“สงขลา” เร่งหามาตรการแก้ราคาพริกเขียวมันตกต่ำ พร้อมหาช่องทางตลาดรองรับ

นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่หมู่ 3 ต.ตะเครียะ อ.ระโนด จ.สงขลา เพื่อร่วมหารือและระดมความคิดเห็นในการเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับราคาผลผลิต และตลาดรองรับพริกเขียวมันที่ตกต่ำในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกพริกเขียวมันหลังฤดูน้ำหลาก (มกราคม-เมษายน) ของทุกปี โดยมีนายอำเภอระโนด เกษตรจังหวัด พาณิยช์จังหวัด เกษตรอำเภอ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน และเกษตรกร อ.ระโนด และใกล้เคียงเข้าร่วม

โดย อ.ระโนด มีพื้นที่ปลูกพริกเขียวมัน ประมาณ 3,217 ไร่ มีเกษตรกร 1,257 ราย มีผลผลิตรวม 6,434,000 กิโลกรัม (กก.) ผลผลิตเฉลี่ย 2,000 กก./ไร่ โดยจะเก็บเกี่ยวประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ที่ผ่านมาราคาที่เกษตรกรขายได้สูงสุด 45 บาท/กก. ขณะที่ราคาขายได้ต่ำสุด อยู่ที่ 7 บาท/กก. สำหรับต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 15 บาท /กก. และมีค่าเก็บเกี่ยว 7 บาท/กก. ขณะที่ อ.กระแสสินธุ์ มีพื้นที่ปลูก ประมาณ 230 ไร่ เกษตรกร 160 ราย ผลผลิตรวม 460,000 กก. ส่วนใหญ่ช่วงเวลาปลูกจะเป็นหลังฤดูน้ำหลากเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และช่วงเวลาเก็บเกี่ยวประมาณพฤษภาคม-กรกฎาคม ช่วงเดือนที่ผลผลิตสูงสุดเดือนมิถุนายน สำหรับตลาดส่งออกหลัก คือ มาเลเซีย โดยส่งผ่านช่องทางด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งการส่งออกมากสุดเพื่อป้อนโรงงานผลิตซอสพริก ซึ่งจะมีการส่งออกต่อไปยังประเทศในตะวันออกกลาง

นายราชิต สุดพุ่ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาการปลูกพริกเขียวมันในพื้นที่ อ.ระโนด และ อ.กระแสสินธุ์ ประสบปัญหาผลผลิตปริมาณมากกว่าความต้องการของตลาด รวมทั้งขาดแรงงาน ทำให้การจ้างแรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิตสูง 7 บาท/กก. และมีการปลูกพริกในอำเภอใกล้เคียงและจังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.นครศรีธรรมราช และพัทลุง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกประมาณ 3,761 ไร่ ผลผลิตประมาณ 522,000 กก. อีกทั้งราคาผลผลิตมีการผูกขาดโดยพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากการระดมความคิดและการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ด้วยการลดพื้นที่ปลูกพริกเขียวมันให้น้อยลง ให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แตงกวา ฟักทองฟักเขียว หรือพืชผักอื่นๆ ที่ตลาดต้องการหรือภายใต้การตลาดนำการผลิต นอกจากนี้ให้เกษตรกรรวมกลุ่มวางแผนการผลิตเพื่อลดต้นทุนการผลิต และสามารถต่อรองกับพ่อค้าในการจำหน่ายผลผลิตได้ เมื่อกลุ่มมีความเข้มแข็งให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบแปลงใหญ่ เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการผลิตของชุมชนแบบครบวงจร และการเชื่อมโยงกันระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ สหกรณ์การเกษตร เพื่อให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม

นายประสงค์ พีรธรากุล เกษตรจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลาได้มีการเตรียมการในขั้นต้น ซึ่งเกษตรกรจะเริ่มปลูกพริกประมาณช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ โดยขณะนี้ได้วางแผนการจัดการสำรวจข้อมูลว่าแต่ละครัวเรือนมีการปลูกพริกเท่าไร และมีการเกษตรอื่นๆ จำนวนเท่าไร ซึ่งจะได้ประสานกับภาคเอกชนให้รับทราบถึงปริมาณและวางแผนการผลิตต่อไป สำหรับเรื่องราคานั้นต้องดูถึงคุณภาพของผลผลิต

ด้าน นางสุนิสา มโนสินธุ์ เกษตรกรปลูกพริกเขียวมัน กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านการตลาด ผลักดันราคาสินค้าให้สูงขึ้น ปัญหาด้านเงินทุนและการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่เกิดจากพริก และหาตลาดให้แก่เกษตรกร ที่จะรองรับราคาผลผลิตที่จะเกิดขึ้นอีกใน 2-3 เดือนข้างหน้า และผลผลิตที่ออกมาประมาณเดือนมีนาคม