29 ต.ค.63 มาฟังให้ชัดๆ “เกษตรอัจฉริยะ” ปิดจุดอ่อน-เพิ่มรายได้เกษตรกรได้อย่างไร

แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่า เป็นผู้ผลิตอาหารและสินค้ารายใหญ่ของโลก แต่เกษตรกรไทยยังมีฐานะยากจน และมีหนี้สินก้อนโต เพราะมีจุดอ่อนหลายประการ เช่น ภาคเกษตรกรของไทยก้าวสู่สังคมสูงวัย เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง เพราะขายของไม่เป็น ไม่รู้จักตลาด 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายกำจัดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง และเพิ่มรายได้เกษตรกร โดยนำนวัตกรรมสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ เกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture) IoT Platform ของกระทรวงเกษตรฯ ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มาใช้ปฏิรูปภาคเกษตรกรรมไทย เพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรให้ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ยกระดับรายได้เกษตรกรไปพร้อมกัน

เนื่องจากภาคเกษตรกรก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย กระทรวงเกษตรฯ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใช้แนวทางแบบ sandbox management เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะได้ง่ายขึ้น แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรในระยะยาว รวมทั้งมุ่งพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และพัฒนาฐานข้อมูลการเกษตร โดยรวม 52 แอปพลิเคชั่น ของ 22 หน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ให้มารวมอยู่ที่แอปพลิเคชั่นเดียวกัน เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงบริการของหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ได้ง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น เช่น การขึ้นทะเบียนเกษตรกร จ่ายค่าธรรมเนียม ฯลฯ

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอัจฉริยะสู่ภาคปฎิบัติ เช่น จัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ พัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับใช้วิเคราะห์และพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะ การพัฒนา IoT Platform การขยายผลแปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะ โดยขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอัจฉริยะผ่านศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ทั่วประเทศ ทั้ง 77 จังหวัด รวมทั้ง ประมวลผลข้อมูล Innovation Catalog และแผนระยะเร่งด่วน (Quick win) ที่แต่ละศูนย์ AIC จะรวบรวมมา เพื่อช่วยให้สามารถขับเคลื่อนดำเนินการแผนเกษตรอัจฉริยะได้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อวางรากฐานการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทยให้เกิดความสมบูรณ์ ทั้งด้านงานวิจัย ด้านการส่งเสริมพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้านงบประมาณ และด้านการพัฒนาเกษตรกร เช่น บูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้หลักการ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เพื่อผลักดันให้การขายสินค้าเกษตรไทยทั้งในประเทศและส่งออก รวมทั้งขับเคลื่อนงานธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรผ่านระบบ E-commerce เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าเกษตรโดยตรงไปยังผู้บริโภคผ่านแอปพลิเคชั่นออนไลน์ต่างๆ

ห้ามพลาด ในวันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 13.00-16.30 น. ณ ห้องประชุมใหญ่หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชนเตรียมจัดสัมมนา ในหัวข้อ “นวัตกรรมใหม่เพื่อเกษตรไทย ยุค 5G” Innovation for new normal นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะขึ้นเวทีปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “นวัตกรรมนำเกษตรไทยรุ่งเรือง” มาฟังให้ชัดๆ แบบเต็มอิ่มอีกครั้งว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมจัดหานวัตกรรมเด่นอะไรบ้าง ที่จะช่วยวางรากฐานงานเกษตรอัจฉริยะของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทยมีสินค้าเกษตรคุณภาพดีเสริฟ์สู่ตลาดโลก ทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้กินดีอยู่ดี มีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต