูป ถนอมอาหารก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ทำเพื่อขาย หรือเพื่อเก็บไว้กินนอกฤดูกาล