สภาเกษตรกรแห่งชาติรณรงค์ขยับใช้น้ำมันปาล์ม B100 ตามรอยเท้าพ่อ

นายสิทธิพร จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ปาล์มน้ำมันปัจจุบันยังไม่ดีขึ้น เกษตรกรขายปาล์มได้ในราคา 2.8-3 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าทุน ราคาน้ำมันปาล์มดิบไม่สามารถที่จะส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้เลย เพราะราคาน้ำมันปาล์มของประเทศผู้ผลิตสำคัญของโลกอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียก็ตกต่ำเช่นกัน การใช้ปาล์มในประเทศไทยต้องมีแผนการใช้ภายในประเทศทั้งการบริโภค การผลิตไบโอดีเซล และสต็อกน้ำมันปาล์ม แล้วนำมากำหนดเสถียรภาพราคาภายในประเทศให้เกษตรกรขายปาล์มคุณภาพในราคากิโลกรัมละ 4 บาท ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ก็ขยับราคา 18-20 บาท ปาล์มจะอยู่ได้ตลอดทุกวงจร เกษตรกร โรงงานสกัดน้ำมันดิบ โรงงานแปรรูปอยู่ได้หมด การขยับจาก B7 เป็น B10 B20 B100 เพื่อให้เป็นทางเลือกผู้ใช้น้ำมัน ปาล์มที่ผลิตภายในประเทศจะไม่เพียงพออย่างแน่นอนขอยืนยัน แต่ต้องแยกประเภทการใช้ B10 เหมาะกับการใช้ในรถรุ่นใหม่ รถเล็ก รถที่ใช้หัวฉีดคอมมอนเรล B20 รถคันใหญ่ B100 เครื่องจักรกลหนัก ใหญ่ เช่น เรือข้ามฟาก เรือเดินทะเล รถ แบคโฮ รถแทรกเตอร์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สภาเกษตรกรแห่งชาติโดย นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เคลื่อนไหวการรณรงค์ใช้น้ำมัน B100 อยู่ ด้วยการจัดโครงการ “รณรงค์การใช้น้ำมันไบโอดีเซลคาราวาน B100 ตามรอยเท้าพ่อ” โดยจัดขบวนรถคาราวาน B100 วิ่งจากจังหวัดกระบี่ ปล่อยขบวนรถวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ณ หน้าสถาบันพลศึกษา วิทยาเขตกระบี่ เข้าสู่กรุงเทพฯ ณ ท้องสนามหลวง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 และการสัมมนา “แนวทางการขับเคลื่อนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B100 ตามรอยเท้าพ่อ เพื่อแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันของเกษตรกร” ณ โรงแรมเอส ดี อเวนิว ถนนบรมราชชนนี เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการปรับโครงสร้างการผลิตและปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พืชพลังงานเป็นพลังงานทางเลือก รวมทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้ปาล์มน้ำมันมาผลิตเป็นไบโอดีเซล B100

“คณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงานได้น้อมนำพระราชดำริเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อช่วยบรรเทาภาระของประเทศในยามวิกฤติในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เพื่อแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันของเกษตรกร และเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาการแปรรูป ผลผลิตปาล์มน้ำมันเป็นพลังงานทางเลือกไบโอดีเซล B100 ตามพระราชประสงค์ เพื่อพัฒนาปาล์มน้ำมันของประเทศไทยให้มีทางเลือกในการใช้ และมีปริมาณการผลิตที่สมดุลเพียงพอกับความต้องการของประเทศ ทั้งด้านอาหารและพลังงานอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสิทธิพร กล่าวปิดท้าย