เข้มส่งออกทุเรียนภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ระยอง NO COVID-19 พร้อมสกรีนทุเรียนอ่อน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 2563 มาถึงระลอก 2 ช่วงปลายธันวาคมถึงต้นปี 2564 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทย โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อมีการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดง) มี 3 จังหวัดภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนใหญ่ที่สุดของประเทศ มูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท พร้อมๆ กับจีนเองพบการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้จีนเข้มงวดการป้องกันและควบคุมการนำเข้าผลไม้ สร้างความหวั่นวิตกให้เกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออก เนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคมนี้ทุเรียนจะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ปี 2564 ข้อมูลสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ทุเรียนในจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด จะมีประมาณ 600,000 ตัน ดังนั้น ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชน จึงร่วมมือกันควบคุมผลผลิตทุเรียนไทยปลอดโควิด-19 ร้อยเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ในสวน โรงคัดบรรจุ และระบบการขนส่ง พร้อมๆ กับควบคุมคุณภาพไม่ให้มีทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดอีกด้วย

คุณสุธี ทองแย้ม ผวจ.จันทบุรี

มาตรการควบคุมการใช้ใบ GAP และป้องกันทุเรียนอ่อน

คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี (สวพ.6) กล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกทุเรียนไทยไปตลาดจีนว่า สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GENERAL ADMINISTRATION OF CUSTOMS OF THE P.R.CHINA:GACC) ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการสุ่มตรวจการนำเข้า 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผลผลิต แต่จากการสุ่มตัวอย่างสินค้าจากไทยยังไม่มีการพบเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ขอให้ไทยเข้มงวดในด้านสุขอนามัย ตามมาตรฐาน GMP และ HACCP

ผอ.ชลธี นุ่มหนู

“ปัญหาการสวมสิทธิ์และการใช้ใบรับรอง GAP หมุนเวียน กรมวิชาการเกษตร กำหนดจำนวนการใช้ใบรับรอง GAP กับสัดส่วนปริมาณผลผลิต อัตรา 5 ไร่ ต่อ 1 ตู้คอนเทรนเนอร์ (จากปริมาณผลผลิตไร่ละ 4,000 กิโลกรัม) หากเกษตรกรลงนามในใบรับรอง GAP ให้ระบุปริมาณผลผลิตที่ขายด้วย ปัจจุบันเกษตรกรสวนทุเรียนยังมีใบรับรอง GAP ไม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้ขอให้ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนช่วยประชาสัมพันธ์ ความสำคัญเปรียบเสมือนเครื่องมือยืนยันกระบวนการผลิตทุเรียนที่ได้มาตรฐานของเกษตรกรไทย ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้า สามารถตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิตได้ หากอนาคตประเทศคู่ค้าเข้มงวดมาตรฐานการผลิตมากขึ้น” ผอ.ชลธี กล่าว

ส่วนการแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดที่ยังพบเป็นปัญหาต่อเนื่อง สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้วางมาตรการให้จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ปฏิบัติดังนี้

  1. การบังคับใช้ พักใช้ ยกเลิก เพิกถอนใบรับรอง GAP กรณีตรวจพบว่าตัดทุเรียนอ่อน ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดคุณภาพมาตรฐาน
  2.  ประกาศให้ วันที่ 10 เมษายน 2564 เป็นวันเก็บเกี่ยวทุเรียนหมอนทอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด ถ้าทุเรียนหมอนทองแก่ได้ตามมาตรฐาน 32 เปอร์เซ็นต์ ของเนื้อแป้งจะออกใบรับรองใช้แนบกับสำเนา GAP ถ้าเกษตรกรตัดก่อนกำหนดให้แจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ประจำตำบล อำเภอเข้าตรวจสอบความอ่อน-แก่ และโรงคัดบรรจุที่จะแพ็กทุเรียนก่อนวันประกาศเก็บเกี่ยวต้องแจ้ง สวพ.6 และด่านตรวจพืช ตรวจสอบ
  3.  ตั้งชุดเฉพาะกิจตรวจสอบทุเรียนอ่อน จุดตรวจและเข้าตรวจโรงคัดบรรจุ
  4. ตั้ง Group Line ป้องกันทุเรียนอ่อนและเตรียมความพร้อมวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือทดสอบความอ่อนแก่ของทุเรียน

ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ออกมาตรการเข้ม

ทุเรียนไทยปลอดโควิด-19

มาตรการCovidชาวสวนของสมาคมทุเรียนไทย

คุณสุชาติ จันทร์เหลือง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี ชี้แจงว่า คุณสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและผู้แทนภาคเอกชน เช่น นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด (DMA) ผู้แทนสมาคมชาวสวนทุเรียนแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) สมาคมทุเรียนไทย (TDA) สมาคมการค้าและท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผลผลิตทุเรียนของจังหวัดจันทบุรี ปลอดภัยโควิด-19 และไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดจีน โดยมีประกาศมาตรการเฝ้าระวังและการแพร่ระบาดโควิด-19 3 มาตรการ คือ 1. สำหรับเกษตรกร ชาวสวน 2. ผู้ประกอบการ สถานประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง) 3. ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการขนส่ง สินค้าเกษตร (ผลไม้)

