สวก. จัดประชุมวิชาการ เปิดเวทีวิชาการด้านการเกษตร พร้อมโชว์งานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตรกว่า 150 โครงการ

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จัดประชุมวิชาการ  สวก. 2562 เปิดเวทีวิชาการด้านการเกษตรครั้งยิ่งใหญ่ เชิญนักวิจัยและนักวิชาการด้านการเกษตรจากทั่วประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์  พร้อมโชว์งานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตรกว่า 150 โครงการ ที่พร้อมนำไปขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศให้เข้มแข็งและก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำการเกษตร

ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชัน  เซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน “ประชุมวิชาการ สวก. 2562” ภายใต้แนวคิด “Beyond Disruptive Technology” จุดเปลี่ยนอนาคตไทย ด้วยงานวิจัยเกษตร จัดโดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานวิจัยด้านการเกษตร เพื่อขับเคลื่อนการทำการเกษตรของประเทศสู่การทำการเกษตรที่ใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ภาคการเกษตรของไทย รวมทั้งยังเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และรับทราบทิศทางงานวิจัยด้านการเกษตรที่สอดรับต่อการเข้ามามีบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกในการทำการเกษตร รวมทั้งบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยที่จะต้องปรับตัวให้ทันต่อการบริหารงานยุคใหม่ซึ่งมีปัจจัยและความท้าทายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบันและอนาคต โดยมีนักวิจัย นักวิชาการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมเกษตร รวมกว่า 1,200 คน เข้าร่วมงาน

ในโอกาสนี้ ประธานในพิธี ได้มอบแนวทางการนำผลงานวิจัยไปขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมนี้ได้ให้เกียรติมอบรางวัล แก่ ผู้ประกอบการดีเด่น นักเรียนทุนดีเด่น และมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณให้แก่นักวิจัยของ สวก. ภายในงานยังมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การเสวนา เรื่อง “Disruptive Technology เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกการเกษตร”, การบรรยายพิเศษ เรื่อง “เกษตรไทยอยู่อย่างไรให้รอด ในยุค Disruptive Technology”, การเสวนา เรื่อง “ทิศทางงานวิจัย และนวัตกรรมภาคการเกษตรภายใต้การบริหารงานยุคใหม่”

ขณะเดียวกันยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยที่ผ่านการพิจาณาให้นำเสนอในภาคโปสเตอร์ (Poster Session) จำนวน 35 ผลงาน แบ่งเป็น 7 คลัสเตอร์ ได้แก่ ข้าว/สมุนไพรไทย อาหารเสริม และสปา/  ปาล์มน้ำมัน/พืชสวน พืชไร่ สัตว์เศรษฐกิจ/การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ/อาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าและความปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งประกอบด้วย 3 โซนหลัก ดังนี้ โซนที่ 1 นิทรรศการ 16 ปี กับการดำเนินงาน สวก. โดยมีการนำเสนอผลงานการดำเนินงานที่ผ่านมาของหน่วยงานองค์การมหาชนที่มีบทบาทสำคัญต่อแวดวงเกษตรกรรมไทย

โซนที่ 2 นิทรรศการ “Beyond Disruptive Technology “จัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านเกษตร ของ สวก. ที่สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่มีผลต่อการภาคการเกษตรใน 9 หัวข้อ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนของ Input Process และ Output อาทิ โครงการการพัฒนาระบบเรดาร์เพื่อการจัดทำแผนที่ใต้ดินสำหรับการเกษตร และโครงการเครื่องวิเคราะห์ปริมาณน้ำมันในทะลายปาล์มน้ำมันอย่างรวดเร็ว เพื่อการซื้อขายในเชิงพาณิชย์ด้วยเทคนิค Near Infrared (NIR) เป็นต้น และ

โซนที่ 3 Wings by ARDA งานบริการต่างๆ ของ สวก. เพื่อนักวิจัย อาทิ ให้คำแนะนำในการขอรับทุนวิจัยจาก สวก. ให้คำแนะนำเรื่องการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญา, ให้คำแนะนำในการรับทุนพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย และให้คำแนะนำในการใช้บริการฐานข้อมูลด้านการวิจัยการเกษตร

การจัดงานครั้งนี้นับเป็นการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง สวก. ในด้านการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนางานวิจัยการเกษตร ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยการเกษตร รวมทั้งจัดให้มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนาและเผยแพร่ข้อมูลและสารสนเทศด้านการเกษตร ตลอดจนร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษา หรือสถาบันอื่นของรัฐและเอกชนในการผลิตและพัฒนางานวิจัย และนักวิจัยการเกษตรทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางในการให้บริการข้อมูลและสารสนเทศด้านการเกษตร และส่งเสริมให้เกิดกิจการทางวิชาการ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรในรูปแบบต่างๆ

งาน “ประชุมวิชาการ สวก. 2562” ภายใต้แนวคิด “Beyond Disruptive Technology” จุดเปลี่ยนอนาคตไทย ด้วยงานวิจัยเกษตร จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 8-9 ตุลาคม 2562 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยกิจกรรมในวันพุธที่ 9 ตุลาคม 2562 มีตลอดจนการนำเสนอผลงานวิจัยภาคบรรยาย (Oral Presentation) จำนวน 24 ผลงาน ใน 3 หัวข้อหลัก คือ นวัตกรรม และ เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ สนับสนุนงานวิจัยจากฐานราก และเศรษฐกิจภาคการเกษตรเข้มแข็ง รวมทั้งการเสวนาและการบรรยาย เรื่อง การพัฒนาบุคลากรวิจัย และระบบศูนย์กลางข้อมูลงานวิจัยการเกษตรของประเทศ THILAND AGRICULTURAL RESEARCH REPOSITORY (TARR) ปิดท้ายด้วยพิธีมอบรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น โดยประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำเสนอผลงานวิจัย