“GGC” ปลูกปาล์มตาม “RSPO” สร้างอุตสาหกรรมยั่งยืนต้นน้ำสู่ปลายน้ำ

ด้วยวิสัยทัศน์ของบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “GGC” ที่มุ่งเป็นผู้นำในการผลิต ผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ภายใต้กลุ่มบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “PTTGC” จึงทำให้เกิดการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญ และรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

เหมือนดั่งเช่น “น้ำมันปาล์ม” ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต จึงทำให้ต้นทางของการได้มาของวัตถุดิบมีการใส่ใจ และให้ความสำคัญ โดย GGC มีการการสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการทำเกษตรกรรมสวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้วยมาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) โดยมีการประสานความร่วมมือพันธมิตรทางธุรกิจอย่างบริษัท อีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม จำกัด ในการดำเนินการ เพื่อไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่ยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

“จิรวัฒน์ นุริตานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ และสามารถเพาะปลูกได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย รวมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศเอื้ออำนวย เพราะมีแหล่งน้ำสมบูรณ์ ทั้งยังมีฝนตกชุกโดยทั่วไป

“จากการที่เรามีการสำรวจพื้นที่นี้เป็นระยะเวลาหลายปี และได้ทำการศึกษาจนมั่นใจว่าพื้นที่นี้สามารถปลูกปาล์มได้ เราจึงเริ่มหาพันธมิตรสร้างการรับรู้ ความเข้าใจอย่างจริงจัง เพราะปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนต่อไร่สูง ทั้งยังทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถยกระดับรายได้เพิ่มสูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

“อีกทั้งน้ำมันปาล์มถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตของเรา ทั้ง Methyl Ester หรือ B100 ซึ่งนำไปใช้ในการผลิตไบโอดีเซลเชื้อเพลิงสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึง Fatty Alcohols ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำคัญที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึง Glycerin ตรงนี้เองเรามองว่าได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย”

ทั้งนี้ สำหรับ Fatty Alcohols ถือเป็นผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีขั้นพื้นฐานที่ถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน แชมพู ตลอดจนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไปภายในครัวเรือน ซึ่ง Fatty Alcohols ที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม จะมีโครงสร้างทางเคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตเนื่องจากแนวโน้มความใส่ใจสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งน้ำมันปาล์มยังเป็นวัตถุดิบในการผลิตโอลีโอเคมีชนิดพิเศษ (Specialty Oleochemicals) ซึ่งใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตผลิตภัณฑ์เคมีที่มีความซับซ้อนมากขึ้นอีกด้วย

“จิรวัฒน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความต้องการดังกล่าวทำให้ GGC มองเห็นโอกาสที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนหันมาปลูกปาล์มกันมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของตลาดและยังถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการทำการเกษตรในอนาคต เพราะนอกจากจะปลูกปาล์มแล้ว ในพื้นที่ยังสามารถทำการเกษตรแบบผสมผสานควบคู่ร่วมไปกับพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นข้าว และมันสำปะหลัง

“ด้วยจุดยืนของเราที่มุ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เคมีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้การดำเนินการจึงร่วมมือกับบริษัท อีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ใน อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจจะเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”

“สำหรับแนวทางการทำงานร่วมกันนั้นเรามีการจัดตั้งกลุ่มกรีนอีสานปาล์ม เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกปาล์มอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ปี 2552 ที่สำคัญยังมีการนำมาตรฐาน RSPO มาใช้ในกระบวนการผลิตน้ำมันปาล์มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่ง RSPO ถือเป็นมาตรฐานเพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมปาล์มที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และตรงนี้เองจะสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในพื้นที่อย่างแท้จริง”

“บรม เอ่งฉ้วน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม จำกัด กล่าวว่า การจัดตั้งกลุ่มกรีนอีสานปาล์มมีการเปิดรับเกษตรกรเพื่อเข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่ม ซึ่งสมาชิกจะได้รับสิทธิพิเศษในเรื่องการให้ความรู้ และคำแนะนำจากนักวิชาการ ผู้มีความรู้ และประสบการณ์ตรงจากการทำเกษตรกรรมสวนปาล์ม

อีกทั้งยังจะได้รับการสนับสนุนกล้าพันธุ์ปาล์ม และปุ๋ยที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งในขั้นตอนนี้มีบริษัท โฮมปาล์ม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งอยู่ภายใต้กลุ่มบริษัทอีสานพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม จะเป็นผู้ดำเนินการค้นคว้าและวิจัยการปลูก รวมถึงการเพาะกล้าพันธุ์ปาล์มที่มีคุณภาพเหมาะสมกับพื้นที่ โดยได้รับคำแนะนำและการสนับสนุนต่าง ๆ จาก GGC

“ไม่เพียงเท่านี้ ในปี 2557 เรายังมีการนำหลักการจัดการตามมาตรฐาน RSPO เข้ามาใช้เพื่อส่งเสริมการผลิตอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยมาตรฐาน RSPO หมายถึงการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อชุมชน ที่เกิดมาจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดสายการผลิต”

เพราะปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มและไบโอดีเซลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดผลเสียต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และชุมชนท้องถิ่น จนทำให้เกิดแรงกดดันของผู้บริโภค ทั้งยังทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเกิดแนวคิดริเริ่มเพื่อให้เกิดการผลิตอย่างยั่งยืน

“ในการที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานRSPO นั้น เกษตรกรจะต้องมีการรวมกลุ่มอย่างเป็นทางการ มีการปฏิบัติตามกฎของกลุ่ม การมีระบบการควบคุมภายในกลุ่มแบ่งฝ่ายและหน้าที่ความรับผิดชอบ และที่สำคัญเกษตรกรต้องปฏิบัติตามเกณฑ์กำหนด RSPO ใน 8 หลัก คือ 1) ความโปร่งใส 2) การปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบ 3) การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว 4) การปฏิบัติตามวิธีการดูแลรักษาปาล์มน้ำมันที่ดี 5) การดูแล รักษาสิ่งแวดล้อม 6) การรับผิดชอบต่อลูกจ้างและชุมชน 7) ปลูกปาล์มใหม่อย่างมีความรับผิดชอบ และ 8) พัฒนาสวนปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง จึงจะได้รับการรับรองตามมาตรฐาน RSPO”

“บรม” กล่าวเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่มีการนำ RSPO มาใช้กว่า 3 ปี คาดว่าภายในปีนี้จะมีพื้นที่ปลูกปาล์มที่ได้การรับรองมาตรฐาน RSPO ถึง 10,000 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มที่ได้การรับรองมาตรฐานใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน ทั้งยังคาดหวังว่าในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า จะต้องขยายครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกให้ได้ 1 ล้านไร่

“ปัจจุบันมีเกษตรกร และผู้รับซื้อที่เป็นสมาชิกของกลุ่มกรีนอีสานปาล์มกว่า 600 ราย มีผลผลิตเข้าสู่โรงงานสกัดน้ำมันอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดการสร้างงานในชุมชนจากธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่แน่นอนและต่อเนื่อง ซึ่งสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นอีกด้วย”

ถือเป็นวิสัยทัศน์ของภาคธุรกิจที่มุ่งสร้างคุณค่าให้กับสังคมอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พร้อมการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ทั้งยังทำให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตต่อไป