ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลบางสระเก้า จันทบุรี ต้นแบบแก้ปัญหาแมลงศัตรูมะพร้าวแบบผสมผสาน

3. การเพาะเลี้ยงแมลงหางหนีบ

ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.)  ตำบลบางสระเก้า หมู่ที่ 1 ตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์  จังหวัดจันทบุรี  มีสมาชิกเริ่มแรก 37 คน นับเป็นศูนย์ฯ ที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาแมลงที่เข้าทำลายต้นมะพร้าว  จนได้รับความเสียหาย ต้นโทรม ใบเหลือง  ใบแห้ง ให้ผลผลิตลดลง ได้ใช้วิธีการจัดการแบบผสมผสาน  

ผลจากการดำเนินงานของศูนย์ ทำให้ต้นมะพร้าวของเกษตรกรไม่พบการระบาดของหนอนหัวดำและแมลงดำหนามต้นมะพร้าวในปัจจุบัน ทั้งในพื้นที่และตำบลใกล้เคียง ยังผลให้สวนมะพะร้าวของเกษตรกรมีสภาพดีขึ้นใบเขียวต้นไม่โทรมและให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น

ในการดำเนินงานนั้นทางศูนย์ฯ  ได้ร่วมกับสมาชิกของชุมชนคอยดูแลสวนมะพร้าวของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง มีการระดมกำลังในชุมชนช่วยกันตัดแต่งทางมะพร้าวที่ถูกหนอนทำลายหรือมีแนวโน้มที่หนอนจะเข้ามาอยู่อาศัยและทำลายไปเผาทำลายเพื่อตัดวงจรหนอน มีการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรได้รู้จักกับศัตรูมะพร้าวและวิธีการป้องกันกำจัดที่ถูกต้อง พร้อมจัดกิจกรรมฐานเรียนรู้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชในรูปแบบต่างๆ อย่างเข้าใจโดยง่ายในชุมชน

โดยมีการรณรงค์การเลี้ยงและปล่อยแตนเบียนบราคอน ในแปลงปลูกมะพร้าวของเกษตรกร ควบคู่กับการจัดอบรมการเลี้ยงแตนเบียนให้กับสมาชิก และร่วมกันผลิตอุปกรณ์และเลี้ยงแตนเบียนบราคอนโดยชุมชนเอง โดยเฉพาะศูนย์ฯ ได้มีการผลิตแตนเบียนบราคอน 150,000 ตัว นำไปให้สมาชิกในตำบลบางสระเก้า และตำบลใกล้เคียงปล่อยในพื้นที่กว่า 300 ไร่ เพื่อควบคุมหนอนหัวดำ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2562 สามารถผลิตแตนเบียนได้ 48,900 ตัว พร้อมแจกจ่ายให้สมาชิกนำไปปล่อยเพื่อควบคุมหนอนหัวดำควบคู่กับการใช้สารเคมีควบคุมศัตรูมะพร้าว โดยให้สมาชิก ศจช. จัดทีมอาสาสมัครออกฉีดสารเคมีเข้าต้นและฉีดพ่นทางใบให้สวนมะพร้าวของเกษตรกร

นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมและติดตามผลการดำเนินงาน

 

นายสายเมฆ ใจชื่น  ประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.)   ตำบลบางสระเก้า  เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางกรมส่งเสริมการเกษตรจะมีกิจกรรมดีๆ มาถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการระบาดของโรคพืช ก็จะจัดการอบรมขึ้นมา โดยทางศูนย์จะนัดสมาชิกมารับการอบรม พร้อมร่วมกันผลิตแมลงกำจัดศัตรูพืช แล้วมอบให้แก่เกษตรกรนำไปปล่อยในแปลงปลูกพืชของตนเองต่อไป

สามารถผลิตแมลงหางหนีบได้มากถึง 80,000 ตัว

“บางครั้งเกษตรกรอาจจะไม่สามรถทำได้ด้วยตนเอง  อย่างเช่น การตัดแต่งทางมะพร้าวเพื่อป้องกันการระบาดของหนอนหัวดำ ที่อาจจะต้องปีนต้นมะพร้าว ซึ่งในพื้นที่เกษตรกรที่ปลูกมะพร้าวกว่า 100 ไร่ จะมีมะพร้าวอยู่ 2 ชนิด  คือมะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวแกง โดยเฉพาะมะพร้าวแกงต้นจะสูงจึงต้องปีนขึ้น หรือต้องฉีดยาเข้าลำต้น ทางศูนย์จึงจัดทีมอาสาสมัครขึ้นมาพร้อมฝึกอบรมในการปฏิบัติหน้าที่แล้วออกไปให้การช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ ปัจจุบัน มีอาสาสมัครจำนวน 40 คน ที่ทำหน้าที่ด้านนี้” นายสายเมฆ กล่าว

การเพาะเลี้ยงแมลงหางหนีบ

พร้อมกันนี้ทาง ศจช. ยังได้ปล่อยแตนเบียนไข่ไตรโคแกรมม่า  และแตนเบียนอะซิโคเดส  เพื่อทำลายไข่ของผีเสื้อ (หนอนหัวดำมะพร้าว) อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน  ส่วนเกษตรกรที่ทำนาในพื้นที่ใกล้เคียงทางศูนย์ได้รณรงค์ให้มีการเลี้ยงกบนาในนาข้าวเพื่อกินแมลง ควบคู่กับใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคพืชในนาข้าว พร้อมจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้กับเกษตรกรในการผลิตขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อนำไปใช้ในนาข้าว

โดยเฉพาะในตำบลบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เกษตรกรจะปลูกข้าวโดยการหว่านแห้ง ซึ่งสมาชิกจะใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดหว่านในนาข้าวควบคู่กับการฉีดพ่นในแปลงนา ในช่วงที่ต้นข้าวยังเล็กซึ่งมักจะเป็นช่วงที่แมลงมักเข้าทำลาย และสนับสนุนให้เลี้ยงแมลงหางหนีบเพื่อนำไปปล่อยในแปลงนาเป็นตัวห้ำทำลายแมลงศัตรูพืชอีกด้วย

การกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าวในสวนของสมาชิก

และในปี 2561 ที่ผ่านมา ได้เกิดการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall armyworm) ในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคตะวันออก ทาง  ศจช. ตำบลบางสระเก้า ได้ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี เพาะขยายพันธุ์แมลงหางหนีบเพื่อนำไปสนับสนุนพื้นที่ที่มีการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในพื้นที่ภาคตะวันออก เพราะแมลงหางหนีบเป็นศัตรูตัวร้ายที่คอยทำลายหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม 2562 สามารถผลิตแมลงหางหนีบได้มากถึง 80,000 ตัว และยังคงผลิตอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

ล่าสุด นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยผู้บริหารระดับผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการเขต  เกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้ลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมและติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน บางสระเก้า  พร้อมรับฟังผลการดำเนินงานของกลุ่ม การนี้รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้กล่าวชื่นชมเกษตรกรสมาชิกที่มีความเข้มแข็ง และร่วมแรงร่วมใจในการเพาะเลี้ยงแมลงกำจัดศัตรูพืช เพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรนำไปใช้ในพื้นที่การเกษตรของตน ทดแทนการใช้สารเคมี อีกด้วย