อ้อยอีสาน ร้องรัฐหยุดมั่วข้อมูล ออกมาตรการที่ชัดเจน ชะลอมติแบน 3 สาร

ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สมาคมชาวไร่อ้อยลำมูลบน นครราชสีมา และเกษตรกรชาวไร่อ้อยพิจิตร รวมตัวให้ข้อมูลผลกระทบและประสบการณ์ตรงการใช้สารเคมีเกษตร หวังรัฐทบทวนและหามาตรการรองรับที่ชัดเจน พร้อมเดินหน้ายื่นหนังสือ ชะลอมติยกเลิกใช้พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส

นายเลียบ บุญเชื่อง ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เปิดเผยว่า การแบน 3 สารเคมี เกษตรส่งผลกระทบรุนแรงในอุตสาหกรรมอ้อยทั้งระบบ ต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งน้ำตาล เอทานอล และโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยเฉพาะ พาราควอต ช่วยให้เกษตรกรทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ลดต้นทุนการผลิต เพราะราคาพืชไร่หลายชนิดมีราคาตกต่ำ การลดต้นทุนจะช่วยให้เกษตรกรมีผลกำไรบ้าง หากต้องมาเพิ่มต้นทุน เท่ากับเป็นการเพิ่มภาระ ทำให้กำไรที่น้อยอยู่แล้วยิ่งลดลง อาจถึงขั้นขาดทุนได้ ส่วนการใช้แรงงานคนมาถอนหญ้า หรือดายหญ้านั้น ด้วยประสบการณ์ 1 คน ในเวลา 1 วัน สามารถดายหญ้าได้ไม่ถึงครึ่งงานเลย ยิ่งในช่วงหน้าฝน ฝนตกชุก หญ้าขึ้นหนาแน่น ยิ่งทำงานยาก

ดังนั้น การปลูกพืชเป็นหลายร้อยไร่ ระดับอุตสาหกรรม การใช้แรงงานคนจึงไม่มีทางเป็นไปได้ นอกจากนี้ นโยบายรวมแปลงที่รัฐเสนอเป็นสิ่งที่ยากสำหรับต่างจังหวัด หากเป็นแปลงเกษตรของนายทุนรายใหญ่ขนาด 1,000 ไร่ นั้นทำได้ เพราะเป็นการดำเนินงานระดับองค์กร แต่หากจะให้เอาแปลงเกษตรกร นาย ก นาย ข มารวมกัน คงเป็นเรื่องยาก ที่ดินของใครก็คงไม่มีใครยอม จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาและศึกษาให้ถ่องแท้ในการออกมาตรการ

นายสมบัติ ศรีจันทร์ เลขาธิการสมาคมชาวไร่อ้อยลำมูลบน จังหวัดนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า การตัดสินใจยกเลิกใช้สารทั้ง 3 ชนิด ภาครัฐมีควรมีมาตรการที่ชัดเจนและแผนการดำเนินงานรองรับที่เหมาะสมก่อน ปัจจุบัน ยังไม่รู้ว่าจะมีสารใดมาทดแทนให้เกษตรกร โดยเฉพาะ พาราควอต เป็นปัจจัยการผลิตที่ดีที่สุดในการกำจัดวัชพืช ที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และมั่นใจว่าไม่มีสารตกค้าง เพราะอ้อยของไทยยังสามารถส่งออกไปขายในต่างประเทศไทยมาโดยตลอด เพราะใช้มานานกว่า 30 ปีแล้ว การประโคมข่าวต่างๆ อาทิ แผ่นดินอาบสารพิษ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ส่วนนโยบายการส่งเสริมพื้นที่เกษตรอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีทั้งระบบ ไม่มีปุ๋ยเคมี ไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดโรค แมลง วัชพืช ต้นทุนการผลิตจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน รัฐบาลและผู้บริโภคพร้อมหรือยังที่จะปรับตัวในการซื้อสินค้าเกษตรในราคาที่แพงขึ้นอีกหลายเท่า

