โอกาส SMEs พัฒนาผลิตภัณฑ์กระชายดำเจาะตลาดโลก

‘กระชายดำ’ สมุนไพรไทยอีกชนิดที่เรียกได้ว่ามีไม่พอขาย เพราะปัจจุบันต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นให้ความนิยมอย่างมาก ดังนั้น ถ้าสามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จะสร้างโอกาสอย่างมาก สำหรับตลาดสมุนไพรกระชายดำที่กระแสแรงในตลาดต่างประเทศ
#กระชายดำ #bangkokbank #bangkokbanksme #sme

สมุนไพรที่กำลังได้รับความนิยมสูงสุดอยู่ในขณะนี้คือ “กระชายดำ” คนญี่ปุ่นเรียก โสมดำ เนื่องจากสรรพคุณมากมายและสามารถช่วยรักษาโรคต่างๆ ได้เกือบ 100 ชนิด ทำให้ความต้องการสมุนไพรในตลาดทั้งประเทศไทยและตลาดโลกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งเมื่อพูดถึงสมุนไพรไทยสำหรับเพศชาย กระชายดำนับเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่เชื่อกันว่า มีสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ทำให้ท่านชายฟิตปั๋งได้ ซึ่งทำให้ในระยะหนึ่งเกิดกระแสกระชายดำฟีเวอร์ มีการส่งเสริมให้ปลูก และทำเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อปออกมาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้กระชายดำเป็นหนึ่งในสมุนไพร 5 ตัว ที่เป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนอีกด้วย

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

จากข้อมูลรายงานการวิจัยสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า กระชายดำ มีผลเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ โดยมีผลต่อพฤติกรรมทางเพศ เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะเพศ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะเพศคลายตัว ส่งผลให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มาสนับสนุนสรรพคุณพื้นบ้านของกระชายดำในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ กระชายดําไม่ได้เป็นยาปลุกอารมณ์ทางเพศ แต่ช่วยทำให้อวัยวะเพศชายแข็งตัวได้ง่ายและบ่อยขึ้น มีระยะเวลาในการแข็งตัวที่นานขึ้น

นอกจากนี้ กระชายดำกับสรรพคุณทางยา โดยเหง้าใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ขับลม แก้บิด แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียด ช่วยรักษาอาการโรคกระเพาะจากการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา และข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์พบว่า กระชายมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ต้านการอักเสบเทียบได้กับยาหลายชนิด เช่น แอสไพริน อินโดเมธาซิน และเพรดนิซิโลน

 

สามารถเพาะปลูกทั่วทุกภูมิภาคของไทย

กระชายดำ เป็นพืชในวงศ์เดียวกับกระชาย ข่า ขิง ขมิ้น เนื่องจากมีเหง้าคล้ายขิง แต่เนื้อในมีสีออกม่วงดำ มีชื่อที่คุ้นเคยว่า โสมไทย หรือโสมกระชายดำ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Kaempferia parviflora หรือมีชื่อภาษาอังกฤษ คือ black ginger กระชายดำเป็นพืชพื้นเมืองเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในประเทศไทยพบขึ้นตามธรรมชาติบนภูเขา ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 630 เมตร หรือมากกว่า โดยปัจจุบันมีการเพาะปลูกทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งแหล่งปลูกที่สำคัญส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดเลย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก เชียงใหม่ และเชียงราย

กระชายดำ สามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ โดยพิจารณาจากสีของเนื้อในเหง้า ได้แก่ กลุ่มที่มีเนื้อในเหง้าสีม่วง ม่วงเข้ม จนถึงม่วงดำ และกลุ่มที่มีเนื้อในเหง้าสีจาง เนื่องจากมีความเชื่อว่าสีของเนื้อในเหง้าเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพของกระชายดำ ในทางการค้าจึงมักนิยมกระชายดำมีเนื้อในเหง้าสีม่วงเข้ม ซึ่งเชื่อว่ามีคุณภาพดี ถ้าเนื้อเป็นสีม่วงอ่อนจะถูกคัดไปเป็นกระชายม่วง ซึ่งเชื่อว่าคุณภาพด้อยกว่า

