หม้อห้อม บ้านทุ่งโฮ้ง แพร่

หม้อห้อม เป็นคำพื้นเมืองของภาคเหนือ มาจากการรวมคำ 2 คำ คือคำว่า หม้อ และคำว่า ห้อม คำหลังนั่นหมายถึงพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ที่ใช้ใบและกิ่งมาหมักในหม้อตามกรรมวิธี แล้วนำมาย้อมผ้าดิบให้เป็นสีน้ำเงินหรือสีกรมท่า เรียกกันว่าผ้าหม้อห้อม

คนเหนือใส่ผ้าหม้อห้อมกันมาก ใส่กันมาเนิ่นนานกาเล เดิมนั้นใส่กันในชีวิตประจำวัน ใส่ไปไร่ไปนา เขาว่ากันว่าผ้าหม้อห้อมยิ่งเก่ายิ่งเก๋า สีจะแปลงเป็นสีครามอ่อน เหมือนผ้ายีนส์ที่เขาว่าถ้าจะให้สวยต้องเก่าหรือไม่ก็ไปฟอกให้มันเก่านั่นแล

มายุคใหม่นี่ผ้าหม้อห้อมกลายเป็นผ้าที่ถูกจัดเป็นผ้าใส่ในโอกาสอันจะแสดงความเป็น “คนเมือง” ของคนในภาคเหนือ งานบุญ งานกุศล เขาจะใส่เสื้อผ้าตัดเย็บด้วยผ้าหม้อห้อม ก่อนนี้ก็เน้นผู้ชายเป็นหลัก แต่บัดนี้ผ้าหม้อห้อมเอามาตัดเป็นเสื้อผ้าผู้หญิงได้มากมาย สวยเก๋ไม่น้อย และนิยมกันทั่วไป

แม้จะใส่กันไปทั้งภาค แต่แหล่งที่ว่ากันว่าเป็นต้นตอของผ้าหม้อห้อม และจนบัดนี้ก็เป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดในประเทศก็คือบ้านทุ่งโฮ้ง ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

ตำบลทุ่งโฮ้งเดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ประชาชนในท้องถิ่นเป็นชาวไทยพวน เรียกว่า “บ้านตั้งโฮ้ง” หมายความว่า ทั่งสำหรับช่างใช้รองรับในการตีเหล็ก จึงเกิดการสึกหรอหรือเป็นแอ่งหรือหลุมเนื่องจากประชาชนเกือบทุกหลังคาเรือน จะมีอาชีพตีเหล็ก ใช้เป็นภาชนะอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ จนได้ขนานนามว่าบ้าน “ตั้งโฮ้ง” ต่อมาได้เปลี่ยนหรือเพี้ยนไปเป็น “ทุ่งโฮ้ง”

จากหมู่บ้านเล็กๆ ต่อมาก็มีประชาชนอพยพมาอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเป็นหมู่บ้านใหญ่ ตำบลทุ่งโฮ้งได้พัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ค้าขาย และหัตถกรรม ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542

ผ้าหม้อห้อมเป็นเอกลักษณ์ของชาวทุ่งโฮ้งและของคนจังหวัดแพร่ การแต่งกายชุดพื้นเมืองด้วยผ้าหม้อห้อมถือเป็นการแต่งกายประจำถิ่นของชาวทุ่งโฮ้ง ผู้ชายจะใส่เสื้อคอกลม แขนสั้นผ่าอกตลอด ติดกระดุมหรือใช้สายมัด เรียกว่าเสื้อกุยเฮง และใส่กางเกงขาก๊วยที่เรียกว่าเตี่ยวกี มีผ้าขาวม้าคาดเอวแทนเข็มขัด

ส่วนผู้หญิง จะเป็นเสื้อคอวี และคอกลม แขนยาวทรงกระบอกผ่าอกตลอด ติดกระดุม และสวมถุงซึ่งเรียกว่า ซิ่นแหล้ มีลักษณะเป็นพื้นสีดำมีสีแดงคาดตรงเชิงผ้าสองแถบและขอบเอวสีแดง

ภูมิปัญญาทำผ้าหม้อห้อมของบ้านทุ่งโฮ้ง ที่สืบทอดกันมาและต้องการจะก้าวต่อไป ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม ตั้งเป็นกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ เมื่อ 6 สิงหาคม 2548  มีสมาชิกเริ่มแรก 7 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 25 คน สมาชิกส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทำผ้าหม้อห้อม ทุกคนนำเอาภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ  ที่ถ่ายทอดรุ่นสู่รุ่นมาทำผ้าหม้อห้อมย้อมสีธรรมชาติ และพัฒนาผ้าหม้อห้อมให้ไปสู่ตลาดสากล แต่ก็รักษาเอกลักษณ์ของผ้าหม้อห้อมไว้ด้วย

ป้าเหงี่ยม คุณประภาพรรณ  ศรีตรัย หัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ ผู้ถ่ายทอดวิธีการย้อมผ้าหม้อห้อมให้เด็กๆ บอกว่าการย้อมห้อมต้องมีวิธีการละเอียดราวกับห้อมเป็นสิ่งมีชีวิต จากใบห้อมและใบครามสีเขียวๆ ต้องนำทั้งกิ่งและใบมามัดแช่น้ำเปล่าไว้สามวัน เมื่อแช่ครบแล้ว นำกากต้นห้อมออก นำน้ำปูนขาว น้ำมะขามเปียก น้ำซาวข้าวมาผสมรวมกัน ส่วนผสมเหล่านี้ให้ความเป็น กรดด่างต่างกันอย่างลงตัว เป็นอีกภูมิปัญญาที่น่าค้นหา

ก่อนจะนำห้อมเปียกไปใช้ต้องทำการผสมก่อน โดยกวนน้ำด่างเข้มข้นกับเนื้อห้อมหรือเนื้อครามเปียกให้เข้ากัน เติมน้ำซาวข้าว ปูนขาว และน้ำมะขามเปียกลงไป กวนส่วนผสมทั้งหมดให้เป็นเนื้อเดียวกัน ประมาณ 30-40 นาที หรือจนกระทั่งเกิดฟองสีน้ำเงินเข้ม ตั้งทิ้งไว้และล้างทุกวัน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จนกระทั่งค่า pH ของน้ำย้อมลดลงเหลือ 10.0 – 10.5 โดยที่น้ำย้อมจะต้องมีสีน้ำเงินเข้มและมีตะกอนสีเหลืองขมิ้น แสดงว่าน้ำย้อมนั้นสามารถย้อมผ้าและฝ้ายได้

การย้อมผ้าหรือเส้นด้าย ให้เป็นสีหม้อห้อม จะต้องย้อมหลายๆ ครั้ง โดยผสมขมิ้น ฝักส้มป่อยเผา หรือน้ำมะขามเปียก และน้ำด่างที่ได้จากการเกรอะขี้เถ้าและเหล้าป่า หรือน้ำอ้อย

ผ้าหม้อห้อมเมื่อใช้งานไปนานๆ สีจะซีดลง และต้องนำกลับมาย้อมใหม่อยู่เสมอ ซึ่งต่างจากผ้าสีครามที่ได้จากการย้อมด้วยสีสังเคราะห์ทางเคมี ซึ่งสีจะไม่ซีด เมื่อผ่านการซักล้าง

วันที่เราไปเยี่ยมชม ป้าเหงี่ยมและสมาชิกจัดเตรียมผ้าฝ้าย ตัดเย็บเป็นผ้าเช็ดหน้าผืนเล็กไว้ให้ได้ทดลองทำผ้าเช็ดหน้ามัดย้อมห้อม ที่สามารถรังสรรค์ลวดลายด้วยตัวเอง ผ้ามัดย้อมมัดแล้วมัดเล่า ผ้าสีขาวๆ ดูดซับสีเขียวจนทั่วผืนผ้า ยกขึ้นสัมผัสอากาศข้างนอกสักพัก ไม่ทันไรผืนผ้าก็กลายเป็นสีน้ำเงินเข้ม อย่างน่าอัศจรรย์

แวะไปเยี่ยมชมหรืออุดหนุนผ้าหม้อห้อมของกลุ่มป้าเหงี่ยมได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ  291 หมู่ 5 ตำบลทุ่งโฮ่ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ม 089-8513048