เวทีคิดใหม่ไทยก้าวต่อภาคเหนือ ชูธงเศรษฐกิจพอเพียงฟื้นประเทศ

เวทีภาคเหนือชูศาสตร์พระราชาฟื้นเศรษฐกิจฐานรากฉุดเศรษฐกิจ สภาพัฒน์เตรียมใช้บทเรียนโควิด เขียนแผน 13 พัฒนาเศรษฐกิจชาติให้ยั่งยืนจากรากเหง้าตัวเอง

เวทีคิดใหม่ไทยก้าวต่อประชาคมภาคเหนือ เสนอชูธงเศรษฐกิจพอเพียงฟื้นประเทศ ใช้วิถีวัฒนธรรมไทยดึงทั่วโลกเที่ยวไทย เชื่อหลังโควิดโลกไม่เหมือนเดิม แต่ไทยจะเป็นหมุดหมายลงทุนสีเขียวและสุขภาพ

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เปิดเผยว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ไทยจะประสบปัญหาอุปสรรครุนแรงจากภายนอกทั้งสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ปัญหาภัยแล้งในประเทศที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี และตามมาด้วยการระบาดของโควิด-19 มูลนิธิปิดทองหลังพระ จึงได้ร่วมกัน 8 องค์กรภาคี จัดเวทีเสวนาระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และจะหารือเวทีกลางที่กรุงเทพฯ ทำข้อสรุปเสนอต่อรัฐบาลประมาณเดือนพ.ย. 2563 เพื่อเป็นอีกแนวทางที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศให้พ้นจากวิกฤติในครั้งนี้

ทั้งนี้ เวทีภาคเหนือ ซึ่งจัดเมื่อ 29 ก.ย. 2563 นั้น ข้อเสนอมีความน่าสนใจในหลายประเด็น โดยประเด็นสำคัญคือ การเสนอให้นำแนวพระราชดำริในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่มาใช้ในการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจและสังคม และเห็นว่าแม้รายได้สำคัญของประเทศจะมาจากภาคท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม แต่ในส่วนของภาคเกษตรจะยังเป็นภาคสำคัญที่จะทำให้ประเทศพ้นวิกฤติไปได้และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต โดยการส่งเสริมการทำการเกษตรเชิงคุณภาพ เกษตรประณีต การทำเกษตรสมัยใหม่ทำน้อยได้มาก การแปรรูปทางการเกษตรที่ลดการสูญเสียให้มากที่สุด รวมถึงการพัฒนาธุรกิจสีเขียว การรีไซเคิลขยะ ธุรกิจที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจขนส่ง และระบบโลจิสติกส์ จะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตหลังโควิด-19

นายโอรส เพชรเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักภาคเหนือ กล่าวในเวทีว่า ภาคเหนือ 17 จังหวัด ประชาชน 11.4 ล้านคน ร้อยละ 17 ของประเทศ มีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ 7 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 8 โดยแบ่งเป็นภาคเกษตร ร้อยละ 16 อุตสาหกรรม ร้อยละ 20 บริการ ร้อยละ 59 (มาจากภาคท่องเที่ยว ร้อยละ 26) จำนวนนักท่องเที่ยวในภาคเหนือ ตัวเลขปี 2562 ประมาณ 35 ล้านคน เป็นคนไทยมากถึง 30 ล้านคน ที่เหลือคือต่างชาติ 5 ล้าน เป็นชาวจีน ร้อยละ 29 รองลงมาคือ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอเมริกา ในช่วงโควิดและในช่วงต้นปีที่ผ่านมาดัชนีรายได้ ดัชนีการบริโภคของทุกส่วนภาคลดลงทุกตัว โดยเฉพาะช่วงล็อกดาว และจากภาวะภัยแล้ง แต่ปัจจุบันเมื่อมีมาตรการผ่อนคลาย ส่งผลให้ตัวเลขเริ่มดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จำนวนนักท่องเที่ยวและการเดินทางผ่านท่าอากาศยานที่เริ่มดีขึ้นจากไทยเที่ยวกันเอง

“ปัจจุบัน เศรษฐกิจของภาคเหนือมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอย่างมีนัยสำคัญคือ ภาคเกษตรลดลงแต่มาเพิ่มด้านบริการและท่องเที่ยว โดยตัวเลข ปี24 ภาคเกษตรโต ร้อยละ 40 บริการ ร้อยละ 45 อุตฯร้อยละ 9 ในปี 62 ปรับเป็นภาคเกษตรร้อยละ 16 บริการร้อยละ 59 และอุตฯ ร้อยละ 2 และจากตัวเลขนักท่องเที่ยว จะเห็นว่าคนไทยเที่ยวมากที่สุด เพราะฉะนั้นนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยของคนไทย จึงสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน และในระยะยาวที่ควรมีมาตรการจูงใจคนไทยเที่ยวไทยมากขึ้น”

นายอนุวัตร ภูวเศรษฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่สิ่งที่กังวลคือ การระบาดรอบสอง จากความไม่แน่นอนของการผลิตวัคซีนของโลกที่อาจล่าช้าไปถึงปี 64 และการระบาดที่ประเทศเพื่อนบ้านที่สร้างความกังวลให้กับไทย สิ่งที่เสนอต่อภาครัฐคือ การวางมาตรการช่วยเหลือต้องชัด และต้องเป็นมาตรการที่คงการจ้างงานให้มากที่สุด เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้และคงการจ้างงานได้ เช่น การอุดหนุนค่าจ้างงานให้เอกชนร้อยละ 30% ระยะเวลา 1 ปีครึ่ง เพื่อคงการจ้างงานในระบบ เหมือนที่รัฐช่วยอุดหนุนค่าจ้างเด็กจบใหม่ การช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้คงการจ้างงาน โดยให้ลดอุปสรรคการเข้าถึงทุนให้มากที่สุด รวมถึงการช่วยเหลือธุรกิจที่อาจขาดสภาพคล่องเพื่อให้สามารถหมุนเวียนธุรกิจได้

“ทั้งนี้ เห็นว่าเงินของรัฐคือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด แต่ควรตรงเป้า ควรหนุนการจ้างงานในระบบให้มาก เพราะนักธุรกิจจีนจะพูดเสมอคือ จ้างงาน 1 คน เลี้ยง 3 คน หากคงจ้างงานไว้ 1 คน ก็ประหยัดงบรัฐที่จะไปอุ้มคนอีก 3 คน เป็นต้น และเห็นว่าธุรกิจสำคัญที่จะมาแรงหลังโควิดคือ ธุรกิจสุขภาพรองรับผู้สูงอายุ ธุรกิจการแปรรูปสิ่งของเหลือใช้ภาคเกษตร และธุรกิจกำจัดขยะ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะมีการหารือในเวทีต่อไป เพราะมีการพูดถึงกันมากขึ้น”

นายโสภณ แท่งเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สัดส่วนคนจนปี 62 ร้อยละ 9.85 หรือประมาณ 6.68 ล้านคน ในภาคเหนือมีตัวเลขความยากจนประมาณ 1.38 ล้านคน จาก 12 ล้านคน เป็นผลมาจากรายได้ภาคเกษตรที่ลดลง อัตราการว่างงานในภาคเหนือไตรมาสแรกของปี 63 ประมาณ ร้อยละ 0.8-1 หรือประมาณ 2.5 หมื่นคน ในช่วงไตรมาสสอง สำนักสถิติแห่งชาติรายงานว่า กระโดดเพิ่มเป็นประมาณ ร้อยละ 2.11 หรือประมาณ 1 แสนคน ซึ่งจากวิกฤติทำให้เห็นว่า ปัญหาเกิดมากที่ระบบเศรษฐกิจฐานราก

“หลังโควิด สภาพัฒน์ เห็นว่า ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนา 2 ด้าน คือ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในส่วนของการพัฒนาฐานราก รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากอย่างจริงจังมากขึ้น โดยส่งเสริมการใช้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ มาพัฒนาฐานราก ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การท่องเที่ยววิถีชุมชน การส่งเสริมผู้ประกอบการในท้องถิ่น เป็นต้น ซึ่งงบประมาณเงินกู้ของรัฐ 4 แสนล้านบาท รัฐบาลได้มีการจัดสรรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย มากกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ทำโคกหนองนาโมเดล เพื่อพัฒนาคน พัฒนาปรับการผลิตภาคการเกษตร ที่ไทยต้องกลับมามองการพัฒนาด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจังทุกภาคส่วน และสองการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการพัฒนาภาคเกษตรสู่เกษตรสมัยใหม่ เกษตรอัจฉริยะ การแปรรูปสินค้าเกษตร และเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของประเทศและของภาคเหนือ สิ่งเหล่านี้ภาคเอกชนสนใจและกำลังจับมือกับสภาพัฒน์ที่จะมาร่วมกันเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ร่วมกัน หลังจากนี้จะมีการหารือเป็นกลุ่มจังหวัดเพื่อร่วมกันเขียนแผน เป้าหมายคือ พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้กระจายไปทั่ว จากปัจจุบันที่ จีดีพี ของประเทศอยู่ที่กรุงเทพฯ มากถึง ร้อยละ 49 โดยจะใช้ผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 เป็นตัวตั้งในการเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13″ นายโสภณกล่าว