รอบรู้สุขภาพ เข้าใจโรคเขตร้อนก่อนป่วย

อีกหนึ่งวาระแห่งชาติในยุคไทยแลนด์ 4.0 ก็คือ การมุ่งสู่การเป็นสังคมรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพแวดล้อม และโรคภัยไข้เจ็บที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรู้เท่าทัน ประชาชนทุกคนต้องรู้เรื่องโรค สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้อง ทันสมัยเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งโรคติดต่อและไม่ติดต่อ เพื่อป้องกันและดูแลตนเอง รู้จักปัจจัยเสี่ยง เพื่อให้คนเข้าใจการเกิดและแพร่กระจายของโรค ก่อนนำไปสู่การตรวจรักษา การรู้เท่าทันเป็นการป้องกันได้ดีกว่าการรักษา

ด้วยต้องการสร้างความตระหนักรู้ด้านสุขภาพให้กับประชาชน บริษัท มติชน จากัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดงาน “เฮลท์แคร์” มาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปี ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาด้านสาธารณสุข และความเป็นอยู่ของคนไทยมาอย่างยาวนาน ในเร็วๆ นี้ กำลังจะเกิดงานมหกรรมสุขภาพสุดยิ่งใหญ่แห่งปี เฮลท์แคร์ (Healthcare) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ภายใต้แนวคิด “เรียนรู้ สู้โรค 2019” ระหว่าง วันที่ 27 – 30 มิถุนายน 2562 ณ ฮอลล์ 5 อิมแพคเมืองทองธานี ที่รวบรวมบุคลากรทางการแพทย์ทั้งจากโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนกว่า 30 แห่ง พร้อมใจยกทัพมาตรวจสุขภาพฟรี และให้บริการทางการแพทย์อีกมากมาย

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งพันธมิตรที่เหนียวแน่นในงานเฮลธ์แคร์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่จะมาร่วมให้ความรู้เรื่องโรคเขตร้อนเพื่อความเข้าใจของประชาชนทั่วไป สร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักถึงการเกิดและการมีโรคเขตร้อน ทั้งโรคอุบัติซ้ำและโรคอุบัติใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกเพศทุกวัย เป็นโรคที่ใกล้ตัว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือป้องกัน รักษา เพื่อประกอบการใช้ชีวิตและเลือกหาหมอที่เหมาะกับอาการป่วยต่อไป


โรคเขตร้อน ไม่ได้เกิดแค่หน้าร้อน

รศ.ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อน ซีมีโอ อธิบายเบื้องต้นว่า พื้นที่ของเขตร้อน (Tropics) จะครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปแอฟริกา เอเชียตอนใต้ อเมริกากลาง ยุโรปตอนใต้ กินพื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของผืนแผ่นดินทั้งหมด ประมาณ 140 ประเทศทั่วโลก ประชากรที่อาศัยในบริเวณนี้คิดเป็น 46% หรือเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในพื้นที่นี้ด้วย โรคเขตร้อนจึงอยู่ใกล้ตัวเรามาก ซึ่งปัญหาโรคเขตร้อนส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข และสุขภาพโดยรวมของประชาชนในประเทศ และเป็นโรคที่คนไทยต้องระมัดระวังทุกฤดูกาล

ดังนั้น โรคเขตร้อนจึงหมายถึง โรคที่พบได้บ่อยในพื้นที่เขตร้อน เนื่องจากมีอากาศร้อนชื้น มีป่าทึบ ฝนตกชุก มีความร้อนตลอดทั้งปี เชื้อโรคจึงเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงพาหะนำโรคแมลงและสัตว์แปลกๆ ที่พื้นที่อื่นไม่มี เช่น ยุง ไร แมลงวัน เห็บ ซึ่งโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของภูมิภาคเอเชียและนานาชาติจะอยู่ในกลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น มาลาเรีย อุจจาระร่วง ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โรคฉี่หนู โรคพิษสุนัขบ้า โรคเท้าช้าง โรคพยาธิ วัณโรค และโรคติดเชื้อสำคัญ โรคที่มาจากน้ำและอาหาร เช่น อหิวาต์ พยาธิ ปรสิต

