คะน้าเด็ดยอด ปลูกไว้เป็นผักสามัญประจำบ้านกันดีไหม

บทความนี้จะกล่าวถึงผักชนิดหนึ่ง ที่ขอเรียกชื่อตามลักษณะการใช้ประโยชน์ว่า ผักคะน้าเด็ดยอด โดยเรียกชื่อภาษาอังกฤษว่า petit kale หรือที่รู้จักกันในชื่อ ปูเล่ กล่าวได้ว่า เป็นผักอีกชนิดหนึ่งของผักรับประทานใบ ต้นมีอายุยืน ผักคะน้าเด็ดยอดนี้มีคุณลักษณะเด่นคือ สามารถแตกยอดขนาดเล็กจํานวนมากคล้ายยอดอ่อนของผักคะน้า สามารถนําไปประกอบอาหารได้แบบผักคะน้าทุกเมนู นอกจากนี้ ยอดอ่อนยังมีเส้นใยน้อยกว่าผักคะน้า จึงไม่เหนียวเมื่อบริโภค

ลักษณะเด่นของ ผักคะน้าเด็ดยอด

  1. ยอดอ่อนมีเส้นใยน้อยกว่าผักคะน้า จึงไม่เหนียว สามารถนําไปประกอบอาหาร ทั้งรับประทานสดและปรุงสุกได้แบบผักคะน้าทุกเมนู
  2. เป็นพืชผักตระกูลกะหลํ่า มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์หลายชนิด โดยเฉพาะสารเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะการเกิดโรคมะเร็ง
  3. เจริญเติบโตได้ดีทั้งการปลูกในภาชนะ เช่น กระถางขนาดใหญ่ หรือนําไปปลูกเป็นแปลงแบบการปลูกผัก
  4. มีอายุการให้ผลผลิตยอดอ่อนต่อเนื่องยาวนานหลายปี
  5. เป็นผักที่สามารถปลูกแบบผักปลอดภัย (ไม่ใช้สารเคมีป้องกันและกําจัดศัตรูพืช) เนื่องจากศัตรูพืชที่พบ สามารถป้องกันและกําจัดโดยใช้จุลินทรีย์ควบคุม หรือโดยการควบคุมสภาพแวดล้อมขณะปลูก

คะน้าเด็ดยอด เน้นการขยายพันธุ์โดยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เนื่องจากต้นพันธุ์ที่ผลิตได้จะมีความสม่ำเสมอ แข็งแรง และปลอดโรค ศูนย์ขยายพันธุ์พืชสยาม (เอกชน) สนใจและเห็นว่า ผักคะน้าเด็ดยอดนี้ เหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นพืชผักประจําบ้าน หรือพัฒนาวิธีการปลูกเชิงธุรกิจ รวมทั้งยังได้คัดเลือกต้นพันธุ์ที่มีลักษณะดีเด่นและผลิตเป็นต้นพันธุ์ดีออกมา และยังได้ศึกษาวิธีการปลูกที่เหมาะสมสําหรับผู้บริโภคเพื่อใช้ปลูกในลักษณะผักปลอดภัยประจําบ้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่ปัจจุบันมีความเสี่ยงต่อการบริโภคผักที่มีสารเคมีกําจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ดังตัวอย่างข้อมูลของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกําจัดศัตรูพืช หรือ Thai PAN เรื่องผลการตรวจสารเคมีกําจัดศัตรูพืชตกค้างในผัก-ผลไม้ ประจําปี พ.ศ. 2561 พอสรุปได้ว่า 

  1. ตัวอย่างผักไฮโดรโปนิกที่สุ่มเก็บจากห้างสรรพสินค้าและตลาด จํานวน 30 ตัวอย่าง พบว่า มี 19 ตัวอย่าง พบสารเคมีกําจัดศัตรูพืชตกค้างเกินค่ามาตรฐาน
  2. ตัวอย่างผักและผลไม้ที่เก็บจากห้างสรรพสินค้าและตลาด เช่น ผักคะน้า พริกแดง ส้มสายนํ้าผึ้ง และแก้วมังกร เหล่านี้ติดป้ายเป็นผักอินทรีย์ ผักปลอดสาร และผักไม่ติดป้าย โดยตรวจพบสารเคมีกําจัดศัตรูพืชทุกกลุ่มผัก แม้แต่ผักที่มีสัญลักษณ์ปลอดภัย ก็ยังตรวจพบ ยกตัวอย่าง เช่น ผักคะน้า สุ่มเก็บมา 11 ตัวอย่าง ตรวจพบสารเคมีเกินค่ามาตรฐานถึง 10 ตัวอย่าง
  3. กลุ่มสารเคมีกําจัดศัตรูพืชที่พบเจอ ได้แก่ สารเคมีในกลุ่มสารกําจัดวัชพืช สารป้องกันและกําจัดเชื้อรา สารกําจัดแมลงและไร นอกจากนี้ ยังพบสารเคมีชนิดดูดซึมหลายชนิด สารชนิดดูดซึมนี้แม้จะล้างทําความสะอาดอย่างถูกวิธี (เช่น ล้างด้วยนํ้าส้มสายชู) ก็ไม่สามารถล้างได้ เพราะถูกดูดเข้าไปในเนื้อเยื่อพืชแล้ว (http ://thaipublica.org, http so://youtu.be/-W60Wn23ZRQ)

เห็นได้ว่า แนวโน้มของสารเคมีกําจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนในผัก-ผลไม้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หากรอให้ผู้เกี่ยวข้องควบคุมให้พืชผักปลอดภัยได้จริง คงใช้เวลาอีกยาวนาน และเมื่อเราบริโภคผักปนเปื้อนเคมีเหล่านี้เข้าไปมากๆ ก็จะเกิดการสะสมสารเคมีในร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท และที่สําคัญคือ โรคมะเร็ง ผู้เขียนอยู่ต่างจังหวัดมีอาชีพทำการเกษตร ทราบดีว่า การใช้สารเคมีป้องกันและกําจัดศัตรูพืชมีอยู่ทุกพื้นที่ หาซื้อได้ง่ายๆ ส่วนใหญ่ก็ใช้แบบเกินความจําเป็น ดังนั้น จึงขอสนับสนุนทุกๆ ครอบครัว ที่พอมีพื้นที่ปลูกผักชนิดต่างๆ เพื่อบริโภค โดยเฉพาะพวกที่ใช้ประจํา เช่น มะนาว กะเพรา โหระพา ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และขอเพิ่มคะน้าเด็ดยอดเข้าไปด้วยอีกชนิดหนึ่ง

วิธีการปลูกและดูแลรักษา ผักคะน้าเด็ดยอด

  1. ผักคะน้าเด็ดยอด เจริญเติบโตได้ดีในทุกพื้นที่ สภาพพื้นที่เหมาะสมควรเลือกบริเวณที่แสงแดดส่องถึง นํ้าไม่ท่วมขัง (แบบฤดูฝน) ดินร่วนระบายนํ้าได้ดี หากเป็นบ้านเรือนทั่วๆ ไป ก็เลือกตามแนวชายคาบ้านที่สามารถทําเป็นแปลงปลูก หรือเป็นที่ตั้งวางกระถางปลูกได้ การปลูกเป็นแปลงจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าการปลูกลงกระถางเนื่องจากระบบรากสามารถเจริญได้ดีกว่า
  2. ภายหลังการเด็ดยอดคะน้าไปบริโภคแล้ว จะเกิดยอดคะน้าใหม่ ประมาณ 2-3 ยอด ต่อการเด็ด 1 ยอด และเมื่อยอดชุดใหม่มีอายุประมาณ 25-30 วัน ก็สามารถเด็ดไปบริโภคได้อีก โดยยอดที่ถูกเด็ดจะเกิดยอดใหม่ขึ้นอีก 2-3 ยอด เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อเราเด็ดยอดอ่อนไปบริโภคอย่างสม่ำเสมอ ยอดใหม่ก็จะทยอยเกิดตามไปเรื่อยๆ
  3. ศัตรูของคะน้าเด็ดยอด มีหลายชนิด

