ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
จังหวัดลพบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรต้องประสบปัญหาภาวะแล้ง ดำเนินกิจกรรมการปลูกพืชได้น้อยลง หรือเกษตรกรบางรายสามารถปลูกพืชได้แต่ก็ประสบปัญหาภาวะขาดทุน จึงมีความสนใจที่อยากจะมาทำอาชีพด้านปศุสัตว์ ซึ่งการเลี้ยงปศุสัตว์ใช้น้ำน้อยกว่าการปลูกพืช จึงได้มีการส่งเสริมให้เลี้ยงแพะภายในจังหวัดลพบุรีมากขึ้น เพราะแพะเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็ก มี 4 กระเพาะ กินหญ้าและวัชพืชต่างๆ
ในด้านของการให้ผลผลิต แพะเป็นสัตว์ที่ให้ผลผลิตรวดเร็ว แพะเพศผู้ สามารถใช้เป็นพ่อพันธุ์คุมฝูงได้เมื่ออายุ 8 เดือนขึ้นไป ส่วนแพะเพศเมียสามารถใช้เป็นแม่พันธุ์ได้เมื่ออายุ 8-10 เดือน เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะใช้เวลาตั้งท้องนาน 5 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่ให้ลูกครั้งละ 2 ตัว ต่อแม่แพะ 1 ตัว มีค่าเฉลี่ยการให้ลูกปีละ ประมาณ 3 ตัว
ในด้านของการตลาด ข้อมูลการผลิตแพะของประเทศไทย มีจำนวนแพะทั้งประเทศเมื่อปี 2558 จำนวน 539,583 ตัว เกษตรกร 43,118 ครัวเรือน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วในพื้นที่ภาคใต้มีแพะจำนวนกว่า 271,730 ตัว คิดเป็นร้อยละ 50.36 สำหรับจังหวัดลพบุรี เมื่อดูจากข้อมูลสถิติการเลี้ยงแพะ มีจำนวน 20,862 ตัว เกษตรกรจำนวน 401 ราย มีจำนวนแพะมากที่สุดในพื้นที่ปศุสัตว์เขต 1 ตลาดแพะของจังหวัดลพบุรี ส่วนใหญ่ประมาณ ร้อยละ 70 ส่งไปจำหน่ายในตลาดของประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว เวียดนาม) ที่เหลืออีกร้อยละ 30 จำหน่ายในตลาดกรุงเทพมหานคร และภาคใต้ ซึ่งในส่วนของปริมาณที่สามารถผลิตและจำหน่ายได้ ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด
คุณภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ให้ข้อมูลว่า จากการประเมินผลของการจัดกิจกรรม “งานแพะเมืองละโว้ ครั้งที่ 1” ที่ผ่านมานั้น ผู้ที่ได้มาร่วมงานต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นกิจกรรมที่ดี และอยากให้มีการจัดงานต่อไปเรื่อยๆ เพราะจากผลของการจัดงานที่ผ่านมา ทำให้ผู้ที่สนใจที่อยากจะซื้อแพะได้รู้จักกับเกษตรกรภายในจังหวัดลพบุรีมากขึ้น จึงทำให้เวลานี้เกษตรกรภายในจังหวัดลพบุรีผลิตลูกแพะเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น ทางจังหวัดลพบุรีเหมือนมีแรงกระตุ้นที่จะต้องดำเนินการจัดงานครั้งที่ 2 ขึ้น เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องนี้
“ในการจัดงานครั้งที่ 2 ครั้งนี้ จะเน้นวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ ประการแรก เราต้องการที่จะตอกย้ำให้บุคคลภายนอกคือตลาดที่รับซื้อ ได้มีความรู้ความเข้าใจว่าจังหวัดลพบุรีมีการเลี้ยงแพะเนื้อ ซึ่งมีจำนวนถึง 20,000 กว่าตัวภายในจังหวัด ประการที่สอง คือ เรื่องของการทำความเข้าใจหรือการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรภายในจังหวัดเอง เพื่อให้หันมาเลี้ยงแพะเพื่อเป็นอาชีพเสริม และเมื่อลองเลี้ยงแล้วประสบผลสำเร็จดีก็สามารถทำเป็นอาชีพหลักได้ และประการที่สาม คือ การสร้างความรับรู้ในเรื่องของแพะนม ซึ่งในปัจจุบันนี้แพะนมถือว่าเป็นที่ยอมรับว่าให้นมที่มีคุณภาพสูง มีหลักโภชนาการที่เหมาะสำหรับผู้ที่แพ้นมโค พร้อมทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องการบริโภคเนื้อแพะอีกด้วย เพราะสามารถนำไปทำอาหารได้หลายอย่าง สามประการที่กล่าวมาจึงเป็นส่วนสำคัญที่เราได้จัดงานครั้งนี้ขึ้นมา” คุณภานุ กล่าว
รูปแบบการจัดงานในปีนี้จะยังคงเป็นแนวทางเหมือนปีที่ผ่านมา แต่จะมีการเริ่มรายละเอียดบางอย่างขึ้น เช่น การประกวดแพะ ที่มีประโยชน์กับเกษตรกรผู้ที่สนใจได้เห็นแพะที่มีสายพันธุ์ดี ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่อไปได้ โดยการประกวดถือว่าเป็นการยกระดับให้เกษตรกรผู้เลี้ยงได้ทำตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ พร้อมทั้งได้รับความรู้เกี่ยวกับนิทรรศการการให้ความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการสร้างฟาร์มปลอดภัยเพื่อให้เป็นฟาร์มที่ปลอดโรคต่างๆ
ทั้งนี้ คุณภานุ ให้ข้อมูลอีกว่า แพะภายในจังหวัดลพบุรียังต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศเป็นหลัก เพราะจะเห็นได้จากผู้ที่เข้ามาซื้อจากเกษตรกรก็จะนำไปส่งจำหน่ายต่อยังต่างประเทศ ดังนั้น ทางกรมปศุสัตว์ต้องมีการควบคุมเรื่องการเคลื่อนย้ายสัตว์ พร้อมทั้งมีการกักโรคเพื่อไม่ให้แพร่ระบาดของโรคที่ติดต่อร้ายแรง ซึ่งในปีนี้ทางจังหวัดลพบุรีจึงได้ตั้งงบประมาณขึ้นมาเพื่อให้มีคอกกักโรค โดยให้เกษตรกรที่ขุนแพะจนสามารถจำหน่ายได้ ส่งเข้ามาในพื้นที่กักโรค เพื่อทำการตรวจว่ามีความปลอดภัยจะทำให้แพะสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ง่ายยิ่งขึ้น
“เราจะเพิ่มกลุ่มผู้เลี้ยงแพะให้มีจำนวนที่มากขึ้น พร้อมทั้งสร้างสถานที่กักโรค เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงได้มีความสะดวกในการจำหน่าย ก็จะทำให้เกษตรกรของเรามีความแข็งแกร่ง เมื่อเลี้ยงแล้วสามารถจำหน่ายได้ สิ่งนี้ก็จะเป็นเหมือนแรงจูงใจให้เกษตรกรเห็นความสำคัญว่า การเลี้ยงแพะทางราชการไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการเลี้ยงอย่างเดียว แต่ยังสร้างโครงสร้างที่จำเป็น เพื่อรองรับให้มีการส่งออกยังตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย” คุณภานุ กล่าว
นายสัตวแพทย์จรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี ให้ข้อมูลว่า แพะถือว่าเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย โตไว และที่สำคัญทนโรคได้ดี เมื่อเลี้ยงไปแล้วสามารถให้ผลผลิตที่เร็ว พร้อมทั้งตลาดมีความต้องการ จึงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ จึงถือว่าการเลี้ยงแพะเป็นอาชีพทางเลือกที่อาจจะเลี้ยงเสริมหลังจากทำเกษตรด้านอื่น
“จังหวัดลพบุรีเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ดอน จะมีพืชไร่ปลายนาที่ใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นกระถินที่หาได้ง่ายๆ ในพื้นที่ก็สามารถนำมาเป็นอาหารของแพะได้ ซึ่งจำนวนแพะที่เลี้ยงทั้งหมดภายในจังหวัดลพบุรี มีจำนวนกว่า 20,000 กว่าตัว จากที่ได้สำรวจจากชาวบ้านที่เลี้ยงก็ยอมรับว่า เลี้ยงได้ประสบผลสำเร็จดี มีคนจากหลายพื้นที่มาติดต่อขอซื้อจึงทำให้แพะที่นี่ผลิตเพื่อจำหน่ายไม่พอ ดังนั้น สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงก็สามารถมาขอคำปรึกษาได้ โดยสำนักงานปศุสัตว์ทั้ง 11 อำเภอของจังหวัดลพบุรี เราพร้อมที่จะให้คำปรึกษากับเกษตรกรที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจโรค หรือวิธีการเลี้ยงต่างๆ เราก็พร้อมบริการพี่น้องประชาชนผู้สนใจอยากเลี้ยงแพะเป็นอาชีพต่อไป” นายสัตวแพทย์จรูญ กล่าว
คุณนันทินี จริยะพงศ์ อยู่บ้านเลขที่ 273 หมู่ที่ 2 ตำบลพัฒนานิคม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะอยู่ภายในจังหวัดลพบุรี โดยเธอให้ข้อมูลว่า เลือกที่จะเลี้ยงแพะเป็นอาชีพเสริมหลังจากว่างจากงานประจำ เพราะมองว่าแพะเป็นสัตว์ที่น่ารัก การเลี้ยงไม่ต้องใช้พื้นที่มาก สามารถเลี้ยงให้อยู่ภายในคอกที่จัดสรรไว้ให้แบบไม่ต้องใช้พื้นที่มาก
“เหตุที่เลือกเลี้ยงแพะเพราะเราชอบ บวกกับมองดูพื้นที่ในย่านนี้ก็ค่อนข้างที่จะมีวัตถุดิบอาหารสัตว์ค่อนข้างมาก คือ กระถิน โดยที่เราไม่ต้องไปซื้อหา เราก็สามารถหามาให้แพะกินได้ทุกวัน จึงมองว่าแพะก็เป็นสัตว์ที่เหมาะสมกับเรา อีกอย่างเราก็ชอบด้วย” คุณนันทินี เล่าถึงที่มา
ในเรื่องของการเลือกสายพันธุ์แพะที่ใช้เลี้ยงนั้น คุณนันทินี บอกว่า จะเลือกเป็นสายพันธุ์ที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย จะเลี้ยงเป็นแพะเนื้อก็ได้ ผลิตเป็นแพะนมก็ดี โดยแพะทุกตัวจะเป็นพันธุ์ลูกผสมที่มีสายเลือดของซาแนน ชาร์มมี่ แองโกลนูเบียน และลาแมนซา ซึ่งการที่ทำลูกผสมในลักษณะนี้จะทำให้ลูกแพะที่ออกมามีลักษณะตัวที่ใหญ่ น้ำหนักหลังหย่านมจะดี เมื่อนำมาทำเป็นแพะขุนจะใช้เวลาไม่นาน
แพะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไม่ยาก หากเข้าใจนิสัย
คุณนันทินี อธิบายถึงการเลี้ยงว่า แพะเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นแล้วถือว่าเลี้ยงง่าย เพียงแค่เข้าใจนิสัยว่าแต่ละสายพันธุ์ต้องดูแลอย่างไร แล้วพิจารณาดูความเหมาะสมว่าเข้ากับคนเลี้ยงได้ไหม แล้วจึงค่อยเลือกแพะสายพันธุ์นั้นๆ มาเลี้ยง
หลักการสร้างโรงเรือนให้แพะอยู่อาศัย คุณนันทินี บอกว่า ต้องดูสภาพอากาศของแต่ละพื้นที่ว่ามีสภาพอากาศอย่างไร เช่น ภาคอีสานมีปัญหาในเรื่องลมแรงก็ไม่ควรยกพื้นโรงเรือนให้สูง เพราะถ้าลมมาปะทะกับแพะมากเกินไปก็จะทำให้แพะป่วยได้ จึงทำให้การเจริญเติบโตไม่ดี เพราะฉะนั้น การเลือกพื้นที่เลี้ยงจึงสำคัญ