ด้วยไลฟ์สไตล์ของมนุษย์ในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว การเดินทางก็นำโรคจากที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่งได้ โรคเขตร้อนจึงไม่จำเพาะแต่ในเขตร้อนเท่านั้น และโรคกำลังอุบัติใหม่ทั้งหลายเป็นโรคที่ติดต่อโดยสัตว์มาสู่คน การเดินทางเป็นปัจจัยหนึ่งในการแพร่กระจายโรคอย่างรวดเร็วในมนุษย์ ดังที่เคยปรากฏแล้ว เช่น ไวรัสเมอร์ส (Mers) โรคซาร์ส (Sars) ไข้หวัดนก H1N1 อีโบล่า ฝีดาษลิง เป็นต้น เท่ากับว่าในยุคโลกาภิวัตน์นี้ไม่มีใครปลอดภัยจากโรค

“โรคกำพร้า” ไม่ถึงตาย ก็ผลร้ายสูง

นอกจากโรคที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีโรคเขตร้อนอีกหลายโรคที่คนไทยไม่รู้จัก หรือรู้ว่ามีแต่ถูกมองข้ามไปเรียกว่ากลุ่ม neglected คำจำกัดความในภาษาไทยจะนิยามโรคกลุ่มนี้ว่า โรคกำพร้า ซึ่ง “ศ. ศรีวิชา ครุฑสูตร” รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบาย โรคกำพร้าไว้ว่า เป็นหนึ่งกลุ่มของโรคเขตร้อน ซึ่งโดยปกติโรคกลุ่มนี้ไม่ทำให้คนตาย แต่ส่งผลกระทบสูงและมีผลในระยะยาว หรือเป็นต้นตอของอาการป่วยที่สาหัสในระยะยาวได้ เช่น โรคพยาธิ ที่กว่าคนไข้จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อตรวจเจอ หรือโรคได้แสดงอาการหนักแล้ว

“โรคพยาธิทุกชนิด เป็นโรคที่ถูกลืมแน่นอน จริงๆ แล้ว มีผู้ป่วยติดเชื้อในโลกนี้กว่าพันล้านคน แต่ไม่มีใครตายหรือมีจำนวนคนตายในสัดส่วนที่น้อยมากๆ ยกเว้นเด็กในแอฟริกา เรารู้จัก ปลาร้า แต่รู้จักพยาธิตัวจี๊ด พยาธิใบไม้ตับ ดีแค่ไหน? มันใกล้ตัวแต่ถูกทอดทิ้ง ถามว่าเป็นพยาธิมีโอกาสตายไหม คำตอบคือ ตายได้ แต่ใช้เวลา

“โรคกำพร้า หรืออีกอย่างคือ เหา เด็กมากมายเป็นเหาแต่ไม่ได้รับการสนใจหรือถูกมองว่าเหากลายเป็นเรื่องปกติของเด็กผู้หญิงในต่างจังหวัด ถูกทิ้งแน่นอน แต่ในสภาพจิตใจของเด็กคือ ปมอย่างหนึ่ง เมื่อหนึ่งคนเป็นเหา ต้องรักษาคนทั้งครอบครัว นอกจากนี้ ยังมีโรคจากแบคทีเรียอีกหลายชนิด เช่น ไข้ดิน ที่ส่วนใหญ่ระบาดในภาคอีสาน หรือในเขตชายแดนพม่า ไข้รากสาด กลุ่มที่ป่วยบ่อยคือ ทหารตำรวจที่ต้องออกลาดตระเวน ประชาชนก็ป่วยได้เช่นกัน โรคปวดหัวหอย หอยโข่งดิบๆ สุกๆ ตืดหมู ตืดวัวจากการกินอาหารไม่สุก”

ทั้งหมดนี้ แม้โรคกำพร้าส่วนใหญ่จะเกิดและระบาดในพื้นที่ห่างไกลเขตเมืองใหญ่ของไทย อาจทำให้ผู้ที่อาศัยในเขตเมืองมีความเข้าใจว่าไม่มีโอกาสติดเชื้อเหล่านี้ แต่อย่าลืมว่า ปัจจัยอันส่งผลของการเกิดโรคในปัจจุบัน คือไลฟ์สไตล์และการเดินทางที่คนเมืองชื่นชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปในสถานที่แปลกๆ ยากลำบากและท้าทายเกินไป

