พระมหากรุณาธิคุณ เพื่อคนไทย “หน่วยทันตกรรมพระราชทาน”

หน่วยทันตกรรมพระราชทานที่รักษาฟันฟรีให้แก่ประชาชน เริ่มต้นขึ้นเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ภายหลังจากที่ศาสตราจารย์พันโท สี สิริสิงห ทันตแพทย์ประจำพระองค์ได้ทำการรักษาพระทนต์ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีรับสั่งถามทันตแพทย์ประจำพระองค์ว่า

“เวลาเรามีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็มีทันตแพทย์ดูแลรักษา แล้วราษฎรที่อยู่ห่างไกลจะมีทันตแพทย์ช่วยรักษาหรือไม่”

เมื่อพระองค์ทรงทราบว่าในบางพื้นที่ไม่มีทันตแพทย์คอยดูแลรักษาสุขภาพฟันให้ประชาชน ทำให้ประชาชนมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากค่อนข้างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงพระราชทานคำแนะนำว่า “การจะให้ราษฎรที่ยากจนที่มีปัญหาเรื่องฟัน หยุดการทำนา ทำไร่ เดินทางไปหาหมอนั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ในทางตรงข้ามหากเป็นการให้บริการเคลื่อนที่ไปสู่ประชาชน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้ทางหนึ่ง” ซึ่งพระราชดำรัสนี้ ได้กลายเป็นที่มาของการจัดตั้งหน่วยทันตกรรมพระราชทาน ที่ให้บริการทำฟันเคลื่อนที่แก่ประชานในพื้นที่ห่างไกล

ผศ.ทพ.ดร.สุชิต พูลทอง คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรถยนต์ทำฟันเคลื่อนที่จำนวน 1 คัน ให้คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเดินทางไปดูแลสุขภาพฟันให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดาน ในช่วงแรกของการลงพื้นที่ รถทันตกรรมเคลื่อนที่มีเก้าอี้นั่งสำหรับทำฟันเพียง 2 ที่นั่ง ขณะที่คนไข้มารอรับการรักษาเป็นจำนวนมาก

“การลงพื้นที่ทุกครั้งเราพยายามที่จะให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ทำให้ในบางเคสที่มาถอนฟัน ต้องใช้การนั่งพิงต้นไม้ หรือนอนบนโต๊ะแทน เพื่อให้คนไข้ไม่ต้องรอนาน ส่วนเคสที่ต้องใช้เครื่องมีจำนวนมาก อย่างการอุดฟัน ผ่าฟันคุด รักษารากฟัน ก็จะทำการรักษาบนรถ กลุ่มทันตแพทย์อาสา จึงเกิดความคิดว่า 2 เก้าอี้น่าจะไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน การติดตั้งเก้าอี้บนรถไม่เกิดประโยชน์สูงสุด จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต นำเก้าอี้แยกออกจากตัวรถ เพื่อให้มีจำนวนเก้าอี้มากขึ้น บริการประชาชนได้ทั่วถึงมากขึ้น”

จากที่มีเพียง 2 เก้าอี้ในวันนั้น ปัจจุบันหน่วยทันตกรรมพระราชทานได้รับการขนานนามว่า เป็นหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุด สามารถรักษาได้ครอบคลุมแทบจะทุกประเภท ตั้งแต่การถอนฟัน ผ่าตัดฟันคุด ขูดหินปูน อุดฟัน รักษารากฟัน ฯลฯ โดยที่งบประมาณในการดำเนินงานมาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ หน่วยทันตกรรมพระราชทานจะลงพื้นที่ปีละประมาณ 20 ครั้ง ตามอำเภอต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ทุรกันดานภาคอีสาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ขาดแคลนหมอฟันมากที่สุด โดยทันตแพทย์ 30 คน จะออกให้บริการปีละครั้ง ครั้งละ 4 วัน วันละ 1 อำเภอ

“ครั้งหนึ่งในการออกหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนตะโกปิดทอง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ขณะที่ทันตแพทย์กำลังรับประทานอาหาร พบเห็นเจ้าหน้าที่โรงครัวในโครงการของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มีความผิดปกติที่ใบหน้า เนื่องจากมีปัญหาฟันไม่สบกัน ทำให้ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ทันตแพทย์จึงได้กราบลทูลท่านขอทำการรักษาเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว กรมสมเด็จพระเทพพระราชทานอนุญาตพร้อมตรัสกับหัวหน้างานของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวว่าให้เค้าลาไปหาหมอทำฟัน อย่าหักเงินเค้า”

ในพื้นที่เดียวกันทันตแพทย์ยังได้เจอเด็กเป็นโรคฟันตกกระทั้งหมู่บ้าน ซึ่งสร้างความแปลกใจให้กับคณะเป็นอย่างมาก โชคดีที่การลงพื้นที่ในครั้งนั้นมีผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเดินทางไปด้วย จึงร่วมกันหาสาเหตุ พบว่าเกิดจากการดื่มน้ำจากแหล่งน้ำที่มีปริมาณฟลูออไรด์สูงเกินมาตรฐาน ซึ่งตามมาตรฐานน้ำสำหรับบริโภคควรปริมาณฟลูออไรด์ไม่เกิน 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร เนื่องจากพื้นที่บริเวณนั้น เคยเป็นเหมืองแร่เก่า แหล่งน้ำบริเวณนั้นจึงเต็มไปด้วยแร่ธาตุเข้มข้น เมื่อทราบถึงปัญหาดังกล่าวกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาจึงมีพระราชดำรัสสั่งสาธารณสุขจังหวัดให้ดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

เพื่อสานต่อพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพสกนิกรไทย คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมนำทีมทันตแพทย์จิตอาสา ร่วมให้บริการหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในงาน “เฮลท์แคร์ ครั้งที่ 11” ยิ่งใหญ่กว่าเดิมกับสถานที่ใหม่ บนเนื้อที่กว่า 5,000 ตร.ม. ภายในฮอลล์ 5 อิมแพค เมืองทองธานี มหกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่คนรักสุขภาพห้ามพลาด พบกัน 27-30 มิถุนายน 2562