“ก่อนที่จะลงมือเลี้ยง หรือสร้างโรงเรือนก็ศึกษาก่อนเลยคือพื้นที่ ว่าที่เราจะเลี้ยงเป็นแบบไหน แบบนี้เหมาะสมไหม ลมแรงไหม น้ำท่วมตลอดหรือเปล่า ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมก็สามารถปลูกสร้างโรงเรือนแบบติดดินได้ ส่วนที่นอนก็ทำเป็นโต๊ะยกสูงจากพื้นขึ้นมาหน่อยไว้ให้แพะขึ้นนอน เท่านั้นแพะก็สามารถอยู่ได้ แต่พื้นที่เลี้ยงต้องหมั่นทำความสะอาด เพราะแพะเป็นสัตว์รักสะอาด” คุณนันทินี บอกถึงวิธีการสร้างโรงเรือน
อาหารสำหรับให้แพะกินเพื่อการเจริญเติบโต คุณนันทินี บอกว่า ไม่ได้หาเพียงแต่กระถินให้กินเพียงอย่างเดียว แต่จะมีการผสมอาหารข้นเองด้วยเพื่อเป็นอาหารเสริมให้แพะกิน ซึ่งส่วนผสมก็จะมี ผิวถั่ว เนื้อถั่ว กากถั่วเหลือง และข้าวโพด ผสมให้เข้ากันโดยให้แพะกินวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้าและเย็น ซึ่งต่อวันแพะจะกินอาหารข้นที่ผสมเองอยู่ที่วันละ 1 กิโลกรัม ต่อตัว ส่วนกระถินที่หามาได้จากพื้นที่ในย่านนี้ก็จะให้กินทุกวัน
การป้องกันดูแลรักษาโรคของแพะ คุณนันทินี เล่าว่า ที่ฟาร์มของเธอจะมีการตรวจโรคเป็นประจำทุกปี ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่จะเป็นผู้มาดำเนินการให้ โดยโรคที่ต้องระวังมากที่สุดสำหรับแพะคือ แท้งติดต่อ ต้องทำการตรวจให้ละเอียด เพราะถ้ามีโรคนี้กับแพะภายในฟาร์มจะทำให้เกิดความเสียหายได้
“วัคซีนทางปศุสัตว์เขาก็จะมาฉีดให้ปีละ 2 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นโรคปากเท้าเปื่อย แท้งติดต่อเราต้องค่อยเฝ้าระวัง และที่สำคัญก่อนที่จะซื้อแพะจากที่ไหนเข้ามาภายในฟาร์ม ต้องส่งตรวจโรคก่อน แพะที่เราเลี้ยงก็จะปลอดโรค การสูญเสียเราก็จะน้อย เพราะฉะนั้น เรื่องการจัดการต่างๆ อย่ามองว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ขอให้จัดการให้ดีเท่านั้นพอ ระบบการเลี้ยงเราก็จะไม่มีปัญหาอะไรที่น่าเป็นห่วง” คุณนันทินี เล่าถึงวิธีดูแลแพะ
แพะที่เลี้ยง สามารถทำการตลาดได้หลายแบบ
หลักการทำตลาดเพื่อให้ได้เงินจากการเลี้ยงแพะ คุณนันทินี บอกว่า ไม่มีอะไรยุ่งยากเพียงแต่อยู่ที่การเลือกสายพันธุ์ ซึ่งเธอบอกว่าโชคดีที่แพะที่เลือกมีหลายสายพันธุ์โดยไม่ได้เน้นเป็นเลือดร้อย จึงทำให้สามารถเลี้ยงแบบรีดนมก็ได้ หรือจะเลี้ยงแบบขุนเป็นแพะเนื้อก็ขายได้เช่นกัน
ซึ่งแพะที่รีดนมส่งจำหน่ายให้กับคนที่มารับซื้อ จะรีดได้อยู่ที่ 30-40 กิโลกรัม ต่อวัน ส่งจำหน่ายอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 40 บาท พร้อมทั้งมีการนำนมแพะที่รีดมาต้มจำหน่ายแปรรูปเองด้วย บรรจุขวดขนาด 150 ซีซี จำหน่ายอยู่ที่ขวดละ 20 บาท
นอกจากจะรีดนมจำหน่ายแล้ว คุณนันทินี บอกว่า การเลี้ยงแพะยังไม่ได้จบลงเพียงแค่นี้ ยังสามารถจำหน่ายลูกพันธุ์ได้ โดยแพะสาวจำหน่ายอยู่ที่ตัวละ 5,000-8,000 บาทขึ้นไป ส่วนตัวผู้ที่หย่านมแล้วนำมาขุนจนมีอายุ 3 เดือน สามารถจำหน่ายได้ตัวละ 3,000 บาท
