ม.เกษตรฯ จับมือ นครสวรรค์สตีล พัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมมือกับ บริษัท นครสวรรค์สตีล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อพัฒนาเกษตรให้ก้าวไกล

วันที่ 12 ธันวาคม 2562 ที่อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร ร่วมกับ บริษัท นครสวรรค์สตีล โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร เป็นประธานในพิธี

ศาสตราจารย์ ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร กล่าวว่า ภาคเกษตรในปัจจุบันประสบปัญหาเรื่องของแรงงานและเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ทันสมัย ทำให้การทำงานของเกษตรในพื้นที่ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้น การมีข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกรที่แม่นยำจะช่วยเป็นข้อมูลให้คณะเกษตร และ บริษัท นครสวรรค์สตีล นำไปพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้นได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภกิตต์ สายสุนทร หัวหน้าภาควิชาเกษตรกลวิธาน คณะเกษตร กล่าวว่า  ภาควิชาเกษตร เป็นภาควิชาที่มีภาระหลักด้านการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจทางด้านงานเทคโนโลยีระบบเกษตร และเทคโนโลยีทางด้านเครื่องจักรกลเกษตรสมัยใหม่ ภาควิชาเกษตรกลวิธาน มีนโยบายในการขับเคลื่อนภารกิจหลักดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านงานวิจัย และการพัฒนานิสิตสำหรับภาระทางด้านงานวิจัย โดยที่ผ่านมาภาควิชาเกษตรกลวิธาน ได้พบผู้บริหารของ บริษัท นครสวรรค์สตีล จำกัด และทราบว่า บริษัทมีความพร้อมทุกด้านเกี่ยวกับเครื่องจักรกลเกษตรสมัยใหม่ ทั้งยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศออสเตรเลียเป็นที่ปรึกษา ดังนั้น การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร โดยเฉพาะเครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้กับพืชไร่ให้ดียิ่งขึ้น

ด้านคุณสมนึก ประธานทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครสวรรค์สตีล จำกัด กล่าวว่า บริษัท นครสวรรค์สตีล ทำธุรกิจเกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีการเกษตร โดยบริษัทได้วิจัยเกี่ยวกับพืชไร่ โดยเฉพาะ อ้อย ที่ผ่านมาได้ร่วมงานกับกลุ่มเกษตรไทยมานานกว่า 20 ปี ทั้งยังมีบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีบริษัทต่างประเทศที่สนใจและนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรสำหรับพืชไร่ของบริษัทไปใช้จำนวนหนึ่งแล้ว

“การลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับพืชไร่ได้มาก รวมทั้งยังเปิดกว้างให้นักศึกษาและผู้สนใจเข้าไปฝึกประสบการณ์ยังพื้นที่จริง เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรของพืชไร่อีกด้วย”