ปลูกผักบนดิน กับผักไร้ดิน แบบไหนอร่อยกว่ากัน? มีคำตอบในโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” จัดโดย รฟม.

ระหว่างผักที่ปลูกบนดิน กับ ผักที่ปลูกในน้ำ รสชาติต่างกันยังไง?
อยากให้เมล็ดพันธุ์งอกเร็วๆ ต้องทำยังไง?
ดอกไม้ในประเทศไทยกินได้จริงหรือ?
ผักไฮโดรโปนิกส์ ปลอดภัยจริงหรือ?
ผักออร์แกนิกต่างกับผักไฮโดรโปนิกส์ยังไง?

เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ซึ่ง อ.ปกรณ์ พิสุทธิชาน ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มผัก และอาจารย์จากศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (มติชนอคาเดมี) มีคำตอบ ในการอบรมกิจกรรมโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” จัดโดยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่สำนักงานเขตวังทองหลาง เมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา

ในการอบรม อ.ปกรณ์ บอกว่า ระหว่างผักที่ปลูกบนดิน กับผักที่ปลูกในน้ำ ความอร่อยจะต่างกัน โดยผักที่ปลูกในน้ำหรือผักไฮโดรโปนิกส์เป็นผักที่ชุ่มน้ำ ทำให้มีความกรอบมากกว่า ส่วนเรื่องเมล็ดพันธุ์ถ้าอยากให้งอกเร็วๆ เคล็ด (ไม่) ลับอยู่ที่ต้องปลูกในที่ไม่มีแสง เก็บในที่ร่ม แต่ถ้างอกแล้วให้เอาไปโดนแสง เพราะพืชต้องการแสงแดดในการสังเคราะห์แสง

ขณะเดียวกัน อ.ปกรณ์ ยืนยันว่า ดอกไม้ในประเทศไทยกินได้เกือบทุกชนิด ส่วนผักไฮโดรโปรนิกส์ถ้ากินในปริมาณปกติจะไม่เป็นอันตราย โดยปริมาณการบริโภคที่เป็นอันตราย จะอยู่ที่ 60 กิโลกรัม ต่อ 1 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้สารไนเตรตสะสมในร่างกายจำนวนมาก

ส่วนผักออร์แกนิก ต่างกับ ผักไฮโดรโปนิกส์ ตรงวัสดุที่ใช้ปลูก ผักออร์แกนิกจะใช้ดินที่ดี ไม่ใช้ปุ๋ย ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ขณะที่ผักไฮโดรโปนิกส์ ใช้น้ำปลูก และใช้ปุ๋ยเป็นสารประกอบ แต่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงเหมือนกัน

อ.ปกรณ์ ให้สัมภาษณ์ด้วยว่า การปลูกผักไร้ดิน ชุมชนจะได้รับประโยชน์ทางด้านการปลูกพืชในพื้นที่จำกัด ทำให้เขามีกิจกรรมนอกเหนือจากกิจกรรมประจำที่เขาทำอยู่ มาปลูกผักรับประทานได้ เบื้องต้นรับประทานในครอบครัว ใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น ขวดพลาสติก หรือขวดอะไรก็ตามที่ต้องทิ้งหรือก็เอามาปลูกผักได้ ถ้าทำแล้วเกิดผลผลิตที่ดี เกิดความชำนาญ เขาสามารถเอาไปต่อยอดจำหน่ายได้ หวังว่าถ้าทุกคนทำแล้วประสบความสำเร็จ แล้วชอบ ก็สามารถเอาไปเป็นอาชีพในอนาคต

“ข้อดีของการปลูกผักไร้ดิน ต่างกับผักใช้ดิน ตรงที่โครงการนี้อยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ในชุมชน ทำให้พื้นที่ในการทำการเกษตรน้อยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่คนที่จะปลูกผักต้องอยู่ตามต่างจังหวัด เป็นพื้นที่ร่องสวน ตรงนี้ทำให้ปลูกผักบนดินมีข้อจำกัดเยอะมาก จึงเกิดโครงการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ขึ้นมา ในพื้นที่จำกัด แต่สามารถปลูกผักได้จำนวนมาก ใช้คนน้อย ศัตรูพืชไม่มี

“ส่วนเรื่องสารปนเปื้อน ถ้าเราปลูกผักไว้กินเอง ปลูกตามบ้านแมลงจะน้อยอยู่แล้ว แต่ต่อให้มันมีแมลงก็ไม่เป็นไร เรากินหมดก่อนแมลงอยู่แล้ว ถ้าปลูกจำนวนเยอะๆ เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ เราจะใช้ชีวภาพป้องกันได้ เพราะแมลงในระบบไฮโดรโปนิกส์น้อยอยู่แล้ว”อ.ปกรณ์ เผย พร้อมแนะนำผักสวนครัวที่สามารถปลูกแบบไร้ดิน อาทิ คะน้า ผักบุ้ง ขึ้นฉ่าย ผักโขม รวมถึง ผักสลัด หรือผักที่เป็นผล เช่น แตงกวา ส่วนผลไม้ อาทิ แคนตาลูป เมล่อน หรือ มะระ

ทั้งนี้ ในกิจกรรมอบรมโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” จัดโดย รฟม. จะมีการอบรมให้กับชาวชุมชนตามแนวสายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ รวม 10 พื้นที่ 10 ครั้ง ในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 ประกอบด้วย ในพื้นที่กรุงเทพฯ เขตห้วยขวาง จตุจักร วังทองหลาง บางกะปิ สวนหลวง บางนา ประเวศ และใน จ.สมุทรปราการ เทศบาลตำบลด่านสำโรง เทศบาลตำบลบางเมือง และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ

นอกจากการอบรมปลูกผักไร้ดินแล้ว ยังได้เชิญ อ.ชีพธรรม คำวิเศษณ์ อาจารย์สอนหลักสูตร Social Media เพื่อการประชาสัมพันธ์ มาอบรมการใช้โซเชียลมีเดีย “แชะ แชร์ ยังไงให้เปรี้ยง” กับคอนเซ็ปต์เปลี่ยนสายตาให้เป็นเงิน โดยสอนเทคนิคการถ่ายคลิปวิดีโอ การโพสต์ลงยูทูบและเฟซบุ๊ก เบื้องต้นให้ด้วย

โดย ปิยะรัฐ เทศดนตรี ที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง รฟม. กล่าวระหว่างเปิดงานว่า อีกไม่นานเกินรอ ในปี 2565 เราจะได้ใช้รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง สำหรับกิจกรรมอบรมโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” ที่ รฟม. ริเริ่มขึ้นมา เนื่องจากนึกถึงความจำเป็น ต่อไปข้าวของแพงขึ้น การที่เราสามารถปลูกผักไว้กินเองที่บ้าน หรือนำไปขาย จะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยด้านเศรษฐกิจของครอบครัว การปลูกผักไร้ดิน ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่เยอะ มีแค่ขวดน้ำ เมล็ดพืช ฟองน้ำ เราก็สามารถปลูกได้ ขณะเดียวกัน รฟม. ได้เปิดกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ ปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” สามารถเป็นช่องทางการขายผลผลิตได้ด้วยค่ะ

ขณะที่ บุญชัย นำเจริญสมบัติ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตทองหลาง กล่าวว่า การอบรมถือเป็นโอกาสอันดีที่พวกเราชาวเขตวังทองหลางจะได้เรียนรู้ทักษะการปลูกผักแบบใหม่ วันนี้จะเป็นการปลูกผักไร้ดิน แบบบ้านๆ เราใช้เศษวัสดุเหลือใช้ ขวดน้ำ นอกจากเอาไว้กินเองแล้ว ยังต่อยอดขายได้ หวังว่าจะทำให้ชาวเขตวังทองหลางมีชีวิตดีขึ้น

“ขอบคุณ รฟม. ที่สนับสนุนให้เกิดโครงการนี้ และ ประมาณเดือนธันวาคม 2563 ผมจะไปเยี่ยมดูผลงานของทุกท่าน และปีใหม่ถ้าอยากให้ของขวัญ ผมคิดว่าผลผลิตตรงนี้ จัดเป็นกระเช้าได้ด้วย” หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตทองหลาง กล่าว