“ตอนนี้เราเองก็นำลูกแพะที่ยังไม่ได้หย่านม ไปเป็นลูกแพะให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยให้ซื้อนมป้อนลูกแพะอยู่ที่ขวดละ 20 บาท ซึ่งถือว่าธุรกิจด้านนี้ดีมาก การเลี้ยงแพะสามารถหาเงินได้หลายแบบมากๆ ไม่ว่าจะรีดนมขาย ขายลูกพันธุ์ หรือทำเป็นลูกแพะให้ป้อนนม เรียกง่ายๆ ว่า ถ้าเรามีการจัดการที่ดี การทำเกษตรแบบนี้คิดว่าเราอยู่ได้นะ เพียงเราต้องจัดการให้เป็น และต้องรู้ด้วยว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง เกษตรถ้าทำดีๆ รับรองอยู่ได้สบายแถมมีเงินเก็บ” คุณนันทินี กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจอยากเลี้ยงแพะเป็นอาชีพ แต่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง คุณนันทินี แนะนำว่า ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีความชอบที่จะเลี้ยงสัตว์หรือไม่ โดยอย่ามองว่าทำเพื่อธุรกิจเพียงอย่างเดียว หากคนที่เลี้ยงปล่อยปละละเลยมากเกินไปก็จะทำให้สัตว์ที่เลี้ยงตายได้ เพราะเวลาที่เจ็บป่วยสัตว์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นแพะหรือสัตว์อื่นๆ ก็จะต้องการการดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งแพะถือว่าเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายเพียงขอให้มีการจัดการที่ดี และเข้าใจนิสัยให้ละเอียด แพะก็จะถือว่าเป็นสัตว์ที่ทำเงินให้คนเลี้ยงได้อย่างสบายๆ
ติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเลี้ยงแพะได้ที่ คุณนันทินี จริยะพงศ์ ที่หมายเลขโทรศัพท์ (080) 558-4165
สนใจอาหารจากแพะ มีให้รับประทาน แวะได้ ที่ดีลัง
เนื้อแพะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เมื่อเทียบกับเนื้อของสัตว์เคี้ยวเอื้องทั่วไป (เนื้อโค เนื้อแกะ)
เนื้อแพะมีโปรตีนย่อยได้สูงกว่า ในขณะที่มีไขมันต่ำกว่า ส่วนน้ำนมแพะมีคุณค่าทางอาหารใกล้เคียงกับน้ำนมโค แต่มีคุณสมบัติที่เด่นกว่าคือ นมแพะสามารถย่อยได้ง่าย มีเม็ดไขมันขนาดเล็ก ซึ่งมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคทางการแพทย์ เช่น โรคภาวะดูดซึมสารอาหารบกพร่อง และนอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยกรดอะมิโนที่สำคัญหลายชนิด ซึ่งมีประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และเด็กที่แพ้นมโค
จังหวัดลพบุรี จึงได้ดำเนินการและกระตุ้นให้มีการบริโภคเนื้อแพะให้เพิ่มมากขึ้น โดยการจัดงานครั้งที่ 2 ได้มีการจัดกิจกรรมการแข่งขันและการสาธิตการปรุงอาหารเมนูแพะภายในงานด้วย
จึงได้มีการส่งเสริมให้มีร้านอาหารเมนูแพะในพื้นที่ของจังหวัดลพบุรี ซึ่งหากท่านใดต้องการชิมอาหารเมนูแพะ สามารถมาลองชิมได้ที่ ร้านอาหารในบริเวณ ซอย 12 ตำบลดีลัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี
ร้านอาหารของเชฟอั๋น ได้มีเมนูอาหารที่ทำจากเนื้อแพะไว้ให้ได้ลองชิมกัน ดังนี้คือ แกงกะหรี่ซี่โครงแพะ สเต๊กแพะอบซอสเห็ด ซุปใสซี่โครงแพะ เบอร์เกอร์แพะ แซนด์วิชแพะ และสตูแพะ
เชฟอั๋น บอกว่า เนื้อแพะมีคุณประโยชน์ในเรื่องของการบำรุงร่างกาย ซึ่งกล้ามเนื้อแทบจะไม่มีไขมัน เวลาที่นำมาประกอบอาหารจะมีรสชาติที่อร่อย ซึ่งที่ร้านเองก็เริ่มมีเมนูให้กับผู้ที่สนใจจะลองชิมได้มาลองชิมกันอย่างจุใจ
