พชร. สร้างความสามัคคีแก้ไขปัญหาชุมชน

คณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2561 เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือแบบเบ็ดเสร็จ (พ.ศ.2562-2565) ได้กำหนดให้นำการพัฒนาทางเลือกด้วยศาสตร์พระราชา มาเป็นมาตรการหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมอบหมายให้สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ รับผิดชอบด้านการสร้างคนและระบบการพัฒนา รวมถึงการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ สร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานราชการผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และพะเยา  19 อำเภอ 119 ตำบล

การพัฒนาคนโดยจัดให้มีการเรียนรู้ประสบการณ์ในพื้นที่จริงในโครงการร้อยใจรักษ์ บ้านห้วยส้าน ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อฝึกปฏิบัติรวม 2 หลักสูตร ทำให้เกิดความเข้าใจและนำแนวคิดการทำงานไปขยายผลกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ ข้าราชการระดับอำเภอ ผู้บริหารและข้าราชการ อปท. และผู้นำท้องที่ ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคเหนือ  เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2561

ภายหลังการอบรม ผู้ผ่านการอบรมที่ได้เรียนรู้การทำงานแบบปฏิบัติจริงได้เสนอโครงการแก้ปัญหาเร่งด่วนที่ตรงกับความต้องการของชุมชน 57 โครงการ เป็นโครงการที่สมทบงบประมาณร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันฯปิดทองหลังพระฯ ในสัดส่วน 60:40 ผ่านความเห็นชอบจากคณะทำงานกลั่นกรองโครงการฯ เป็นโครงการด้านการพัฒนาระบบน้ำทั้งหมด มีผู้รับประโยชน์ 15,363 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 19,563 ไร่  ดำเนินการแล้วเสร็จ 23 โครงการ อยู่ระหว่างการทำแผนพัฒนาต่อยอดหลังมีระบบน้ำแล้ว

นอกจากนี้ยังมี อปท. จำนวน 5 แห่ง ที่ดำเนินการโดยใช้งบประมาณของตัวเองทั้งหมด ไม่ได้ขอรับการสนับสนุน ปี 2563 จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และพะเยา เสนอให้สถาบันฯปิดทองหลังพระฯ ดำเนินโครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ (พชร.) เพื่อสร้างต้นแบบในพื้นที่ของจังหวัด เป็นการดำเนินโครงการพัฒนาเร่งด่วน ซึ่งแล้วเสร็จทั้ง 3 จังหวัด อยู่ระหว่างการทำแผนพัฒนาต่อยอดอาชีพในระยะต่อไป ได้แก่

#บ้านแม่กอน ตำบลทุ่งข้าวพวง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่  โครงการซ่อมแซม ปรับปรุง เสริมศักยภาพระบบส่งน้ำด้วยท่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน มีผู้รับประโยชน์รวม 234 ครัวเรือน ประชากร 1,279 คน

#บ้านหัวแม่คำ ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มี 9โครงการ เป็นการปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 4 โครงการ น้ำอุปโภคบริโภค 5 โครงการ ชาวบ้านได้รับประโยชน์ 181 ครัวเรือน จำนวน  1,128 คน พื้นที่การเกษตร 64 ไร่

#บ้านห้วยสา ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ดำเนินโครงการพัฒนาเร่งด่วนโดยสร้าง  สปิลเวย์ (spill way) แบบถาวร สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น 96,000 ลูกบาศก์เมตร  ผู้รับประโยชน์ 110 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตร 600 ไร่

#บ้านแม่กอน ชุมชนต้นน้ำความสามัคคี บริหารจัดการน้ำ

บ้านแม่กอน เป็นการดำเนินโครงการพัฒนาเร่งด่วนโครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ (พชร.) เพื่อสร้างต้นแบบในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่

บ้านแม่กอน หรือบ้านแม่ก๋อน หมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งข้าวพวง ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ ของอำเภอเชียงดาว ชาวบ้านที่อาศัยมี 7 ชนเผ่าได้แก่ ลาหู่แดง ลาหู่ดำ ลาหู่เหลือง ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ลีซู คนเมือง ที่แยกอาศัยอยู่ตามหย่อมบ้านต่าง ๆ 7 หย่อมบ้านได้แก่ หย่อมบ้านดอยจะลอ หย่อมบ้านใหม่พัฒนา หย่อมบ้านสันต้นเปา หย่อมบ้านดอยนาหลวง หย่อมบ้านกะเหรี่ยง หย่อมบ้านลีซู และหย่อมบ้านแม่ก๋อน มีจำนวนรวมประชากร 1,521 คน หลังคาเรือนทั้งสิ้น 321 หลังคาเรือน อาศัยอยู่จริง 273 หลังคาเรือน

