แปรรูปข้าวเหนียวเป็น ‘ข้าวเม่า’ ภูมิปัญญาบรรพบุรุษ สร้างรายได้ดี-ตลาดมีต่อเนื่องทั้งปี

ผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าวเหนียวสู่ข้าวเม่าของเกษตรกร ก่อเกิดความน่าสนใจทางด้านของผลกำไรที่เพิ่มพูน จากการให้สัมภาษณ์ของ คุณอุดม พรมลี และ คุณพิกุล โนน้อย อยู่บ้านเลขที่ 130/5 บ้านโนนม่วง ตำบลราษฎร์เจริญ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ทั้งสองให้ข้อมูลว่า ได้นำความรู้จากบรรพบุรุษมาประยุกต์ใช้ในการแปรรูปข้าวเหนียวเป็นข้าวเม่า ก่อเกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นการต่อยอดจนเกิดประโยชน์สูงสุดจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต

คุณอุดมและคุณพิกุล

เดิมอาชีพของ คุณพิกุล โนน้อย และ คุณอุดม พรมลี คือเป็นเกษตรกรปลูกข้าวโดยทั่วไป ในพื้นที่ทำกิน 30 ไร่

ภายหลังได้มีการแปรรูปเพื่อก่อเกิดรายได้อีกช่องทางหนึ่ง…เป็นการนำเอาข้าวเหนียวที่เก็บเกี่ยวได้มาแปรรูปเป็นข้าวเม่า ซึ่งทั้ง 2 ท่าน ได้แปรรูปผลผลิตและนำมาจัดจำหน่ายเป็นระยะเวลา กว่า 2 ปี โดยให้เหตุผลในการทำข้าวเม่าครั้งนี้ว่า

“รายได้ดี สามารถนำมาแปรรูปได้ ถ้าขายเป็นข้าวสารหรือข้าวเปลือกในตอนนี้ก็จะได้ในราคาที่ถูก ก็เลยแปรรูปมาเป็นข้าวเม่า โดยความรู้นำมาจากปู่ย่าตายายตั้งแต่สมัยใช้สากตำ เหยียบครกกระเดื่อง แต่เดี๋ยวนี้ใช้เป็นสายพานมอเตอร์ ทุกอย่างผ่านมอเตอร์หมด” คุณอุดม บอก

มีการนำข้าวเหนียว กข 6 มาใช้ในการทำข้าวเม่า ทั้งแบบแห้งและแบบเปียก ระยะข้าวที่นำมาทำ ประมาณ 80% ของอายุข้าว

ข้าวเม่าแห้ง

ขั้นตอนการทำข้าวเม่าแห้ง ก็จะนำข้าวเหนียวที่ได้ไปตาก 2 แดด จากนั้นนำไปอบ เก็บไว้เป็นสต๊อก เมื่อต้องแปรรูปก็นำเอาข้าวเปลือกไปแช่น้ำ ประมาณ 2 วัน และนำไปผึ่งแดดให้แห้งเป็นเวลา 7 วัน นำข้าวเปลือกที่ได้มาคั่วในกระทะ สังเกตจากการที่เมล็ดข้าวเริ่มแตก นำข้าวที่คั่วแล้วมาตำ จะได้เมล็ดข้าวที่มีลักษณะแบน ใช้เวลาในการตำจนกว่าเปลือกจะออกจากเมล็ด ต่อด้วยการนำไปสี สีให้กากและใยออก จากนั้นคลุกให้กลายเป็นข้าวเม่าสด โดยการนำไปผสมน้ำสะอาดอุณหภูมิห้อง จนได้ข้าวเม่าเปียกแล้วนำไปคลุกเคล้ากับมะพร้าวทึนทึก น้ำตาลทราย และเกลือตามสูตร ประมาณ 30 นาที เพื่อให้ได้ข้าวเม่าเปียกลักษณะที่นิ่มก่อเกิดรสชาติความกลมกล่อมแก่การรับประทาน

“ที่บ้านมีญาติ มีคนแก่ แม่ยาย ทำไว้ให้ ทำข้าวไว้ให้ ถึงเวลากลับไปถ้ามีงานก็ลงไปเอาของแล้วก็ขึ้นมาขาย ปัจจุบัน ผมมีลูก 2 คนแล้ว คนเล็ก 10 ขวบ คนโตเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ปี 2 แล้วครับ ในส่วนของตังค์เวลาช็อร์ตก็ช็อร์ต เวลาได้ก็ได้อยู่ ก็ถ้าออกงานอย่างนี้ก็โอเคอยู่ ก็มีตลาดอยู่เรื่อย ส่วนมากก็ไปกับหน่วยงานนี่แหละ ขายข้าวอย่างเดียวกำไรไม่ดี เพราะว่าอะไร เพราะว่ามันไม่ได้ทานได้เลยทันที แต่อันนี้ (ข้าวเม่า) คือพร้อมทานเป็นของขบเคี้ยวของไทย คือถ้าข้าวสารราคาไม่ดี แต่พอมาทำเป็นข้าวเม่ามูลค่าก็เพิ่มขึ้น” คุณอุดม บอก

พร้อมรับประทาน

คุณอุดมและคุณพิกุล กำหนดราคาการขาย ดังนี้

  1. ข้าวเม่าแห้ง กิโลกรัมละ 200 บาท
  2. ข้าวเม่าเปียก กล่องเล็ก ราคา 25 บาท (น้ำหนัก ประมาณ 2 ขีด)
  3. ข้าวเม่าเปียก กล่องกลาง ราคา 35 บาท
  4. ข้าวเม่าเปียก กล่องใหญ่ ราคา 50 บาท

นอกจากนี้ ยังมีข้าวสารจำหน่าย

  1. ข้าวเหนียวขาว กิโลกรัมละ 50 บาท
  2. ข้าวกล้องหอมมะลิ กิโลกรัมละ 70 บาท
  3. ข้าวไรซ์เบอร์รี่ กิโลกรัมละ 70 บาท
  4. ข้าวกล้อง 3 สี กิโลกรัมละ 70 บาท

จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ “ความเป็นไทย ความเป็นท้องถิ่นในตัวเอง ความเป็นกันเอง”

เจ้าของบอกว่า โดยทั่วไปจัดจำหน่ายอยู่ที่ ตลาด อ.ต.ก.จักตุจักร (1 เดือน จำหน่าย 5 วัน มีช่วงปลายเดือน) ชื่อร้าน : วิสาหกิจชุมชนบ้านโนนม่วง

นอกจากนี้ ยังจำหน่ายงานระดับประเทศและท้องถิ่นอีกหลายแห่ง หมุนเวียนกันไป

ตัวอย่างข้าวเปลือกนำมาทำข้าวเม่า

“ข้าวเม่า” เป็นขนมที่ทำกินตามช่วงฤดูกาล คำว่า “เม่า” นี้ พระยาอนุมานราชธน อธิบายว่า น่าจะเป็นคำเดียวกับ คำว่า “มาง” ในภาษาอาหม ที่แปลว่า การทุบ หรือตำ ทำให้เป็นแผ่นบาง ความเข้าใจของผู้คนโดยทั่วไป ข้าวเม่า น่าจะหมายถึง ข้าวที่ทุบให้มีลักษณะแบน

ข้าวเม่า คือข้าวที่ทำมาจากข้าวเปลือกของข้าวเหนียวที่ไม่แก่จัด โดยนำมาคั่วแล้วตำเพื่อให้เปลือกหลุดออกไป มีลักษณะแบน เนื้อนุ่ม สีออกเขียว โดยทั่วไปข้าวเม่ามักถูกนำมารับประทานเป็นของหวานหรือของรับประทานเล่น ข้าวเม่าสามารถปรุงได้หลากหลายแบบ อาทิเช่น การนำข้าวเม่าพรมน้ำเกลือคลุกเคล้าให้นุ่ม จากนั้นนำข้าวเม่ามาคลุกกับมะพร้าวขูดโรยด้วยน้ำตาลทราย เรียกว่า “ข้าวเม่าคลุก” เป็นต้น

ลักษณะเฉพาะข้าวเม่า มีความหอม สีเขียวธรรมชาติของเมล็ดข้าว คุณค่าทางอาหารกับข้าวกล้อง เป็นข้าวที่ยังไม่สีเอารำออกจึงมีคุณค่าทางด้านอาหารอย่างครบถ้วน

เป็นอาหารพื้นบ้าน ชนิดที่สามารถนำมาผสมนมสด รับประทานเช่นเดียวกับอาหารเช้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย และมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูง ข้าวเม่าอุดมไปด้วย เส้นใยอาหาร ไขมัน วิตามิน บี 1 วิตามิน บี 2 ไนอะซิน ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และโปรตีน ซึ่งสารอาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยในเรื่องของการบำรุงร่างกายให้แข็งแรง อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในเรื่องของการปรับระดับกลูโคสและสารอาหารภายในสมองอีกด้วย

เสน่ห์ของข้าวเม่า คือการเลือกพันธุ์ข้าวที่จะนำมาทำโดยลักษณะพันธุ์ต้องดี ตรงต่อความเหมาะสมในขั้นตอนการทำ ตลอดจนความพึงพอใจในกลุ่มของผู้บริโภค

โดยข้าวเม่าส่วนใหญ่ผลิตอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ร้อยเอ็ด นครพนม สกลนคร อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย และมหาสารคาม เป็นต้น

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมหรือซื้อผลิตภัณฑ์ สอบถามได้ที่ 130/5 บ้านโนนม่วง ตำบลราษฎร์เจริญ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม 44110 โทรศัพท์ 065-104-1851

คู่กับมะพร้าวทึนทึก
เป็นผลิตภัณฑ์น่าซื้อ

…………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2562