“เนื้อแพะจากที่ผมได้ลองนำมาทำอาหาร จะไม่ค่อยเห็นมีมันในเนื้อเท่าไร แต่จะมีเอ็นเสียมากกว่า เมื่อทานแล้วเราก็จะได้แต่คุณค่าทางอาหารที่ดี ซึ่งการทำเมนูเนื้อแพะให้อร่อย เครื่องเทศเป็นส่วนที่สำคัญ เมื่อมาทานที่ร้านเราแล้วไม่ต้องกลัวเรื่องเหม็นสาบ เราทำอย่างดี ถึงเครื่องเทศแน่นอน และผมคาดหวังว่าอาหารที่ปรุงจากเนื้อแพะจะเป็นเมนูทางเลือกเพื่อสุขภาพ ที่ให้ผู้ที่สนใจอยากชิมได้มาชิมกัน ผมรับรองว่าจะติดใจในเมนูที่ทำจากเนื้อแพะ และที่สำคัญราคาก็สามารถจับต้องได้แน่นอน” เชฟอั๋น กล่าว
ผู้สนใจแวะร้านเชฟอั๋น ไปตามถนนสายสระบุรี-หล่มสัก ถึงสี่แยกพัฒนานิคม (ซอย 12) เลี้ยวขวาไปทางเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ราว 100 เมตร ขวามือเป็นที่ตั้งของธนาคารกรุงเทพ ร้านเชฟอั๋นตั้งอยู่ซอยนี้ ชื่อร้าน “เชฟอั๋น” หรือสอบถามทางก็ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ (081) 404-3638
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติ่มเกี่ยวกับงานได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี หมายเลขโทรศัพท์ (036) 626-089 หรือที่ คุณรักษิณา สัตย์ชาพงษ์ (คุณก้อย) โทร. (089) 859-3292
กำหนดการจัดกิจกรรม
“งานแพะเมืองละโว้ ครั้งที่ 2”
ระหว่าง วันที่ 24-25 มีนาคม 2560
ณ สวนสัตว์ลพบุรี ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
วันศุกร์ที่ 24 มีนาคม 2560
08.00-09.15 น. – ลงทะเบียนแขกผู้มีเกียรติและผู้ร่วมเสวนา
09.30 น. – แขกผู้มีเกียรติและผู้ร่วมเสวนาพร้อมกันบริเวณพิธีเปิด
10.00 น. – คุณภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ประธานในพิธีเดินทางมาถึงบริเวณจัดงาน
– ประธาน ขึ้นบนเวที
– ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี กล่าวรายงานการดำเนินการจัดงาน
– ประธาน กล่าวเปิดงาน
– ประธาน แขกผู้มีเกียรติ ผู้เข้าร่วมเสวนาเยี่ยมชมนิทรรศการ กิจกรรมสาธิตการปรุงอาหารจากเนื้อแพะ ฯลฯ
12.00-13.00 น. – รับประทานอาหารกลางวัน
13.00-15.00 น. – กิจกรรมการเสวนาชาวแพะ ในหัวข้อ “เพิ่มศักยภาพการเลี้ยงแพะเนื้อและแพะนม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน”
ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย
- คุณภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี
นโยบายการส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงแพะเนื้อ และแพะนม ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2
- ดร.แสนศักดิ์ นาคะวิสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและพัฒนาสัตว์เล็ก กรมปศุสัตว์
กรอบแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงแพะเนื้อ และแพะนม ของกรมปศุสัตว์
- คุณวีระศักดิ์ เนตรเกื้อกูล ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงแพะแห่งประเทศไทย
สร้างเครือข่ายการผลิตและการตลาดแพะ
- นายสัตวแพทย์ศิษฏ์ เปรมัษเฐียร นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สำนักควบคุมป้องกักและบำบัดโรคสัตว์
แนวทางการส่งเสริมการทำฟาร์มปลอดโรคแพะ
- คุณดำรงค์ สังวงษ์ ประธานชมรมแพะ แกะ ลพบุรี
