ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพประจำอำเภอห่างไกล อีกกลไกขับเคลื่อนการพัฒนายกระดับการศึกษาไทยเขตพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้

ศธ. เร่งขยายผลการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านศูนย์ฝึกอบรมอาชีพประจำอำเภอห่างไกล เพื่อให้บริการประชาชนเข้าถึงการบริการด้านการศึกษาวิชาชีพได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่นโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการยกระดับการศึกษาของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยกิจกรรมจัดการเรียนการสอนศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพประจำอำเภอห่างไกล นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่เกิดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อจัดการอาชีวศึกษาเพื่อสร้างเสริมความมั่นคงของรัฐ โดยพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษาให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ที่มีความหลากหลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ในการพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างโอกาสการมีงานทำและยกระดับคุณภาพชีวิต จากการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้วิชาชีพ และขยายพื้นที่บริการด้านวิชาชีพในเขตพื้นที่ห่างไกล ปัจจุบัน มีทั้งหมด 23 แห่ง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อำเภอห่างไกลและการคมนาคมไม่สะดวก

ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสในการได้รับการศึกษาสายวิชาชีพให้กับนักเรียน นักศึกษา เยาวชน ประชาชนประจำอำเภอห่างไกลและอำเภอหน้าด่านชายแดน  ให้ได้รับการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนฐานรากในพื้นที่อย่างแท้จริง

พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสงขลาใน 4 อำเภอ (ประกอบด้วยอำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย)  ประชาชนจำนวนมากยังมีความยากจน ไม่มีอาชีพ ไม่มีงานทำ ไม่สามารถเข้าถึงการบริการด้านการศึกษาอาชีพได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการทางวิชาชีพมีเพียง 18 แห่ง เท่านั้น ซึ่งยังไม่ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการแก่ประชาชน โดยเฉพาะอำเภอรอบนอกที่ห่างไกล รวมถึงพื้นที่หน้าด่านชายแดน ประกอบกับการคมนาคมไม่สะดวก แต่มีประชาชนจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านวิชาชีพได้

ดังนั้น การขยายพื้นที่บริการวิชาชีพให้กับประชาชนในเขตอำเภอรอบนอกที่ห่างไกลให้มีโอกาสได้เข้าถึงการบริการด้านการศึกษาสายวิชาชีพ ผ่านการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมอาชีพประจำอำเภอที่ห่างไกล โดยเน้นให้สถานศึกษาอาชีวะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ก็เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสในการเรียนสายอาชีพให้มากขึ้น ส่วนในหลักสูตรการเรียนการสอนนั้นได้เปิดสอนตั้งแต่ระดับ ปวช. ปวส. และหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเลือกเรียนได้ตามความเหมาะสม

Advertisement