แม้จะเป็นหมู่บ้านแรกที่รับน้ำจากลุ่มน้ำแม่กอนหลวง 4 ลำน้ำหลัก คือ ลำน้ำแม่กอนหลวง ลำน้ำแม่กอนกลาง ลำน้ำแม่กอนน้อย และลำนำห้วยเฮี้ยมีต้นทุนน้ำไหลรวม 3.79 ล้านลิตร/วัน (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มีนาคม 2563) ก่อนจะไหลไปสู่บ้านทุ่งข้าวพวง หมู่ที่ 3 บ้านห้วยเป้า หมู่ที่ 1 และบ้านห้วยตีนตั่ง หมู่ที่ 7 และไหลลงสู่แม่น้ำปิง  หนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญที่ไปบรรจบเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา แต่กลับประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร

ปัญหาที่มีการสำรวจแต่ละหย่อมบ้านที่สรุปได้คือ เกิดจากระบบประปาภูเขา ชำรุดเสียหาย อุดตัน ระบบส่งน้ำมีขนาดเล็ก ไม่มีฝายกั้นน้ำเข้าท่อ ปริมาณน้ำในลำน้ำลดลงช่วงหน้าแล้ง หน้าฝนน้ำเป็นสีแดงต้องผ่านการกรองก่อนนำไปใช้ การขาดแคลนน้ำใช้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขอันดับแรก จึงจัดทำโครงการ Quick Win ด้วยการทำระบบน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ความศรัทธา และการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ก่อนที่จะเกิดการพัฒนาระยะต่อไป เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา มีการดำเนินงานไปแล้ว 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 งานซ่อมแซม ปรับปรุงระบบส่งน้ำ 5 หย่อมบ้าน ได้แก่หย่อมบ้านลีซู สันต้นเปา ดอยนาหลวง ดอยจะลอ และคนเมือง ผู้รับประโยชน์ 219 ครัวเรือน ได้ระบบส่งน้ำดีขึ้นไม่รั่วซึม

ระยะที่ 2 งานสร้างฝายน้ำอุปโภคบริโภคและฝายเกษตร 3 ลำน้ำ ได้แก่ ลำน้ำกอนหลวง กอนกลาง และกอนน้อย เป็นฝายอุปโภค บริโภค 3 ตัว ฝายเกษตร 3 ตัว และต่อระบบส่งน้ำ 5 จุด ทำให้ชาวบ้าน 7 หย่อมบ้าน 325 ครัวเรือน มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอตลอดปีโดยฝายน้ำเพื่อการเกษตร 3 ตัว ผู้รับประโยชน์ 25 ราย เนื้อที่ 139.5 ไร่ ได้น้ำไปใช้ในแปลงเกษตรอย่างเพียงพอ ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มจากการปลูกข้าวและพืชหลังนา

ระยะที่ 3 เป็นการต่อระบบท่อ PE ลำน้ำกอนหลวง ระยะทางรวม 6.25 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการหลังจากชาวบ้านว่างเว้นจากฤดูการทำนา โดยเริ่มตั้งแต่ 20 กรกฎาคม 2563

สิ่งสำคัญที่ทำให้โครงการทั้ง 3 ระยะแล้วเสร็จในเวลาไม่นาน เกิดจากการสละแรงงานของชาวบ้านร่วมกันโดยไม่มีค่าจ้าง กับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ ทหารม้า ฉก.ม.4 ชุดพลังมวลชน 3203 ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือนที่ 307 อุทยานแห่งชาติผาแดง ตชด. แพทย์ รพ.สต. เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลทุ่งข้าวพวง อส.

นอกจากเรื่องแก้ไขระบบน้ำด้วยการสำรวจทางกายภาพ เกี่ยวกับที่ดินทำกินของชาวบ้านทั้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแดงและภายนอกอุทยานฯ เพื่อวางแนวทางการส่งเสริมด้านการเกษตรแบบรายแปลง โดยความร่วมมือจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์กรมหาชน) ดำเนินการครบทั้งหมด มีแปลงที่สำรวจทั้งสิ้น 502 แปลง มีการทำแผนที่แบบรายแปลงโดยใช้โดรนช่วยในการทำงานสำรวจ เพื่อจำแนกการใช้ประโยชน์จากที่ดิน พื้นที่ป่า พื้นที่ชุมชน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด สามารถวางแผนพัฒนาพื้นที่โครงการอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นักพัฒนาทางเลือกได้ทำการสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจสังคม เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทชุมชนแบบเดินเท้าไปแต่ละบ้าน ทุกหย่อมบ้าน จนสามารถจัดทำ “แผนที่เดินดิน” ระบุที่อยู่อาศัยแต่ละหลังคาเรือนด้วยมืออย่างละเอียด วิธีนี้ทำให้เกิดการพูดคุยกับชาวบ้านทุกหลังคาเรือน รู้สภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคม สามารถทำปฏิทินชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชนได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการสรุป มีการหารือร่วมกับหน่วยงานทั้งปิดทองหลังพระฯ ตำบลทุ่งข้าวพวง นักพัฒนาอำเภอเชียงดาว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล เศรษฐกิจสังคมและคืนข้อมูลให้กับชาวบ้าน เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน ทำให้ชาวบ้านของบ้านแม่กอน ทั้ง 7 หย่อมบ้านยอมรับการทำ “แผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ ตามพระราชดำริ (พชร.)” ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์