ความต้องการการส่งเสริมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ
14.30-16.00 น. – กิจกรรมแข่งขันปรุงอาหารจากเนื้อแพะ
เมนู “แกงเขียวหวานแพะ”
วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม 2560
07.00-09.00 น. – ลงทะเบียนผู้เข้าร่วมประกวดแพะ จำนวน 18 รุ่น ประกอบด้วย
- แพะเนื้อสายพันธุ์แท้ (บอร์, หรือคาลาฮารีเรด) เพศผู้ ไม่ผลัดฟัน
- แพะเนื้อสายพันธุ์แท้ (บอร์, หรือคาลาฮารีเรด) เพศผู้ ผลัดฟัน 1-3 คู่
- แพะเนื้อสายพันธุ์แท้ (บอร์, หรือคาลาฮารีเรด) เพศเมีย ไม่ผลัดฟัน
- แพะเนื้อสายพันธุ์แท้ (บอร์, หรือคาลาฮารีเรด) เพศเมีย ผลัดฟัน 1-3 คู่
- แพะเนื้อสายพันธุ์ลูกผสมบอร์, หรือลูกผสมคาลาฮารีเรด เพศผู้ ไม่ผลัดฟัน
- แพะเนื้อสายพันธุ์ลูกผสมบอร์, หรือลูกผสมคาลาฮารีเรด เพศผู้ ผลัดฟัน 1-3 คู่
- แพะเนื้อสายพันธุ์ลูกผสมบอร์, หรือลูกผสมคาลาฮารีเรด เพศเมีย ไม่ผลัดฟัน
- แพะเนื้อสายพันธุ์ลูกผสมบอร์, หรือลูกผสมคาลาฮารีเรด เพศเมีย ผลัดฟัน 1-3 คู่
- แพะเนื้อ (แองโกลนูเบียน, ลูกผสมแองโกลนูเบียน) เพศผู้ ไม่ผลัดฟัน
- แพะเนื้อ (แองโกลนูเบียน, ลูกผสมแองโกลนูเบียน) เพศผู้ ผลัดฟัน 1-3 คู่
- แพะเนื้อ (แองโกลนูเบียน, ลูกผสมแองโกลนูเบียน) เพศเมีย ไม่ผลัดฟัน
- แพะเนื้อ (แองโกลนูเบียน, ลูกผสมแองโกลนูเบียน) เพศเมีย ผลัดฟัน 1-3 คู่
- แพะนม (ซาแนน, อัลไพน์, ท็อกเกนเบิร์ก) เพศผู้ ไม่ผลัดฟัน
- แพะนม (ซาแนน, อัลไพน์, ท็อกเกนเบิร์ก) เพศผู้ ผลัดฟัน 1-3 คู่
- แพะนม (ซาแนน, อัลไพน์, ท็อกเกนเบิร์ก) เพศเมีย ไม่ผลัดฟัน
- แพะนม (ซาแนน, อัลไพน์, ท็อกเกนเบิร์ก) เพศเมีย ผลัดฟัน 1-3 คู่
- แพะแฟนซี ไม่จำกัดพันธุ์ ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดอายุ
- แพะยักษ์ ไม่จำกัดพันธุ์ ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดอายุ
09.00-15.00 น. – ดำเนินกิจกรรมการประกวดแพะ พร้อมทั้งให้ความรู้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม
ตามกฎ กติกาที่คณะกรรมการตัดสินกำหนด
กรรมการตัดสินประกอบด้วย
- คุณแสนศักดิ์ นาคะวิสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมและพัฒนาสัตว์เล็ก กรมปศุสัตว์
- คุณสุวิทย์ อโนทัยสินทวี หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนาแพะ แกะ สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์
- คุณนที เจนประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์หนองกวาง
- คุณบุญศักดิ์ เกลียวกมลทัต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์นครสวรรค์
- คุณสรรทยา อินทจินดา นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์หนองกวาง
- คุณจักริน ขำละมัย เจ้าพนักงานสัตวบาลปฏิบัติงาน ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์หนองกวาง
15.00 น. – การมอบถ้วยรางวัลการประกวดแพะ
โดย คุณภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี
หมายเหตุ : การแต่งกายชุดคาวบอยไว้ทุกข์
: กำหนดการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม