ส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง จัดติวเข้มบุคลากรสู่นักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ

เมื่อเร็วๆ นี้ นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ภาคตะวันออก ปี 2562 ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เพื่อการพัฒนาบุคลากรเพื่อประสิทธิภาพการทำงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ตามนโยบายของ

ทั้งนี้ นายชาตรี กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีนโยบายในการพัฒนาบุคลากรเพื่อประสิทธิภาพการทำงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ โดยเริ่มพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน ให้เป็น Smart Extension Officer เพื่อให้นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรมีความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สภาพแวดล้อม เพื่อพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกร เกิดผลงานเป็นรูปธรรม

“โดยเริ่มจากการปรับระบบความคิดและทัศนคติในการทำงานส่งเสริมการเกษตร ภายใต้การผสมผสานระหว่างการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความสนใจ ใฝ่รู้ มีพลัง คิดออกแบบ และแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งสามารถจัดการเรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบและวิธีการเรียนรู้ ได้แก่ ชุดสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ การเรียนรู้งานส่งเสริมการเกษตรจากพี่เลี้ยงและปราชญ์ชาวบ้าน และเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง”

นายชาตรี กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการรับรองคุณค่าของความรู้และทักษะที่สะท้อนถึงการเป็น “นักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ” ในการนำความรู้ ความสามารถ และทักษะที่มีไปใช้พัฒนางานส่งเสริมการเกษตรที่ตนเองรับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตร การอบรมจะเน้นการใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริง (Learning by Doing) โดยมีเนื้อหาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการ และสามารถออกแบบการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ส่งต่อประสบการณ์แบบ “พี่สอนน้อง” (Coaching) เพื่อทำให้เกิดทีมงานที่เข้มแข็งส่งต่อองค์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์ไปสู่บุคลากรรุ่นใหม่ให้เร็วที่สุด ส่งผลให้นักส่งเสริมการเกษตรเป็นที่ยอมรับ และสามารถปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตรให้บังเกิดผล และนำไปสู่การเป็น DOAE Officer ได้ ภายใต้การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และนำความรู้ทักษะที่ได้รับไปพัฒนาให้แก่เกษตรกร สู่การเป็น Smart Farmer ต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรม

“การพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมีความสำคัญเป็นอย่างมากจะต้องเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานตามนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญจะมีการปรับแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ พร้อมสร้างพื้นฐานทางความคิดเพื่อให้สามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองและออกแบบวิธีการในการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่ได้ด้วยตนเอง ตลอดถึงการถ่อมตนที่จะเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ ที่สำคัญในแต่ละปีจะมีบุคลากรมาปฏิบัติงานใหม่ไม่น้อยกว่า 50 คน ในพื้นที่ 9 จังหวัด ของภาคตะวันออก การส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการ ดังนั้น การอบรมจึงเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมควบคู่กับการเรียนรู้เทคโนโลยีในการปลูกพืช เช่น การให้น้ำ การให้ปุ๋ยเพื่อบำรุงต้นพืชตามค่าการวิเคราะห์ดินไปจนถึงการใช้สมาร์ทโฟน เป็นต้น และเมื่อมีองค์ความรู้เหล่านี้แล้วก็จะได้นำไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรในพื้นที่อย่างถูกต้องต่อไป ซึ่งเรื่องของเทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างมากในการทำการผลิตภาคการเกษตร ในปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญและเป็นนโยบายของเฉพาะรัฐบาลในเรื่องของเกษตร 4.0 ด้วย” นายชาตรี กล่าว

ทางด้าน นางสาวนภาวรรณ โตสติ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ จากสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด หนึ่งในผู้เข้ารับการอบรมครั้งนี้เปิดเผยว่า นอกเหนือจากที่ได้รับองค์ความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อการปฏิบัติหน้าที่แล้วก็ยังเกิดเครือข่ายของเจ้าหน้าที่ด้วยกันในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ที่สำคัญเครือข่ายนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทุกจังหวัดสามารถเชื่อมโยงและถ่ายทอดวิธีการในการดำเนินงานตลอดถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาซึ่งกันและกันได้อย่างต่อเนื่องตลอดไปอีกด้วย

“โครงการนี้ถือว่าเป็นการเติมไฟให้กับตัวเองมากทีเดียว เพราะเวลาที่ทำงานในพื้นที่มาระยะหนึ่ง บางรายอาจจะรู้สึกว่าเป็นการทำงานที่วนเวียนแบบเดิมๆ แต่เมื่อได้มาอบรมแล้วก็พบว่ายังมีอีกมากและหลายจุดที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ นับเป็นการเพิ่มเติมทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์ ตลอดถึงเครือข่ายที่จะช่วยให้ทุกคนได้เข้าใจในหน้าที่และแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตรแบบไปพร้อมๆ กันในทุกพื้นที่” นางสาวนภาวรรณ โตสติ กล่าว

อนึ่ง สำหรับโครงการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ภาคตะวันออก ปี 2562 จะจัดทั้งหมด 3 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรก มีกลุ่มเป้าหมาย 50 คน ประกอบไปด้วย เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่บรรจุใหม่ (อายุราชการไม่เกิน 5 ปี) จากสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ศูนย์ปฏิบัติการ ที่มีความสนใจจะพัฒนาตัวเองโดยสมัครใจเข้าร่วมโครงการ และได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ผู้มีความสนใจจะพัฒนาตนเองโดยสมัครใจเข้าร่วมโครงการ และได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา เจ้าหน้าที่ผู้จัด วิทยากร และทีมผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการพัฒนาผู้สอนงานนักส่งเสริมการเกษตร (Coaching ปี 2560) กิจกรรมในโครงการเป็นการสัมมนาให้ความรู้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ร่วมกับ Coach อีกด้วย