สมาชิกสหกรณ์โครงการหลวงขุนสถานฯ ปรับพืชเชิงเดี่ยว ปลูกผักผลไม้เมืองหนาวรับนักท่องเที่ยว

สหกรณ์การเกษตรขยายผลโครงการหลวงขุนสถานบ้านแสนสุข จำกัด จังหวัดน่าน ส่งเสริมเกษตรกรปรับเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาปลูกผักผลไม้เมืองหนาวรับนักท่องเที่ยว

การทำเกษตรบนพื้นที่สูงในจังหวัดน่าน แต่เดิมเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แต่ระยะเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า การทำเกษตรเชิงเดี่ยวไม่ได้ช่วยให้รายได้ของเกษตรกรดีขึ้น ในวันนี้ เกษตรกรจึงเริ่มปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวหันมาพืชผสมผสานและหลากหลายมากขึ้น ทำให้มีรายได้เพิ่ม จากการขายพืชผักผลไม้เมืองหนาว ซึ่งนอกจากจะช่วยทำให้เกษตรกรมีโอกาสในการพัฒนาอาชีพและรายได้ที่มั่นคงแล้ว แปลงผักและผลไม้เมืองหนาวยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน โดยมีสหกรณ์ในพื้นที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลงในการดูแลเรื่องปัจจัยการผลิต การดูแลพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ และเชื่อมโยงกับมูลนิธิโครงการหลวง ในการรวบรวมผลผลิตและส่งจำหน่ายสู่ผู้บริโภค

นายเชี่ยวชาญ เลาย่า หัวหน้าศูนย์โครงการพัฒนาที่สูงแบบโครการหลวงขุนสถาน และในฐานะที่ปรึกษาของสหกรณ์การเกษตรขยายผลโครงการหลวงขุนสถานบ้านแสนสุข จำกัด อ.นาน้อย จ.น่าน เปิดเผยว่า สหกรณ์แห่งนี้มีสมาชิกเป็นชาวเขาเผ่าม้ง ประมาณ 74 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ปลูกกระหล่ำปลี ฟักทอง อโวคโด ข้าวไร่ พริกหวาน ทั้งสีแดง สีเหลือง และสีเขียว มะเขือเทศ และองุ่น ผลผลิตที่ได้เกษตรกรจะรวบรวมเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับสหกรณ์และบางส่วนขายให้กับพ่อค้าท้องถิ่น ซึ่งจากการใช้หลักการตลาดนำการผลิต ทำให้ผลผลิตของสมาชิกสหกรณ์แห่งนี้ไม่มีปัญหาเรื่องราคาผลผลิต เพราะเกษตรกรสามารถปลูกพืชผักทุกชนิดได้ตรงกับคุณภาพและปริมาณที่ตลาดมีความต้องการ ผลผลิตที่ขายดี คือ องุ่นและเมล่อน ซึ่งมีความหวานกำลังพอดี เฉลี่ย 13 บริกซ์ขึ้นไป

ก่อนเริ่มลงมือผลิต สหกรณ์จะร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่โครงการหลวง เพื่อรับทราบเป้าหมายผลิตสินค้าและการตลาดในแต่ละปี เป็นการวางแผนล่วงหน้าข้ามปี หรืออย่างเร็วสุดคือ 4 เดือน ซึ่งทางโครงการหลวงจะทำแผนการตลาดล่วงหน้าและจัดสรรโควต้าพืชรายตัวให้ทางสหกรณ์นำไปวางแผนการผลิตกับสมาชิกสหกรณ์ เช่น แต่ละปีจะรับซื้อพริกหวาน 2,000 กิโลกรัม เมล่อน 800 กิโลกรัม อโวคโด 300 กิโลกรัม โดยราคารับซื้อจะมีการกำหนดจากโครงการหลวงทุกสัปดาห์ และจะมีการปรับราคาให้สอดคล้องกับราคาตลาด จากนั้นทางสหกรณ์จะแจ้งราคารับซื้อผลผลิตให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกได้ทราบว่าราคาพืชผักผลไม้แต่ละชนิดจะรับซื้อในราคาเท่าไหร่ เช่น เมล่อนรับซื้อที่ราคา 50 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น โดยสายพันธุ์ที่นิยมคือพันธุ์กรีนเนท

