เริ่มแล้วฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดหลังนา ย้ำเกษตรกรห้ามเผาตอซัง

นายสำราญ  สาราบรรณ์  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ได้แนะนำให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการปลูกเป็นต้นมา  ขณะนี้ได้เริ่มเข้าสู่ช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิต พบว่า เกษตรกรในหลายพื้นที่จะเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน เป็นต้นไป โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงกลางเดือนเมษายนและไปสิ้นสุดประมาณปลายเดือนพฤษภาคม

สำหรับการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น จะใช้กลไกตามที่กำหนดไว้ คือ เกษตรกรสามารถนำผลผลิตไปขายได้ที่สหกรณ์การเกษตร หรือจุดรับซื้อของภาคเอกชนในพื้นที่ ทั้งนี้เกษตรกรสามารถเลือกสถานที่ขายได้หากได้ราคาเป็นที่น่าพอใจ สำหรับราคาจะขึ้นอยู่กับความชื้นเป็นสำคัญ โดยราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชนิดเมล็ดในพื้นที่ (ประมาณ ปลาย มี.ค. 62) ความชื้น 30% กิโลกรัมละ 6.44 บาท  และ ความชื้น 14.5% กิโลกรัมละ 8.52 บาท เนื่องจากได้กำไรมากกว่าการทำนาปรัง เช่น ใน จังหวัดกำแพงเพชร มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฯ จำนวน 10 ราย รวมกลุ่มกันขายผลผลิต 50 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 6.80 บาท ที่ความชื้น 28% มูลค่ารวม 340,000 บาท

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ แนะนำเกษตรกร ไม่เผาตอซังข้าวโพดหลังการเก็บเกี่ยวในพื้นที่เกษตร ให้ไถกลบเพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดินและปรับโครงสร้างของดินให้เหมาะกับการเพาะปลูกข้าวในฤดูถัดไปโดยเฉพาะ 37 จังหวัดที่เข้าร่วมโครงการ และให้เกษตรกรเฝ้าติดตามสภาพอากาศด้วย เนื่องจากหลายพื้นที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งเตือนเรื่องพายุฤดูร้อนอาจส่งผลให้ข้าวโพดมีความชื้นมากขึ้นและต้นข้าวโพดหักล้ม แต่หากเก็บเกี่ยวในวันที่แดดจัดจะเป็นการลดความชื้นไปในตัว ทำให้จำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น สำหรับการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ควรเก็บเกี่ยวเมื่อข้าวโพดแก่จัดอายุ 120 วันขึ้นไปแต่ไม่ควรเกิน 130 วัน เป็นระยะที่ข้าวโพดมีความสมบูรณ์และแข็งแรงสูงสุด หลังจากจากนั้นคุณภาพจะลดลง ปัจจุบันจะเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องจักร ต้น ใบ หรือตอซังจะถูกเครื่องจักร ตี ปั่นละเอียดลงสู่พื้นดินในแปลงนา เมื่อไถกลบอีกครั้งจะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์อย่างดีและเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ข้าวที่จะปลูกในฤดูถัดไป นอกจากนี้ยังช่วยในการปรับโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น