เจาะผลส่งเสริมถั่วเหลืองหลังนา จ.เชียงราย 3 พันไร่ เชื่อมโยงตลาด ดึงการค้าถั่วเหลืองคึกคัก

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 ติดตามผลโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังนาปีที่ 1 จังหวัดเชียงราย เผย เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 600 ราย ส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังนาจำนวน 3,000 ไร่ ในอำเภอดอยหลวงและอำเภอเชียงรุ้ง ช่วยเกษตรกรเสริมองค์ความรู้การผลิตถั่วเหลืองหลังนา สถานการณ์การค้าถั่วเหลืองหลังนาคึกคักมากขึ้น

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงผลการติดตามโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังนาปีที่ 1 ครั้งที่ 1 ภายใต้กองทุนเพื่อพัฒนาการผลิตถั่วเหลือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้รับงบประมาณดำเนินการ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งหมดจำนวน 600 ราย กิจกรรมที่ดำเนินการ 3 กิจกรรม ได้แก่ 1. การส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังนาจำนวน 3,000 ไร่ ในอำเภอดอยหลวงและอำเภอเชียงรุ้ง 2. การจัดงานเชื่อมโยงการผลิตการตลาด และ 3. การส่งเสริมผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 360 ไร่

จากการติดตามของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สศท.1) พบว่า ผลการดำเนินงาน 9 เดือน นับแต่วันอนุมัติโครงการ (7 สิงหาคม 2560 – 31 พฤษภาคม 2561) ได้มีการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตถั่วเหลืองหลังนา การสนับสนุนปัจจัยการผลิต (เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง และเชื้อไรโซเบียม) และการเชื่อมโยงการตลาดให้แก่เกษตรกรที่ร่วมโครงการ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 93 ในเรื่องต่างๆ อาทิ วิธีการตรวจเฝ้าระวังศัตรูพืช ระยะเวลาในการตรวจแปลง การปลูกแบบหว่าน การคัดพันธุ์ปน การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) การใช้ปุ๋ยเคมี และการให้น้ำในระยะเวลาที่เหมาะสม

ด้านการจัดตั้งแปลงเรียนรู้ ได้จัดตั้งแปลงเรียนรู้ จำนวน 3 จุด ได้แก่ ตำบลโชคชัย อำเภอดอยหลวง จำนวน 2 จุด และตำบลป่าซาง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จำนวน 1 จุด มีเกษตรกรประมาณร้อยละ 37 เข้าไปเรียนรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูล เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่มีประสบการณ์การเพาะปลูกถั่วเหลืองมาก่อนแล้วจึงมีความคุ้นชินกับวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม จึงเห็นว่าแปลงเรียนรู้ควรมีการสาธิตเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ในการดูแลรักษาแปลงถั่วเหลือง เพิ่มเติมให้มากขึ้น  ทั้งนี้ ผลผลิตต่อไร่ของถั่วเหลืองหลังนาของเกษตรกรภายหลังการเข้าร่วมโครงการในปี 2560/61 พบว่า ให้ผลผลิตเฉลี่ย 172 กิโลกรัม ต่อไร่ ราคาเกษตรกรขายได้อยู่ที่ 16.83 บาท ต่อกิโลกรัม สูงกว่าปีที่ผ่านมา 0.51 บาท ต่อกิโลกรัม

ด้านนายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผอ.สศท.1 กล่าวเสริมถึงการเชื่อมโยงการตลาดว่า มีการดำเนินการโดยเชิญภาคเอกชนเข้าร่วมชี้แจงหลักเกณฑ์การรับซื้อถั่วเหลือง โดยต้องการรับซื้อถั่วเหลืองชั้นคุณภาพที่มีการคัดเกรด อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีเครื่องคัดเกรด ดังนั้น สำนักงานเกษตรอำเภอจึงมีแนวทางส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อการขาย และให้สหกรณ์การเกษตรร่วมดำเนินการด้านการตลาดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ โครงการได้กำหนดเกณฑ์การคืนเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองให้กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแต่ละกลุ่ม ตามระเบียบข้อตกลงในการคืนเมล็ดพันธุ์ให้กลุ่มในรูปของตัวเงิน โดยคำนวณมูลค่าเท่ากับจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับตามราคาตลาด เพื่อการออมเป็นเงินทุนในการปลูกถั่วเหลืองให้แก่สมาชิกในระยะต่อไป

ภาพรวมเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการในระดับมาก โดยหน่วยงานในพื้นที่ได้มีข้อเสนอแนะว่า ควรให้กรมส่งเสริมการเกษตรหรือกรมวิชาการเกษตร มีการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินงานมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนได้รับเมล็ดพันธุ์มาล่าช้า ล่วงเลยช่วงระยะเวลาการปลูก จึงตัดสินใจใช้เมล็ดพันธุ์ปลายฤดูฝนที่ปลูกไว้เองหรือซื้อจากเพื่อนบ้านหรือพ่อค้าในพื้นที่แทน และควรเพิ่มบทบาทสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่เพื่อเชื่อมโยงตลาด และเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตถั่วเหลืองพร้อมเพิ่มเติมเทคนิคและองค์ความรู้ต่างๆ มากยิ่งขึ้นในแปลงเรียนรู้ มีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเห็นประโยชน์ และเข้าไปใช้บริการแปลงเรียนรู้ฯ เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของการติดตามผลการส่งเสริมผลิตเมล็ดพันธุ์จำนวน 360 ไร่ สศท.1 จะลงพื้นที่ติดตามอีกครั้งในเดือนกันยายน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าว ได้ก่อเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งองค์ความรู้เกี่ยวกับการผลิตถั่วเหลืองหลังนา การเชื่อมโยงตลาดส่งผลให้สถานการณ์การค้าถั่วเหลืองหลังนาคึกคักมากขึ้นกว่าเดิม เกษตรกรทราบเงื่อนไขการรับซื้อของพ่อค้า สามารถพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้