กรมส่งเสริมสหกรณ์จับมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสานต่ออาชีพพระราชทาน สนับสนุนทุนศึกษาต่อปริญญาตรีสาขาสัตวแพทย์เพื่อพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคนม

กรมส่งเสริมสหกรณ์สานต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมซึ่งเป็นอาชีพพระราชทาน ทำข้อตกลงความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างโอกาสทางการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาสัตวแพทย์ ให้บุตร-หลานสมาชิกสหกรณ์โคนมและสหกรณ์การเกษตรที่สมาชิกเลี้ยงโคนมทั่วประเทศ ปีละ 3 ทุน หวังนำความรู้กลับไปพัฒนาอาชีพโคนมซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ให้คงอยู่กับประเทศไทยต่อไป

นายประยูร อินสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และ นายวิโรจน์ ภู่ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีของบุตร-หลานสมาชิกสหกรณ์โคนมและสหกรณ์การเกษตรที่สมาชิกเลี้ยงโคนม ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.น.สพ.ดร.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ร่วมในการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งโครงการร่วมมือด้านการศึกษาของบุตร-หลานสมาชิกสหกรณ์โคนมและสหกรณ์การเกษตรที่สมาชิกเลี้ยงโคนมในครั้งนี้ เป็นการสานต่ออาชีพการเลี้ยงโคนมซึ่งเป็นอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยได้จัดสรรทุนการศึกษาจากดอกผลของเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ให้แก่บุตร-หลานสมาชิกสหกรณ์โคนมและสหกรณ์การเกษตรที่สมาชิกเลี้ยงโคนม เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะสัตวแพทยศาสตร์ หลักสูตร 6 ปี ซึ่งกรมได้จัดสรรทุนการศึกษาให้ตลอดหลักสูตร 252,000 บาทต่อทุน จำนวน 3 ทุนต่อปีการศึกษา ระยะเวลาโครงการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ ปีการศึกษา 2562 นี้เป็นต้นไป

สำหรับคุณสมบัติของผู้ขอรับทุนจะต้องเป็นบุตร-หลานของสมาชิกสหกรณ์โคนมหรือบุตร-หลานสมาชิกสหกรณ์การเกษตรที่สมาชิกเลี้ยงโคนม ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิชาวิทยาศาสตร์ และมีผลการเรียนเฉลี่ย 3.5 ขึ้นไป เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม ถึง 10 มิถุนายน 2562 ทางเว็บไซต์ http://www.admissions.chula.ac.th และสามารถแจ้งความจำนงและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สหกรณ์ที่ตนเองสังกัด ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 1-20 และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ และเมื่อผู้รับทุนจบการศึกษาแล้วจะต้องปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ที่สมาชิกสังกัดอยู่ไม่น้อยกว่า 5 ปี และสหกรณ์นั้นๆ จะต้องพร้อมเป็นเครือข่ายฟาร์มโคนมและให้ความร่วมมือในการฝึกงานและร่วมโครงการสหกิจศึกษากับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้คนรุ่นใหม่ได้มีความรู้ในอาชีพการเลี้ยงโคนมด้วย

การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของบุตร-หลานสมาชิสหกรณ์โคนม ระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการสร้างโอกาสให้กับทายาทสมาชิกสหกรณ์โคนมและสหกรณ์การเกษตรที่สมาชิกเลี้ยงโคนมได้เข้ารับการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการเลี้ยงโคนม เพื่อที่จะนำความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ มาพัฒนาฟาร์มโคนมของครอบครัวและถ่ายทอดสู่สมาชิกสหกรณ์รายอื่นๆ ให้เป็นฟาร์มที่ได้มาตรฐานและสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค รวมถึงมีส่วนช่วยพัฒนาธุรกิจสหกรณ์โคนมและสร้างความมั่นคงในอาชีพการเลี้ยงโคนมให้อยู่คู่กับคนไทยต่อไป