รักการท่องเที่ยว เสี่ยงโรคจากการเดินทาง

ศ.ศรีวิชา กล่าวว่า ในวันที่โลกแคบลง การเดินทางเป็นเรื่องสะดวกสบาย กระนั้นการไปยังสถานที่ซึ่งอาหาร อากาศ ไม่คุ้นเคย ต้องเตรียมพร้อมร่างกายให้แข็งแรงเพื่อให้การเดินทางท่องเที่ยวสนุกมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจัยของโรคอุบัติใหม่ และโรคกำพร้าบางโรคที่หายไปกลับมาอุบัติซ้ำได้ในปัจจุบันนั้น “การเดินทาง” เป็นหนึ่งสิ่งเร้าและพาหะสำคัญก็ว่าไม่ผิดนัก

ดังนั้น ไม่ว่านักเดินทางรุ่นใหม่หรือรุ่นเก๋าควรทำความรู้จักคลินิกท่องเที่ยว เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเดินทาง รู้จักวัคซีนที่จำเป็น การตรวจ-รักษาโรคหลังเดินทาง ซึ่งคลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มีแพทย์เฉพาะทางที่จะคอยให้คำปรึกษาและตรวจรักษาที่สมบูรณ์ครบวงจรที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

“สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ของนักเดินทางหรือนักท่องเที่ยวคือ ต้องรู้และจำให้ได้ว่าไปสถานที่ใดมา อาจจะไม่ต้องรู้ว่าโรคในแต่ละท้องถิ่นที่ไปมีอะไรบ้าง แต่หากมีอาการผิดปกติ ทุกครั้งที่ไปหาหมอจะต้องรู้ว่าไปไหนมา ขณะเดียวกัน แพทย์เองก็ต้องเรียนรู้ว่าโรคเขตร้อนมีอะไรบ้างและวิธีการวินิจฉัยและรักษาคืออะไรบ้าง ซึ่งคำถามสำคัญคือจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องมาพบแพทย์ คำตอบคือ เมื่อคุณมีอาการเบื้องต้น คือคุณต้องรู้สึกว่าไม่สบาย เบสิกคือ เป็นไข้” ศ. ศรีวิชา กล่าว

มารู้จักโรคเขตร้อนให้มากขึ้น พร้อมตรวจเช็คสุขภาพเพื่อร่างกายที่แข็งแรง หรือหากคุณเป็นหนึ่งคนที่รักการเดินทาง ก็ไม่ควรพลาดที่จะมาพบและรู้จักคลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง ในงานเฮลท์แคร์ 2019 นี้

เฮลท์แคร์ 2019
พร้อมกระตุ้นคนไทยใส่ใจสุขภาพ

เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในการส่งเสริมสนับสนุนสังคมรอบรู้ด้านสุขภาพ พร้อมกระตุ้นให้คนไทยหันมาใส่ใจป้องกัน ดูแล และรักษาสุขภาพกันมากขึ้น ในปีนี้ เฮลท์แคร์ 2019 พร้อมแล้วที่จะจัดขึ้นเป็น ครั้งที่ 11 ภายใต้แนวคิด “เรียนรู้ สู้โรค 2019” โดยมุ่งหวังให้ประชาชนได้หันมาใส่ใจสุขภาพและรู้เท่าทันโรคใน ปี  2019 ในมิติต่างๆ อย่างครบวงจร

กิจกรรมไฮไลท์
• บริการตรวจสุขภาพและบริการด้านทันตกรรมฟรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครอบคลุมการตรวจรักษาและรองรับผู้บริการมากกว่า 6,600 คน โดยแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ จาก 30 โรงพยาบาลชั้นนำของไทย

• ขยายพื้นที่ Health Complex มากกว่า 2,000 ตร.ม., Tropical Health Center โดยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีและคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล, Tropical Herbs Garden โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

• Health Talks พบกับประเด็นสุขภาพสุดฮ็อตแห่งปี โดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพระดับประเทศ

• นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม workshop และการออกบู๊ธจำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพ

• เปิดโซนจำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพ ภายใต้แนวคิด “สุขภาพดี อาหารเด็ด” เพื่อเอาใจคนรักสุขภาพทุกเพศทุกวัย

• พลาดไม่ได้กับกิจกรรม Charity Fun สนุกได้บุญ ลุ้นโชค ร่วมบริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศล
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในมหกรรมสุขภาพครั้งยิ่งใหญ่ ได้ที่งาน “Health Care เรียนรู้ สู้โรค 2019” ระหว่าง วันที่ 27-30 มิถุนายน 2562 ณ Hall 5 อิมแพคเมืองทองธานี