แห่ชมทัพคชสารสุรินทร์ ซ้อมการแสดง 6 องค์ รับวันช้างไทย

วันที่ 9 มีนาคม 2560 เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ลานแสดงช้าง ภายในศูนย์คชศึกษาสุรินทร์ บ.ตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เจ้าหน้าที่ของ อบจ.สุรินทร์ และควาญช้างที่ร่วมโครงการนำช้างคืนถิ่นเพื่อพัฒนาสุรินทร์บ้านเกิด ของ อบจ.สุรินทร์ ได้ร่วมกันซักซ้อมการแสดงช้าง ในฉากต่างๆรวม 6 องค์ หรือ 6 ฉากการแสดง เพื่อเตรียมแสดงใน”วันช้างไทย” 13 มีนาคม 2560 นี้

ประกอบด้วย องค์ที่ 1 การแสดงชื่อ”สุรินทร์ถิ่นอารยะธรรม” เล่าถึงช้าง ที่มีบทบาทต่อประวัติศาสตร์ชาติไทยมาช้านาน ทั้งในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญในการปกป้องและกอบกู้บ้านเมือง  ทั้งในบานะที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำประเทศไทย  และประดับช้างเผือกไว้ในธงชาติไทย  และเป็นสัตว์มงคลคู่พระบารมีพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2541 กำหนดให้วันที่ 13 มี.ค.ของทุกปี เป็นวันช้างไทย เพื่อยกย่องให้เกียรติช้างว่าเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและคุณูปการอย่างยิ่งยวดต่อชาติไทยอีกครั้ง นอกเหนือจากเกียรติภูมิที่เคยได้รับในอดีต โดยจะมีช้างแต่งสวยงาม 1 เชือก เกวียนผ้าไหมยาวที่สุดในโลกกลุ่มนักแสดง 3 ชาติพันธ์ เดินต่อแถวออกมาพร้อมกัน และการแสดงของกลุ่มชาติพันธ์ุ เขมร ลาว กวย

การแสดงองค์ที่ 2 ชื่อ “ภูมิใจล้ำตำราคชสาร” เล่าถึงชาวกูย ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมหนึ่งใน จ.สุรินทร์ มีความสามารถในการจับช้างป่ามาฝึกหัดให้เป็นช้างเลี้ยง  โดยผ่านพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ของ”มอเฒ่า” ซึ่งจะมีพิธีเซ่นศาลปะกำการแสดงคล้องช้าง พิธีปะชิช้างปัดรังควาน และการแสดงรำบายศรี

องค์ที่ 3 ชื่อ “เชียงปุมปราชญ์คชศาสตร์ของแผ่นดิน” เล่าถึงประวัติของเชียงปุม ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของชาวสุรินทร์ โดยปรากฏหลักฐานในพงศาวดารอีสาน ว่าราวปีพุทธศักราช 2302 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ แห่งกรุงศรีอยุธยา บันทึกไว้ว่า เชียงปุมซึ่งเป็นหัวหน้าหมู่บ้านโคกเมืองที ณ.ขณะนั้นได้นำตากะจะ ตาฆะ เชียงขัน และเชียงสี ช่วยจับช้างเผือกที่แตกโรงมาจากกรุงศรีอยุธยา โดยใช้พิธีกรรมตำราคชสาสตร์และนำส่งคืนถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสุริยามรินทร์ ทำให้ได้รับความดีความชอบ โปรดเกล้าบรรดาศักดิ์ให้เป็น หลวงสุรินทร์ภักดี และต่อมาในปีพุทธศักราช 2321ในสมัยกรุงธนบุรี ได้ส่งกำลังทหารร่วมรบกับเขมรและลาว จึงได้เลือนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาสุรินทร์ภักดี ศรีณรงค์จางวาง” หรือเจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก

องค์ที่ 4 ชื่อ “ปกป้องแผ่นดินด้วยยุทธหัตถี” เล่าถึง การต่อสู้เพื่อช่วงชิงชัยชนะและศักดิ์ศรีเพื่อปกป้องบ้านเมือง ขับไล่อริราชศัตรูที่เข้ามารุกรานบ้านเมือง ซึ่งช้างเป็นพาหนะสำคัญในการทำศึกสงคราม ของชาติไทย โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์จะใช้ช้างเป็นพาหนะคู่ใจในการนำทัพออกไปสู้รบและทำสงคราม ยุทธหัตถี เมื่อได้รับชัยชนะ ก็จะถือเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงเกรียงไกรไปทั่วหล้า  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปีพุทธศักราช 2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงช้างพระไชยานุภาพ เพื่อทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดีที่ได้ทรงช้างพลายพันธกอ  ทั้งสองกษัตริย์ได้ทำการสู้รบบนคอช้างอย่างองอาจ ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วีรกษัตริย์ไทยผู้ยิ่งใหญ่ ได้รับชัยชนะในการทำสงครามยุทธหัตถีในครั้งนั้น

องค์ที่ 5 ชื่อ “คชสาร ยาตรา อาลัยพ่อหลวง” ซึ่งเป็นการแสดงเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีและแสดงความอาลัยต่อการสวรรคตของพ่อหลวง ร. ๙   ซึ่งจะมีช้าง 9 เชือกจะประดับด้วยเครื่องทรงช้างเต็มยศในโทนสีดำ-ทอง เดินพาเหรดประกอบกลอนถวายอาลัยและหมอบกราบหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

และองค์ที่ 6 การแสดงชุดสุดท้าย ชื่อชุด ”ช้างไทย ใต้ร่มพระบารมี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวริชาลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร“ ซึ่งรวมนักแสดงจากทุกฉากมารวมกันกลางสนาม ในวโรกาส แห่งศุภนิมิตมงคล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวริชาลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 10  แห่งราชวงศ์จักรี โดยเสด็จทรงขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2559 ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย พระพรชัยมงคลให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน โดยจะมีช้างเผือก ประดับพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวง รัชกาลที่ 10 บนหลังช้าง เดินนำขบวนแห่งมายังจุดกึ่งกลางลานแสดงช้าง ช้างและนักแสดงทุกแกเดินตามหลังมาตามลำดับยืนประจำจุดและยืนถวายความเคารพจนจบเพลงสรรเสริญพระบารมี

ทั้งนี้กิจกรรมในวันช้างไทย 13 มีนาคม 2560 นี้ คาดว่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมชมงานจำนวนมาก

ทั้งนี้มีรายงานเพิ่มเติมว่า ภายในศูนย์คชศึกษาสุรินทร์ ในทุกวันเวลา 10.00 น. และ 14.00 น.จะมีการแสดงความสามารถของช้างหลายรูปแบบ ทั้งช้างวาดรูป เตะฟุตบอล ปาเป้า เล่นฮูล่าฮุปและเต้นรำโชว์ความสามารถต่างๆอีกหลากหลาย ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชมอีกด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาชมได้ทุกวัน  โดยเฉพาะเด็กๆนักเรียนเยาวชนที่พบว่าในช่วงนี้ ครูอาจารย์จะพามาทันศึกษา เรียนรู้วิถีชีวิตคนกับช้างจำนวนมาก ซึ่งได้รับความสนใจจากเด็กๆที่ต่างร่วมให้อาหารช้างและชมความสามารถช้างกันอย่างใจจดใจจ่ออีกด้วย