ศธ. ชูบิ๊กดาต้า ช่วยพัฒนาระบบการเรียนการสอน ลดความเหลื่อมล้ำจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยั่งยืน

ศธ. เผยความคืบหน้า ขับเคลื่อนบิ๊กดาต้าอาชีวศึกษา พร้อมเปิดให้ใช้บริการแล้ว โดยมีบริษัทกว่า 1.2 แสนบริษัท ลงทะเบียนต้องการกำลังคนกว่า 3 แสนอัตรา คาดในอนาคตสามารถวางแผนการสร้างแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาด ที่ทันยุคสมัยตอบโจทย์การพัฒนาประเทศไทย 4.0

พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพในภาคต่างๆ ให้สอดคล้องรองรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาสู่การริเริ่มจัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และได้มีการขยายผลการจัดตั้งไปยังพื้นที่ภาคต่างๆ จนครบทั้ง 6 ภาค ได้แก่ ภาคใต้และภาคใต้ชายแดน ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมเป็น 1 ศูนย์ส่วนกลาง 6 ศูนย์ภูมิภาค 18 ศูนย์กลุ่มจังหวัด ตามทิศทางการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคของรัฐบาล โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการที่ทันสมัย ใช้ระบบ Big Data ซึ่งออกแบบระบบโดยวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งจะมีประโยชน์ทำให้เกิดข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและทันสมัย ทำให้ทราบข้อมูลได้รวดเร็ว ถูกต้อง สามารถจัดหากำลังคนได้ตรงกับความต้องการได้ทันท่วงที และสามารถวางแผนการผลิตกำลังคนได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ในห้วงปีที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จัดทำฐานข้อมูลกลางสำรวจความต้องการกำลังคนของสถานประกอบการในพื้นที่ และด้านการผลิตของสถาบันการอาชีวศึกษา จนเกิดเป็นระบบฐานข้อมูลกลางขนาดใหญ่ หรือ Big Data System ขณะนี้ได้มีการจัดเก็บข้อมูลของศูนย์ต่างๆ ทั่วประเทศ และเกิดการปรับหลักสูตรใหม่ที่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการในพื้นที่เกิดขึ้นหลายแห่ง อาทิ ในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าได้มีการนำฐานข้อมูลมาผลิตกำลังคนด้านอาชีวศึกษาด้วยการพัฒนาหลักสูตรใหม่เกิดขึ้น เช่น หลักสูตรซ่อมหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ที่วิทยาลัยกาญจนาภิเษกปัตตานี เป็นต้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศ และถือเป็นความสำเร็จในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

พล.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประโยชน์ของการดำเนินงานศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาภาคใต้ชายแดน ประกอบด้วย ด้านนักเรียน นักศึกษา ส่งผลให้ได้เข้าฝึกงานในสถานประกอบการ ได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้เป็นข้อมูลช่วยในการติดสินใจในการศึกษาต่อทางด้านอาชีวศึกษา และสามารถหางานทำหลังจากจบการศึกษา หรือสามารถวางแผนสถานที่ทำงานได้ ด้านบุคลากรและครู นอกจากได้เข้าฝึกงานในสถานประกอบการ ยังได้พัฒนาสมรรถนะในการสอนเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้มีการจัดการเรียนการสอนได้ตรงต่อสมรรถนะความต้องการของสถานประกอบการ ด้านสถานศึกษา ทำให้ได้ทราบทิศทางการพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน ได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากสถานประกอบการ ได้รับวัสดุครุภัณฑ์จากสถานประกอบการเพิ่มปริมาณผู้เรียน สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่ออาชีวศึกษาและได้พัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการในพื้นที่ ทำให้มีสาขาใหม่ๆ ในการเปิดการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานในตลาดปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที สุดท้าย ด้านสถานประกอบการ ก็จะได้รับประโยชน์บุคลากรทำงานตรงตามความต้องการ วางแผนขยายการผลิต ผลผลิตได้ด้วยข้อมูลด้านบุคลากร มีการพัฒนาสมรรถนะบุคลากร ลดรายจ่ายในเรื่องประกาศรับสมัครงาน ลดระยะเวลาในการจัดทำแรงงาน และสามารถวางแผนธุรกิจในการขยายกิจการได้โดยดูอัตรากำลังคนในระบบ Big data

Advertisement

ซึ่งนับว่า big data จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ชายแดน และการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” รวมทั้งการพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของพื้นที่ภาคใต้ที่มีการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ความคืบหน้าระบบ Big Data ได้มีการเปิดตัวระบบฐานข้อมูลอาชีวศึกษาอย่างเป็นทางการไปแล้ว ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาปทุมธานี ภายใต้ชื่องาน “มหกรรมมิติใหม่อาชีวศึกษา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน อาชีวะ ฝีมือชน คนสร้างชาติ” และเปิดระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลกำลังคนอาชีวศึกษา (Big Data System) ของศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาอย่างเป็นทางการ ล่าสุดข้อมูล ณ เดือน ก.พ. มีภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจและบริการ สถานประกอบการชั้นนำลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลดังกล่าว 129,341 บริษัท คิดเป็น 100% ของสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยในระยะเวลา 1-3 ปี มีตัวเลขความต้องการกำลังคน อยู่ที่กว่า 300,000 อัตรา