ปัจจุบัน ทุกคนยังบ่นเรื่องค่าครองชีพที่สูง ร้องขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่เลย ท้ายที่สุด หากไม่ให้ใช้ พาราควอต จะให้ใช้สารอะไรแทนในต้นทุนที่เท่ากัน มีคุณภาพที่ดี และต้องตรวจสอบชัดเจนได้ว่าไม่มีพิษ ไม่มีการตกค้างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนการใช้เครื่องจักร พื้นที่ของประเทศไทยมีความหลากหลาย บางพื้นที่ไม่สามารถใช้งานได้ เช่น พื้นที่เนิน พื้นที่บนเขา พื้นที่ราบลุ่ม น้ำขัง รวมทั้งพืชบางชนิดไม่สามารถใช้เครื่องจักรได้ เพราะจะทำลายพืชประธานหรือพืชที่ต้องการจะปลูก

“ผลผลิตอ้อยปกติ 1 ไร่ จะได้ 10-12 ตัน แต่หากดูแลไม่ดี ปล่อยให้วัชพืชขึ้น ผลผลิตจะเหลือ ไร่ละ 1-2 ตัน หายไปกว่า 80% ขาดทุน 100% เพราะค่าจ้างตัดอ้อยยังไม่คุ้มค่าเพาะปลูกเลย”

นายวิทยา มาลา เกษตรกรขาวไร่อ้อย จังหวัดพิจิตร กล่าวถึงผลกระทบจากปัญหาวัชพืชที่เคยได้รับว่า “เกษตรกรบางรายต้องเลิกทำไร่อ้อยไปเลย เพราะขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินหมุนเวียน ยิ่งหากไม่มี พาราควอต เกษตรกรไร่อ้อยลำบากแน่ การแนะนำสารเคมีเกษตรชนิดอื่นมาให้แต่ราคาแพงกว่าหลายเท่า ราคาแกลลอนละ 4,500 บาท

ขณะที่ พาราควอต ปัจจุบัน ราคา 550-600 บาท ส่งผลภาระด้านต้นทุนปลูกสูงขึ้น แต่ราคารับซื้ออ้อยไม่สามารถเพิ่มได้ ปัจจุบัน อ้อยราคารับซื้ออยู่ที่ ตันละ 780 บาท ชาวไร่อ้อยยังไม่รู้เลยจะทำอย่างไรต่อไปหากไม่มีพาราควอต แม้ว่ารัฐจะบอกว่าจะจ่ายค่าชดเชยส่วนต่างให้ แต่รัฐจะเอาเงินมาจากไหน ก็เอามาจากภาษีประชาชนเหมือนเดิม ส่วนการจะให้หันมาทำไร่อ้อยเกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศนั้น ไทยคงจะส่งออกต่างประเทศไม่ได้แล้ว เพราะต้นทุนจะสูงมาก แข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ ซึ่งต่างประเทศยังใช้สารเคมีเกษตรกันอยู่ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำและแข่งขันได้สูง อยากให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐลงพื้นที่มาสัมผัสชีวิตชาวไร่อ้อยจริงๆ ว่าเดือดร้อนขนาดไหน การที่รัฐจะแบนสารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิด อยากให้ภาครัฐกลับไปทบทวนอีกครั้ง

นอกจากนี้ ดร. กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การยกเลิกสารเคมีเกษตร 3 ชนิด สมาคมฯ ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร แต่รวมถึงโรงงานน้ำตาล ผู้ส่งออก ผู้ค้าน้ำตาล อุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์ อุตสาหกรรมแปรรูป และอุตสาหกรรมพลังงานด้วย ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 21 ของ GDP ภาคเกษตรและ ร้อยละ 48 ของ GDP อุตสาหกรรมอาหาร ส่งออกไปต่างประเทศเป็นลำดับ 3 รองจากยางพาราและข้าว มีเกษตรกรอยู่ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล จำนวน 470,000 ครัวเรือน หรือ ประมาณ 1.2 ล้านคน มีโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 57 โรงงาน

ดังนั้น จึงได้เสนอทางออกไปยังรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเป็นการเร่งด่วนใน 5 แนวทาง ได้แก่

1)  ชะลอผลของมติยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรทั้งสามชนิดออกไป 3-5 ปี

2) ศึกษาทบทวนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในสาขาที่เกี่ยวข้องและผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการยกเลิกอย่างรอบคอบ

3) ศึกษาและพิสูจน์สิ่งทดแทนทั้งในด้านประสิทธิภาพและต้นทุน พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ชัดเจนและอบรมเกษตรกรอย่างทั่วถึง

4) ขอให้รัฐบาลปรึกษากับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนให้ครบถ้วน

5) ขอให้รัฐบาลเผยแพร่ผลการศึกษาและปรึกษาให้ประชาชนรับทราบโดยละเอียด