 

การขยายพันธุ์กระชายดำไม่ยุ่งยาก

การเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์กระชายดำเพื่อเชิงพาณิชย์เป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยาก เนื่องจากเป็นพืชที่ชอบสถานที่ร่ม ปลูกในดินร่วนซุย หรือเป็นดินปนทรายที่มีการระบายน้ำดี ยิ่งสภาพอากาศหนาวเย็นยิ่งเจริญเติบโตดี โดยการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการแบ่งเหง้าออกมาปลูก ปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าอยากได้หัวหรือเหง้ามีคุณภาพต้องปลูกและเก็บเกี่ยวตามฤดูกาล คือปลูกในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม

 

ผลิตภัณฑ์ทำจากกระชายดำมีอะไรบ้าง ?

ในปัจจุบันนี้จะพบเห็นผลิตภัณฑ์ของกระชายดำวางจำหน่ายในท้องตลาดหลากหลาย เช่น อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งไข่เค็มกระชายดำ กระชายดำผง ชากระชายดำ ไวน์กระชายดำ กาแฟกระชายดำ ลูกอมกระชายดำ ด้านความงาม เช่น สบู่ น้ำมันนวดตัวกระชายดำ มาส์กพอกหน้ากระชายดำ น้ำมันหอมระเหยกระชายดำ ส่วนผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น สารสกัดกระชายดำ แคปซูลกระชายดำ ยาน้ำกระชายดำ ยาหม่องกระชายดำ เจลกระชายดำ แผ่นแปะกระชายดำ

 

ตลาดหลักของกระชายดำไทยญี่ปุ่น-CLMV

กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ตลาดสมุนไพรไทยของประเทศไทย มีมูลค่ารวมการส่งออกรวมในปี 2562 มากกว่า 146,605 ล้านบาท และมีมูลค่าการนำเข้า 280,164 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวสูงในทุกปี ส่วนตลาดสมุนไพรในโลกมีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดหลัก ได้แก่ ญี่ปุ่น ตลาดกลุ่ม CLMV ที่ประกอบไปด้วยประเทศ กัมพูชา ลาว สหภาพเมียนมา และเวียดนาม ส่วนตลาดรอง ได้แก่ ตลาดจีน และอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เป็นต้น

ขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ได้แก่

  1. บริษัท ห้าตะขาบ จำกัด (ผลิตภัณฑ์ตราห้าตะขาบ)
  2. บริษัท ขาวละออเภสัช จำกัด
  3. โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
  4. บริษัท โกลด์คลอส จำกัด (น้ำมันเหลือง)
  5. บริษัท วิเศษ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ผลิตภัณฑ์หมอเส็ง)
  6. บ้านสวนสมุนไพรชัยศิขริน

สำหรับประเทศที่มีการนำเข้าสมุนไพรสูงสุดอันดับหนึ่ง ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา รองลงมา เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ ส่วนประเทศที่มีการส่งออกอันดับหนึ่ง จีน รองลงมา สหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมนี และฝรั่งเศส ตามลำดับ

สมุนไพรไทยมีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องและมีความต้องการอยู่ในระดับสูง จึงเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการของประเทศไทยให้มาขยายตลาดสมุนไพรเจาะตลาดโลก ตั้งแต่กลุ่มต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำที่จะพัฒนากระชายดำตั้งแต่ต้นน้ำให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสากล จนถึงกลางน้ำที่จะนำวัตถุดิบ สารสกัดที่มีคุณภาพ นำมาใช้ประโยชน์พัฒนาผลิตภัณฑ์กระชายดำตามความต้องการของตลาดมากที่สุด ส่วนปลายน้ำที่จะต้องส่งเสริมการขยายตลาดและการเปิดตลาดผู้บริโภคกลุ่มใหม่

 

สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<

 ศาสตร์ภูมิปัญญาไทย โอกาสตีตลาดเครื่องสำอางสหรัฐฯ 

ดันน้ำปลา ปลาร้า สมุนไพรไทยเจาะตลาดแคนาดา

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพ
คลิกหรือสายด่วน1333