ปธ.ชุมชนวังโสม ชี้ “อบรมปลูกผักไร้ดิน”นวัตกรรมใหม่ของชาวบ้าน ตามหลัก ศก.พอเพียง เล็งภาครัฐหนุนการตลาด

ได้เห็นถึงความตั้งใจของ ป๊ะ(พ่อ) กับ มะ(แม่) ในชุมชนวังโสม เขตบางกะปิ ที่ให้ความสนใจกับการอบรมกิจกรรมอบรมโครงการปลูกผักไร้ดิน “ที่ว่าง กินได้” จัดโดยรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ที่สุเหร่าหัวหมากน้อย เขตบางกะปิ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา ทำให้รู้สึกว่ากิจกรรมอบรมครั้งนี้ มีคุณค่าและมีความเป็นไปได้ในการสร้างอาชีพในอนาคตได้

ในการอบรมครั้งนี้ รฟม. ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ได้จัดกิจกรรมอบรมในพื้นที่ชุมชนตามแนวสายทางของรถไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ย่านลาดพร้าว พัฒนาการ ศรีนครินทร์ ไปจนถึงสำโรง โดยร่วมมือกับศูนย์อาชีพและธุรกิจมติชน (มติชนอคาเดมี) นำ อ.ปกรณ์ พิสุทธิชาน ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มผัก มาสอนปฏิบัติปลูกผักไร้ดิน การปลูกผักในพื้นที่จำกัด เหมาะกับชุมชนเมือง รวมทั้งทฤษฎีความแตกต่างระหว่างการปลูกผักบนดินกับปลูกผักไร้ดิน ที่สามารถนำมากินในครัวเรือน และต่อยอดปลูกขายสร้างรายได้ได้ด้วย

รวมถึง อ.ชีพธรรม คำวิเศษณ์ อาจารย์สอนหลักสูตร Social Media เพื่อการประชาสัมพันธ์ มาอบรมการใช้โซเชียลมีเดีย “แชะ แชร์ ยังไงให้เปรี้ยง” กับคอนเซ็ปต์เปลี่ยนสายตาให้เป็นเงิน โดยสอนเทคนิคการถ่ายคลิปวิดีโอ การโพสต์ลงยูทูบและเฟซบุ๊ก เบื้องต้น

เอกชัย ภักดีผล ประธานชุมชนวังโสม เผยว่า อาชีพของคนในชุมชนวังโสมมีหลากหลาย ทั้งรับราชการ รัฐวิสาหกิจ ลูกจ้าง ข้าราชการ อีกส่วนประกอบอาชีพอิสระ เช่น ค้าขาย เย็บผ้าเย็บปักถักร้อย ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพเล็กๆที่ทำกันมานาน โดยชุมชนวังโสมมีชาวบ้านนับถือศาสนาอิสลาม 100%  อาชีพเย็บปักถักร้อยก็จะเป็นเรื่องของการเย็บเครื่องแต่งกาย เรื่องของสุภาพสตรีในแบบฉบับอิสลาม เช่น ตัดเย็บผ้าคลุมศีรษะ

“ส่วนเรื่องของการปลูกผักไร้ดิน ผมถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของที่นี่ หลายคนยังไม่เข้าใจว่าวิธีการคืออะไร จะปลูกได้จริงไหม สามารถเอาไปบริโภคและไปต่อยอดปลูกขายได้จริงไหม ตรงนี้ยังเป็นเรื่องที่พี่น้องประชาชนในชุมชนตรงนี้ตั้งข้อสังเกตอยู่ จะต้องทำความเข้าใจกันต่อไปว่า ถ้ารวมกลุ่มกันทำ สามารถต่อยอดได้จริงไหม ที่ผ่านมาในชุมชนมีศูนย์ฝึกอาชีพของกรุงเทพมหานคร โดยร่วมกับเขตบางกะปิ สอนอาชีพให้ฟรี 18 วิชาชีพ อาทิ เย็บปักถักร้อย ทำขนมนมเนยสารพัด ตัดผม ฯลฯ

“ในเรื่องของโซเชียลมีเดีย ในชุมชนนี้ยังขาดเรื่องของไวไฟที่เป็นสาธารณะ เพราะฉะนั้นตรงนี้ยังเป็นประเด็นที่ชุมชนเข้าไม่ถึงบางเรื่อง เด็กและเยาวชนเองหรือคนที่สนใจโซเชียลต่างๆยังมีค่าใช้จ่ายสูง อยากให้รัฐมาช่วยส่งเสริมในเรื่องของไวไฟ”ประธานชุมชนวังโสมกล่าว และว่า

ถ้าการปลูกผักไร้ดิน สามารถสร้างอาชีพได้จริง ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในชุมชนนี้ การปฏิบัติจริง ลงมือจริงน่าจะเป็นครั้งแรก เป็นการเริ่มต้นศึกษา ถ้าดีก็จะต่อยอด ต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้องค์ความรู้มากขึ้น ทั้งในเรื่องการตลาด เรื่องการดูแลรักษา ต้องเจาะลึกเข้ามาอีก ถ้าเขาคิดที่จะทำร่วมกันจริง ที่ผ่านมาคนไทยเรายังยึดอะไรก็ได้ที่สะดวกสบาย ซื้อกิน 5 บาท 10 บาท วันนี้เรากำลังจะเปลี่ยนความคิดของคนเหล่านี้ด้วยกระบวนการเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักพระราชา รัชกาลที่ 9 ซึ่งผมเองก็เอาศูนย์ฝึกวิชาชีพลงมาเพื่อให้เขาได้ไปต่อยอดอาชีพของเขาได้ ทำมาหากินได้ แต่ตรงนั้นคงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง

“หลักการหนึ่งคือเรื่องของการตลาด ต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่มืออาชีพ รัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดูเรื่องตลาดให้เขาด้วย ทำออกมาแล้ว เขาสามารถขายได้จริง ซึ่งผักตรงนี้อาจมีราคาสูงกว่าปกติ ซึ่งเราต้องมาทำความเข้าใจกันเรื่องคุณภาพของผัก แต่คนไทยมักจะเลือกของราคาถูก บวกกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงต้องค่อยๆให้ความรู้เขาเป็นระยะๆในวันเวลาที่เหมาะสม

“ผมเชื่อว่าโครงการดีดี ที่รฟม.และมติชนอคาเดมี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น เพราะอยากให้คนไทยมีโอกาสยืนด้วยลำแข้งตัวเอง ถ้าชุมชนไหนยืนด้วยลำแข้งตัวเองไม่ได้ ชุมชนจะไม่มีทางเข้มแข็ง เป็นเหมือนต้นถั่ว ต้องใช้ไม้ค้ำตลอด เพราะฉะนั้นวันนี้การปลุกจิตสำนึกให้รู้จักช่วยเหลือตัวเอง ยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้ และขาดเหลือตรงไหนให้หน่วยงานอื่นเข้ามาเสริม ชุมชนต้องเป็นมือบนบ้าง เป็นมือที่ให้ ไม่ใช่มือที่ขออย่างเดียว แล้วจะมีโอกาสยืนด้วยตัวเองได้”ประธานชุมชนวังโสม กล่าวทิ้งท้าย

เอกชัย ภักดีผล ประธานชุมชนวังโสม
เอกชัย ภักดีผล ประธานชุมชนวังโสม