ทั้งนี้ เกษตรกรสมาชิกสามารถปลูกพืชได้ตามความพร้อมของแต่ละคน แต่สหกรณ์จะมีโควต้ารับซื้อตามที่ได้รับจัดสรรมาจากโครงการหลวง ซึ่งในบางปีมีความต้องการมาก แต่ผลิตได้ไม่ทัน ซึ่งการทำข้อตกลงกันระหว่างเกษตรกรกับสหกรณ์ ทำให้การรับซื้อผลผลิตมีความแน่นอนทั้งในเรื่องปริมาณและราคา ฉะนั้นสมาชิกจะนำผลผลิตมาขายให้กับสหกรณ์ก่อน ที่เหลือจึงจะไปขายให้กับพ่อค้าคนกลางภายนอก โดยสหกรณ์จะกำหนดคุณภาพผลผลิตที่จะรับซื้อเป็นเกรด A เกรด B และคละเกรด

ปัจจุบันโรงเรือนตัดแต่งและบรรจุผลผลิตสหกรณ์ ได้รับงบอุดหนุนจากโครงการหลวง 2.3 ล้านบาท และเงินสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์อีกจำนวนกว่า 8 แสนบาท เพื่อจัดสร้างโรงเรือนสำหรับรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อคัดบรรจุผักและผลไม้ ก่อนจัดส่งให้กับทางโครงการหลวง

ด้านนายคมสันต์ ยั่งยืนสกุล ประธานสหกรณ์การเกษตรขยายผลโครงการหลวงขุนสถานฯ กล่าวว่า ตนเอง ปลูกองุ่น พื้นที่ประมาณ 518 ตารางวา หรือไร่เศษ กู้เงินจากสหกรณ์ 5 หมื่นบาท มาทำแปลงปลูกขนาดยาว 30 เมตร กว้าง 17 เมตร ซึ่งองุ่นที่ปลูกเป็นพันธุ์บิ้วตี้ ผลจะเป็นสีม่วงเข้ม และพันธุ์เฟรม ซึ่งเป็นองุ่นพันธุ์ไร้เมล็ดทั้งสองพันธุ์ การลงทุนปลูกองุ่นทั้งหมดใช้เงินไปประมาณ 120,000 บาท สามารถเก็บผลผลิตรอบแรกจำหน่ายได้ ประมาณ 1 ตันเศษ ได้เงินมา 1 แสนกว่าบาท และอีกรุ่นจะเก็บเกี่ยวประมาณปลายปี คาดว่าจะได้ผลผลิตอีกประมาณ 2 ตัน ซึ่งผลองุ่นที่สวยและได้คุณภาพ จะถูกรวบรวมส่งขายให้กับโครงการหลวงทั้งหมด และในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นฤดูหนาว จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาที่ขุนสถานจำนวนมาก นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เปิดแปลงองุ่นรองรับการมาเยือนของนักท่องเที่ยวให้เข้าไปเที่ยวชมและชิมผลองุ่นสด ๆ ในไร่ ซึ่งในปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้เกือบ 3 แสนบาท

นางนพลักษณ์ นันตะ อายุ 36 ปี สมาชิกสหกรณ์ เล่าว่าเธอปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่า 10 ไร่มาเป็นเวลานานกว่าสิบปีแล้ว แต่รายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ภายหลังจากสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์แห่งนี้ ได้ขอกู้เงินเพื่อทำโครงการปลูกเมล่อนและพืชผสมผสานหลากหลายชนิด ทั้งผัก เมล่อน และองุ่น ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยในปีที่ผ่านมา พื้นที่ปลูกเมล่อน 1 ไร่ สามารถเก็บขายได้ 2 รอบใน 1 ปี ในระยะเวลาในการปลูกแต่ละรอบประมาณ 3 เดือน เก็บผลผลิตส่งขายให้สหกรณ์ได้ประมาณรอบละ 5 หมื่นบาท และขณะนี้ยังได้แบ่งแปลงสำหรับปลูกองุ่นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวในฤดูหนาว และตั้งใจว่าจะไม่กลับไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีก เพราะรายได้น้อยและต้องใช้สารเคมี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ รวมถึงความปลอดภัยของตัวเองด้วย

การปรับเปลี่ยนของเกษตรกรที่สูงขุนสถานน่าจะเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรพื้นที่สูงอื่นๆ ในอนาคตที่ได้เห็นตัวอย่างของการทำเกษตรที่ปลูกพืชหลากหลาย ใช้หลักการตลาดนำการผลิต และเรียนรู้ว่าการทำน้อยได้มากเป็นอย่างไร และอนาคตก็หวังว่า หากเกษตรกรลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และลดการใช้สารเคมีลง จะส่งผลทำให้พื้นที่และสภาพดินบนพื้นที่สูงมีความปลอดภัยจากสารเคมีที่เป็นอันตราย สภาพแวดล้อมกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญให้กับประเทศไทยได้อีกครั้ง