วว. ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา เปิดสถานีวิจัยลำตะคอง บริการจุดพักรถ 24 ชั่วโมง ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2562

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา เปิดสถานีวิจัยลำตะคอง บริการจุดพักรถ 24 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 10-16 เมษายน 2562 เชิญชวนช็อปผลิตภัณฑ์งานวิจัย วว. บริการสุขาเพื่อประชาชน จำหน่ายอาหาร/สินค้าโอท็อป 30 ร้าน พร้อมจุดเช็คอินถ่ายภาพทุ่งปอเทือง…ร่วมรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 วว. ได้ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา จัดกิจกรรม “Flora Tale @ วว. ลำตะคอง” ระหว่างวันที่ 10-16  เมษายน 2562 ณ สถานีวิจัยลำตะคอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้บริการประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเปิดบริการเป็นจุดแวะพักรถตลอด 24 ชั่วโมง จุดร่วมบริการตรวจเช็ครถยนต์เบื้องต้น พร้อมจำหน่ายผลิตภัณฑ์งานวิจัย วว. ภายใต้แบรนด์ Flora Tale อาทิ ผลิตภัณฑ์ครีมปกป้องแสงแดดและบำรุงผิวหน้าผสมสารสกัดใบบัวบก ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากเห็ด ผลิตภัณฑ์เจลสูตรลูกประคบ เครื่องดื่มน้ำมะนาวพร้อมดื่ม เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ กิจกรรม Fit and go บริการนวด โดยใช้ยาลูกประคบ บริการตรวจวัดสายตา พร้อมให้คำปรึกษาเรื่องการออกกำลังกาย บริการสุขาเพื่อประชาชน บริการจำหน่ายร้านอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าโอท็อป รวมกว่า 30 ร้านค้า รวมถึงจุดเช็คอินถ่ายภาพทุ่งปอเทืองสำหรับนักท่องเที่ยว

“…วว. ขอเชิญชวนผู้สัญจรทางรถยนต์ ที่ใช้เส้นทางถนนมิตรภาพที่มุ่งหน้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้บริการแวะพักได้ที่ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. ตั้งอยู่ซ้ายมือ กิโลเมตรที่ 184-187 สังเกตป้ายกิจกรรม Flora Tale ที่ วว. ติดไว้ริมถนนทุกระยะก่อนถึงสถานีฯ 5 กิโลเมตร เรามีเจ้าหน้าที่พร้อมให้บริการประชาชนทุกท่านตลอด 24 ชั่วโมง หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมเพื่อสังคมที่ วว.ได้ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมาในครั้งนี้ เป็นการช่วยสนับสนุนภาครัฐ รณรงค์การขับขี่ปลอดภัย ลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ลงได้…” ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติม

อนึ่งสถานีวิจัยลำตะคอง เป็นสถานีวิจัยในส่วนภูมิภาคของ วว. ตั้งอยู่ในตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา นับเป็นแหล่งต้นน้ำงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี งานวิจัย เทคโนโลยีนวัตกรรมสู่เกษตรกรในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างเศรษฐกิจไทยมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อีกทั้งปัจจุบันยังเป็นที่ตั้งของอาคารเฉลิมพระเกียรติเรือนกระจกหลังที่ 1 และ หลังที่ 2 ที่รวบรวมพรรณไม้นานาชนิดและจำลองสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตพรรณไม้ ตลอดจนเป็นที่ตั้งของศูนย์อนุรักษ์แมลงเขตร้อน จึงถือเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตรและพฤกษศาสตร์แห่งใหม่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย