กลุ่มเกษตรอินทรีย์พัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย เกษตรกร “ไม่ท้อ ไม่ถอย” ยืนยัน “เศรษฐกิจพอเพียง” ช่วยผ่านพ้นวิกฤติโควิด

กลุ่มเกษตรโนนเลิง บ้านโพนงาม ต.โพนงาน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เป็นหนึ่งในหมู่บ้านในพื้นที่ต้นแบบโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดของโควิด-19 แต่ด้วยการนำแนวพระราชดำริหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยการทำเกษตรผสมผสานมาปรับใช้ตั้งแต่ปี 2556 ทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19ได้

นายเรืองศิลป์ ยุบลมาตย์ ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์พัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย หรือกลุ่มเกษตรโนนเลิง กล่าวว่า “เดิมทีชุมชนที่นี่ปลูกข้าวนาปีเป็นหลัก ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทำการเกษตรในฤดูแล้ง และน้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตรในฤดูน้ำหลาก ทำให้ไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้เต็มประสิทธิภาพซึ่งส่งผลต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกร ต่อมาในปี 2556 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และหน่วยงานต่างๆ อาทิ จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย ทหารบก  เข้ามาส่งเสริมและสร้างความเข้าใจให้กับกลุ่มเกษตรกรถึงการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ดำรงชีวิต โดยอบรมให้ความรู้แนวคิดด้านการเกษตรผสมผสาน การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ การจัดสรรพื้นที่ การรวมกลุ่มและกฎระเบียบบริหารจัดการกลุ่ม การบริหารจัดการน้ำ การปรับปรุงคุณภาพดิน การปลูกพืช และการเชื่อมโยงตลาด ทำให้ชุมชนสามารถอยู่รอดได้มาถึงปัจจุบัน”

กลุ่มเกษตรโนนเลิงประกอบด้วยสมาชิก 37 คน มีพื้นที่ทำเกษตรกรรมรวม 50 ไร่ หลักจากได้เข้าร่วมอบรมแล้ว สมาชิกทั้งหมดเห็นความเสี่ยงในการทำเกษตรเชิงเดี่ยวและมีแนวคิดการยกระดับพัฒนาชุมชนไปสู่ความยั่งยืน นายเรืองศิลป์ ยุบลมาตย์ กล่าวเสริมว่า “แค่เปลี่ยนแนวคิด ชีวิตก็เริ่มเปลี่ยน เพียงขอให้เราเลือกแนวคิดที่ถูกต้อง” สมาชิกในกลุ่มจึงตัดสินใจร่วมกันเปลี่ยนแนวคิดการเกษตรเชิงเดี่ยวที่รอฟ้าฝน เป็นการนำแนวเศรษฐกิจพอเพียงเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในการดำรงชีวิต

ด้วยความรู้ที่ได้รับจากการอบรมผนวกกับความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและประสบการณ์การทำเกษตรดั่งเดิม ทำให้สมาชิกในกลุ่มไม่รู้สึกอึดอัดหรือมีอุปสรรคในการทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์สภาพพื้นที่เพื่อจัดสรรพื้นที่ในแปลงให้เหมาะสมกับแหล่งเก็บน้ำ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ที่พักอาศัย แต่กลับยิ่งเพิ่มความน่าสนใจและมีความเอาใจใส่ในการทำเกษตรตามหลักวิชาการเพื่อให้ได้ปริมาณและคุณภาพที่ต้องการ ที่สำคัญต้องเป็นไปตามกลไกการตลาด หรือ “การตลาดนำการผลิต” รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพราะปลูกพืชผัก เช่น  การสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การปลูกพืชในโรงเรือน การใช้ผ้าสแลน เพื่อควบคุมปริมาณความชื่นและรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสม ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน โดยเฉพาะการเพาะปลูกผักใบเขียวและผักผลตามกลไกตลาดช่วยให้เกษตกรลดต้นทุนและดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ที่เป็นธรรมและมั่นคง ซึ่งผลผลิตส่วนหนึ่งสามารถเก็บไว้บริโภคภายในครัวเรือน

ส่วนที่เหลือแบ่งออกขาย โดยมีพ่อค้าแม่ค้าเข้ามารับถึงที่ และยังขายให้กับ modern trade ผ่านระบบสหกรณ์การเกษตรแก้มลิงหนองเลิงเปือย และตลาดภายในพื้นที่ด้วย ทำให้เกษตรกรให้มีกำลังใจในการประกอบอาชีพและมั่นใจว่าการดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงจะสามารถช่วยให้ข้ามผ่านวิกฤติโควิดหรือวิกฤติต่างๆ ได้ถ้าสู้และไม่ท้อ ไม่ถอย

“ถึงแม้ว่าชุมชนจะได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติโควิด รายได้ลดลงกว่าครึ่ง แต่ก็ไม่ใช้ปัญหาใหญ่อะไร เพราะเรามีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นภูมิคุ้มกัน เรายังอยู่ได้และยังช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้ด้วย” นายเรืองศิลป์ ยุบลมาตย์ ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ฯ กล่าว

ปัจจุบันกลุ่มเกษตรโนนเลิงทำเกษตรอินทรีย์ผสมผสานเลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าว และพืชผักตามที่ตลาดต้องการ เช่น ข้าวพันธุ์ กข 6 และ 105 เลี้ยงวัว ปลากินพืช โดยเฉพาะผักอินทรีย์มีมากกว่า 13 ชนิด เช่น ต้นหอม ผักชี คะน้า ตะไคร้ กระเพรา โหรพา ผักบุ้ง พริก มะเขือ มะละกอ ถัวผักยาว ฟักทอง ฟักเขียว เป็นต้น  มีรายได้จากขายผักอินทรีย์ผ่านสหกรณ์ฯ ประมาณ 540,000 บาท ต่อปี และกำลังอยู่ระหว่างการวางแผนการเพาะปลูกผักในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับชุมชนเนื่องจากในฤดูฝนการปลูกผักทำได้ยากแต่เชื่อมั่นว่าด้วยความรู้ที่มีและบทพิสูจน์ที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรโนนเลิงจะสามารถข้ามผ่านปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ไปได้อย่างแน่นอน อีกทั้งเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ให้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ประกอบอาชีพอย่างจริงจังได้อีกด้วย

โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เริ่มดำเนินการในปี 2556 ในพื้นที่ 42,958 ไร่ 53 หมู่บ้าน 4 ตำบล ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอร่องคำ และกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับหน่วยงานภาคี เช่น กระทรวงมหาไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทัพภาคที่ 2 กรมการทหารช่าง สำนักงาน กปร. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ขุดลอกแก้มลิงหนองเลิงเปือยเพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำแล้งในฤดูแล้งและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมให้ฤดูน้ำหลาก และพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนการปรับปรุงดิน ส่งเสริมการเกษตรการรวมกลุ่มเพื่อการประกอบอาชีพเพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อพัฒนาอาชีพให้แก่ประเทศ

  

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่