โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน จุดเริ่มลดปัญหา “ทุพโภชนาการ” เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร

จากปัญหา “ทุพโภชนาการ” ของเด็กและเยาวชนที่เกิดในครอบครัวที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอต่อความต้องการ ขาดแคลนสารอาหารที่มีคุณภาพ ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยทำให้เด็กไม่สามารถมีพัฒนาการด้านอื่น ๆ

ด้วยน้ำพระทัย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้มีโอกาสด้านศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดี ทรงริเริ่ม “แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ที่ครอบคลุมทั้งด้านการเกษตร สุขภาพอนามัย การศึกษา สหกรณ์ การงานอาชีพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงทรงมีพระราชดำริให้ทดลองทำโครงการอาหารกลางวันผักสวนครัวเมื่อ ปี พ.ศ. 2523 ภายใต้ชื่อ “โครงการอาหารเพื่อเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” โดยทรงทำเป็นโครงการทดลองในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ๓ แห่ง

หลังจากที่โครงการอาหารกลางวันผักสวนครัวได้ทำการทดลองเป็นระยะเวลา 1 ปีประสบความสำเร็จ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายไปสู่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2524 และต่อมาได้มีการเรียกชื่อใหม่ว่า “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” เนื่องจากมีการเลี้ยงสัตว์และปลูกผักสวนครัวด้วย

ทั้งนี้ โดยมีครูและนักเรียนในโรงเรียน ตชด.ร่วมกันทำการเกษตรเพื่อผลิตอาหารสำหรับบริโภค เริ่มจาก 1 มื้อต่อสัปดาห์ เพิ่มเป็น 2 มื้อต่อสัปดาห์ จนในที่สุดสามารถนำผลผลิตทางการเกษตรมาประกอบอาหารกลางวันทุกวันเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง สมาชิกชุมชน และครูในโรงเรียนได้เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาพฤติกรรมการกินที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ

นอกจากนี้ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยังมีพระราชดำริให้ขยายโครงการไปยังเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจากเดิมที่มุ่งเน้นที่เด็กเล็กและเด็กนักเรียนประถมศึกษา ส่งเสริมโภชนาการของสามเณร ที่ศึกษาในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาเริ่มในจังหวัดที่โรงเรียนตั้งอยู่ในเขตป่าเขาการเดินทางยากลำบาก ทำให้จำเป็นต้องพักค้างแรมที่โรงเรียน ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างหอพักควบคู่กับโครงการเกษตรเพื่อนำผลผลิตประกอบเป็นอาหารรับประทานครบทั้ง 3 มื้อและอาหารเสริมพิเศษสำหรับเด็กที่บกพร่องทางโภชนาการ

เสริมความรู้ครู ช่วยพัฒนาการศึกษา

ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน จะมีครูเป็นแกนสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ โดยครูโรงเรียน ตชด.มีความรู้ความสามารถมากกว่าการเป็น “ครู” ผู้สอนเพียงอย่างเดียว มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษา ที่ต้องผ่านการฝึกอบรมหลากหลายด้าน อาทิ ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง การศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ถึงปริญญาโท พระราชทุนการศึกษาพิเศษ สามารถลาศึกษาต่อ หรือการเรียนทางไกลโดยไม่ต้องลา ช่วยพัฒนาห้องสมุด สื่อการเรียนการสอน พัฒนาสถานศึกษา ฯลฯ มีความพร้อมที่จะนำความรู้ทั้งด้านวิชาการ และการประกอบอาชีพถ่ายทอดให้กับเด็กและเยาวชน

ทรงให้จัดตั้งโครงการ “คุรุทายาท” คือ ครู ที่เคยเป็นนักเรียนอยู่ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน แต่ว่ามีใจรักที่จะถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนรุ่นน้องในท้องถิ่นที่มีโอกาสได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นและพร้อมทำงานเพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้มีโอกาสที่ดีเหมือนกัน ที่นอกจากต้องเรียนวิชาตำรวจ ฝึกตำรวจเหมือนตำรวจทั่วๆ ไป แล้วยังต้องฝึกวิชาการสอน และได้เรียนต่อในระบบทางไกล หรือการลาเพื่อศึกษาต่อ จนจบปริญญาตรี หรือปริญญาโท

จนถึงปัจจุบันโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๔๐ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ มีภารกิจสำคัญในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ตามแนวชายแดนทุรกันดารห่างไกลการคมนาคม โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนอย่างสมดุลรอบด้าน เพื่อให้เด็กและเยาวชน มีภาวะโภชนาการและสุขภาพดี มีความรู้ทางวิชาการ การงานอาชีพ และจิตสำนึกต่อส่วนรวม เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และขยายผลโครงการตามพระราชดำริสู่ชุมชนโดยรอบ ให้ได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเอง

8 โครงการหลักเพื่อโรงเรียนห่างไกล

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตระคร้อ ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นตัวอย่างของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ด้วยการนำโครงการสำคัญ 8 โครงการเข้าไปสนับสนุนการเรียนการสอน ที่เอื้อทั้งกับโรงเรียน และชุมชนควบคู่กันไป โดยครูผู้สอนต้องมีความรู้ในโครงการเหล่านั้นและพร้อมที่จะพี่เลี้ยงให้กับเด็กและชาวบ้านในพื้นที่

สำหรับบ้านแพรกตะคร้อนั้น แม้จะอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอหัวหิน แต่ก็ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลการคมนาคม ต้องใช้เวลาเดินทาง ประมาณ ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที ถึงโรงพยาบาลหัวหิน (ระยะทาง ๙๐ กิโลเมตร) ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกะหร่าง มีสัญชาติไทยเป็นส่วนน้อย ปี พ.ศ.๒๕๔๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรบ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ราษฎรบ้านแพรกตะคร้อได้ยื่นถวายฎีกาขอรับพระราชทานความช่วยเหลือด้านการเรียนการสอน และด้านสุขภาพอนามัยแก่เด็กและราษฎร จึงทรงมีพระราชกระแสให้ครูใหญ่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวร-บ้านห้วยผึ้ง ดูแลและให้การช่วยเหลือ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๔ รับสนองพระราชกระแส และได้อนุมัติการจัดตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๒ โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านแพรกตะคร้อ (สาขาโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนเรศวรห้วยผึ้ง)”

ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ” มีการจัดการเรียนการสอนระดับอนุบาล ๒ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ปีการศึกษา ๒๕๖๒ มีนักเรียนทั้งหมด ๒๖๕ คน มีการปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริ 8 โครงการ ได้แก่

โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน กิจกรรมโครงการ เพื่อประกอบเลี้ยงเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน ทั้งการปลูกพืชผัก เห็ดนางฟ้า เลี้ยงสุกร เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ กิจกรรมไม้ผล นำผลผลิตมาประกอบเลี้ยง และเป็นอาหารเสริมให้กับนักเรียน กิจกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร

โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา กิจกรรมห้องสมุด กิจกรรมส่งเสริมการอ่านในโรงเรียน มีการจัดหนังสือที่น่าสนใจ กิจกรรมสอนเสริมเพื่อทบทวนบทเรียน และเพิ่มเติมความรู้เสริมจากบทเรียน ที่ส่งผลให้ผลการทดสอบทางการศึกษา ขั้นพื้นฐานมีผลคะแนนดีขึ้น

โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ มีการตรวจเยี่ยมบ้านนักเรียน และผู้ปกครอง อยู่สม่ำเสมอ ติดตามผลการเรียน แนะนำการปฏิบัติตนในการเป็นนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ

โครงการส่งเสริมสหกรณ์ กิจกรรมสหกรณ์ร้านค้าเรียนรู้เกี่ยวกับสหกรณ์ให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักการสหกรณ์ และเข้าใจขั้นตอน ตลอดจนวิธีการเกี่ยวกับสหกรณ์ร้านค้า มีการนำผลผลิตจากโครงการเกษตรมาขายผ่านกิจกรรมสหกรณ์ นำผลิตภัณฑ์ชุมชน ผู้ปกครองมาขายในร้านค้าสหกรณ์ของโรงเรียนตาม โอกาส และฤดูกาลด้วย

โครงการฝึกอาชีพ การทอผ้าพื้นเมืองกี่เอว และการตัดผมชาย หญิง มีการดำเนินกิจกรรมโครงการโดยจัดการเรียนรู้ในชั่วโมงการเรียนรู้ฝึกอาชีพ

โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน ตรวจคัดกรองนักเรียนอยู่สม่ำเสมอ และได้มีการให้บริการน้ำดื่มที่มีการหยดสารละลายไอโอดีนอยู่ในจุดบริการน้ำดื่มของโรงเรียน

โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ ปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดิน ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ติดป้ายพันธุ์ไม้ในโรงเรียน ปลูกต้นไม้เพิ่มในโอกาสต่าง ๆ ในบริเวณพื้นที่ของโรงเรียน และดูแลรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต

โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร “สุขศาลาพระราชทาน” ส่งเสริมโภชนาการของนักเรียน ประชาชนในพื้นที่โรงเรียน ดูแลสุขภาพอนามัยแม่และเด็กก่อนที่จะได้รับการศึกษาในโรงเรียน ติดตามตรวจเยี่ยมบ้านนักเรียน และประชาชนในเขตบริการเพื่อส่งเสริมสุขอนามัยที่ดี โดยการแนะนำและให้ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

และยังได้มีการขยายผลโครงการตามพระราชดำริในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้คนรักถิ่นฐานบ้านเกิดและมีโอกาสใช้ความรู้พัฒนาท้องถิ่น และลดการอพยพแรงงานหนุ่มสาวเข้าเมือง