มทร.สุวรรณภูมิ นำเทคโนโลยียกระดับการเลี้ยงปลาช่อนแบบครบวงจร

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) พัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีชั้นสูงตอบสนองอุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรม 4.0 ตลอดจนเทคโนโลยีดิจิตอล การบริหารจัดการและการท่องเที่ยว ควบคู่กับการให้บริการแก่ชุมชนสังคมบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โดยมีทีมอาจารย์นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลงพื้นที่ทำงานวิจัย เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี บนฐานศักยภาพ ทรัพยากรชุมชน และภูมิปัญญาพื้นถิ่น โดยนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ปัญหาให้กับชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง ทั้งในศูนย์พื้นที่ที่จัดการเรียนการสอนและพื้นที่ใกล้เคียง

รศ. ดร. เจษฎา อิสเหาะ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มทร.สุวรรณภูมิ เปิดเผยว่าได้ร่วมมือกับคณาจารย์และนักศึกษาจัดตั้งโครงการหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเลี้ยงปลาช่อน แบบครบวงจรบ้านห้วยคันแหลน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีกลุ่มผู้เลี้ยงปลาช่อนกว่า 50 ราย ปัญหาที่พบ คือ การเลี้ยงไม่เป็นระบบ ต้นทุนการผลิตสูง ขาดเทคโนโลยีช่วยการผลิต ขาดมาตรฐานในการแปรรูป ราคาปลาช่อนตกต่ำ ขาดช่องทางการตลาดและประสบปัญหาภัยแล้ง ทางทีมงานจึงมีแนวทางในการพัฒนาแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดเป้าหมายโครงการเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของผลผลิตและผลิตภัณฑ์ควบคู่กับกระบวนการผลิตอยู่ภายใต้ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีการอนุบาลชำลูกปลาช่อนในกระชังพร้อมประเมินอัตราความหนาแน่นและอัตราการใช้อาหารที่เหมาะสมเพื่อเป็นแนวทางในการลดต้นทุน พร้อมการจัดการคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงด้วย ความต้องการของกลุ่มเกษตรกรคือต้องการตลาดที่แน่นอนและตลาดที่ขายได้ราคาที่เหมาะสม องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่

ด้าน นายไพศาล บุรินทร์วัฒนา อธิการบดี มทรส.กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการดำเนินการโครงการดังกล่าวทำให้เกษตรกรมีผลผลิตจำนวนปลาช่อนต่อปีประมาณ 550,000 กิโลกรัม และมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ปลาช่อนอบแห้งปลาช่อนร้าปลอดภัย การพัฒนาฉลาก ตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตปลาช่อน พร้อมออกแบบและพัฒนาเครื่องอบปลาช่อนระบบปั๊มความร้อนประหยัดพลังงาน (Heat Pump Dyer) สำหรับชุมชนทำให้เกษตรกรสามารถปลดหนี้ได้ 10 ล้านกว่าบาทภายในระยะเวลา 2 ปีและในปี 2564 จะดำเนินการเพิ่มเติมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ กล่าวคือต้นน้ำจะมีการใช้เครื่องให้อาหารปลาอัตโนมัติ ยกระดับกลุ่มผู้เลี้ยงปลาช่อนเพื่อประเมินตนเองให้ได้รับมาตรฐาน GAP อย่างยั่งยืน มีเทคโนโลยีการจัดการคุณภาพน้ำทิ้งจากบ่อเลี้ยงปลาช่อน ส่วนกลางน้ำ จะมีการนำเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาช่อนประเภท น้ำพริก คุกกี้ ทองม้วน ปลาป่นชนิดผงและก้อนปลอดภัย การพัฒนาฉลาก ตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ปลาช่อนพร้อมปรับปรุงสถานที่ผลิตอาหารให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน GMP  ในส่วนของปลายน้ำ จะมีการจัดระบบตรวจสอบย้อนกลับในกระบวนการผลิตปลาช่อน เพิ่มโปรแกรมสั่งซื้อออนไลน์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งจะสามารถยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมั่นคง เป็นประโยชน์ทั้งทีมคณาจารย์ในการบริการชุมชน นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริงและสัมผัสวิถีชีวิตชุมชน ประการสำคัญเกษตรกรมีรายได้มีอาชีพอย่างยั่งยืนด้วย