3.1 แมลง ที่สําคัญมากคือ พวกหนอนผีเสื้อต่างๆ วิธีการกําจัด หากมีน้อยให้เก็บตัวหนอนทำลาย หากมีมากให้ใช้สารจุลินทรีย์ บาซิลลัสทูริงเยนซีส ฉีดพ่น สามารถกําจัดหนอนได้ดีมาก อีกชนิดที่พบบ่อยๆ ได้แก่ เพลี้ยอ่อน วิธีกําจัดให้ใช้นํ้าแรงๆ ฉีดพ่น หรืออาจใช้พวกใบยาสูบตากแห้ง (ที่มวนบุหรี่) แช่นํ้าแล้วฉีดพ่นเป็นละอองฝอยๆ

3.2 โรคที่พบ เป็นพวกอาการเน่าของกลุ่มผักคะน้า หากความชื้นมากเกินไป วิธีแก้ไขให้ตกแต่งใบแก่ ใบแห้ง ให้แปลงปลูกโปร่ง ไม่แน่นทึบ อากาศถ่ายเทได้สะดวก รวมถึงอาจลดปริมาณนํ้าในแต่ละวันลง เพื่อให้ความชื้นในแปลงปลูกลดลง

  1. ปุ๋ย เสริมธาตุอาหารปุ๋ย สูตร 15-15-15 ระยะเวลาประมาณ 20 วัน ต่อครั้ง อัตรา 1 ช้อนชา ต่อนํ้า 10 ลิตร
  2. นํ้า และความชื้น ในฤดูฝนความชื้นสูง อาจไม่ต้องรดนํ้าทุกวัน ส่วนในฤดูหนาวหรือร้อนอาจพิจารณาให้นํ้าเพิ่มขึ้นได้ ผู้ปลูกต้องหมั่นสังเกตว่าหากความชื้นสูงในฤดูฝน ผักอาจเหี่ยวและเน่าเสียหาย แต่หากในฤดูร้อนให้นํ้าน้อยไป ยอดคะน้าจะเหนียว เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องสังเกตความเหมาะสมตามสภาพแต่ละท้องถิ่น
  3. ใช้ต้นพันธุ์ดี ที่ผลิตจากระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

แนวคิดการปลูกแบบธุรกิจ

ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ปลูกผักชนิดนี้มานานพอสมควร ในอดีตเคยนําผักชนิดนี้ไปปลูกในพื้นที่อําเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นการปลูกภายใต้โรงเรือนหลังคาพลาสติก ตัวโรงเรือนทําจากไม้ไผ่ ไม่ใช้สารเคมีป้องกันและกําจัดศัตรูพืช ใช้แต่พวกเชื้อบาซิลลัสและกากยาสูบควบคุมแมลง พบว่า สามารถผลิตผักชนิดนี้ได้เดือนละหลายร้อยกิโลกรัม ผลผลิตส่งไปจําหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ผู้บริโภคให้การยอมรับผักชนิดนี้ดี ดังนั้น คิดว่าการตลาดของผักชนิดนี้น่าจะเติบโตได้ดีในภาวะที่ผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพกันอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ขอฝากข้อควรคํานึงเมื่อคิดจะปลูกผักชนิดนี้เป็นธุรกิจ สัก 2 ประการ

  1. ผักชนิดนี้ไม่ชอบชื้นแฉะแบบปลูกกลางแจ้งในฤดูฝน จําเป็นต้องมีหลังคาป้องกันฝน หรือปลูกในโรงเรือนปลูกพืช
  2. ผักชนิดนี้ไม่จําเป็นต้องใช้สารเคมีป้องกันและกําจัดศัตรูพืชในการดูแลรักษา ซึ่งนอกจากจะดีต่อสุขภาพของผู้ปลูกแล้ว ยังดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคอีกด้วย

ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อที่ ดร. วรรณา สนั่นพานิชกุล อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โทร. (086)  0846362