บรรจุกล่องปลอดโควิด 19

“ก่อนหน้านี้มีข่าวจีนระงับซื้อทุเรียนไทย เนื่องจากพบเชื้อโควิด-19 ในตู้คอนเทรนเนอร์ขนส่งทุเรียนนั้น สร้างความตื่นตระหนกให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ จังหวัดจันทบุรีจึงเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดผู้บริโภคเพื่อยืนยันทุเรียนไทยปลอดภัยจากโควิด-19 ซึ่งทาง คุณอดิศร จันทรประภาเลิศ อัครราชฑูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) ผู้อำนวยการ สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง ได้แจ้งว่า ได้สอบถามไปยังสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง กรณีมีข่าวการระงับการนำเข้าทุเรียนไทยเนื่องจากตรวจพบเชื้อโควิด-19 นั้น ได้รับการยืนยันจากสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ว่าไม่พบรายงานข่าวการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในตู้คอนเทรนเนอร์ขนส่งทุเรียน และจีนมิได้ระงับการนำเข้าทุเรียนไทยแต่อย่างใด” คุณสุชาติ กล่าว 

3 สมาคม ผนึกกำลังสร้างความเชื่อมั่น

จันทบุรีผลไม้ NO COVID-19

พ่นฆ่าเชื้อ

คุณภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวว่า มาตรการสำหรับผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุและผู้ปฏิบัติงาน ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเกษตร (ผลไม้) ตามประกาศจังหวัดระบุให้นำรถบรรทุกตู้คอนเทรนเนอร์ขนส่งสินค้าเพื่อการส่งออกเข้ารับการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ที่ อบจ.จันทบุรี ก่อนไปบรรทุกบรรจุภัณฑ์ที่โรงคัดบรรจุ ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป รถที่ฉีดพ่นฆ่าเชื้อแล้วสมาคมจะออกใบรับรองให้ โดยรถตู้คอนเทรนเนอร์จากจังหวัดตราดเป็นทางผ่านสามารถใช้บริการที่ อบจ.จันทบุรีได้ ส่วนจังหวัดระยองจะมีการประสานงานอีกครั้งเพราะต้องทำทั้ง 3 จังหวัด

บรรจุภัณฑ์ส่งเครื่องบิน

“จันทบุรีปลดล็อกเป็นพื้นที่ควบคุมให้เข้า-ออก ต้องป้องกัน ควบคุมการแพร่เชื้อโควิด-19 ตู้บรรจุสินค้าที่เข้ามาในพื้นที่อย่างเข้มงวด โรงคัดบรรจุต้องดูแลกันเอง ปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุขทุกขั้นตอน การฉีดพ่นในโรงคัดบรรจุ ตู้คอนเทรนเนอร์สมาคมทำมาตั้งแต่โควิด-19 ปี 2563 แล้ว แต่ปีนี้เป็นนโยบายของจังหวัดทำแบบเข้มข้น ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ระหว่างภาครัฐกับเอกชน อาทิ คุณมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ คุณธนภณ กิจกาญจน์ นายก อบจ.จันทบุรี คุณเฉลิมพล ศักดิ์คำ ประธานสันนิบาตเทศบาลจังหวัดจันทบุรี สมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จังหวัดจันทบุรี สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา สภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี เริ่มพ่นฆ่าเชื้อไวรัสตั้งแต่กลางเดือนมกราคม ตามแหล่งชุมชนแบบปูพรม และโรงคัดบรรจุ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับฤดูกาลผลไม้ เมื่อบรรจุทุเรียนลงตู้แล้วจะพ่นฆ่าเชื้อก่อนปิดตู้คอนเทรนเนอร์ เจ้าหน้าที่หน่วยกักกันพืชตรวจสอบ ทุกอย่างต้องควบคุมทั้งระบบจากต้นทางถึงปลายทาง” คุณภาณุวัชร์ กล่าว

แพกเกจจิ้ง บ.รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ปขึ้นเครื่องบิน

คุณภานุศักดิ์ สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด-19 สมาคมได้เร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศคู่ค้า เพราะใกล้ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวทุเรียน (เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม) จะทำให้ได้รับผลกระทบและสูญเสียรายได้มากกว่า 70,000 ล้านบาท เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกรเองและผลกระทบการส่งออกทุเรียน จึงได้ร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด ทำคลิปวิดีโอ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน เร่งสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการบริโภคทุเรียนจากไทยว่าปลอดภัยจากโรคโควิด-19 มีการรณรงค์มาตรการการป้องกันเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่การพ่นฆ่าเชื้อตั้งแต่ต้นทางสวนทุเรียน การควบคุมดูแลแรงงาน ตามแนวทางของภาครัฐภายใน การมีจุดตรวจวัดอุณหภูมิ ทำความสะอาด การเว้นระยะห่าง รวมทั้งโรงคัดบรรจุ ระบบขนส่ง และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าและกลุ่มผู้ส่งออกทุเรียนไทยไปจีนที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุด และจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์ภาษาเกาหลีเพิ่มเติม

สารฆ่าเชื้อ

“แนวทางการบริหารจัดการผลไม้ มาตรการจัดทำขึ้น แสดงถึงการดำเนินการอย่างเข้มงวดเรื่องการป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับประเทศผู้นำเข้าทุเรียนไทยนี้ สมาคมได้นำเสนอต่อ คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (fruit board) ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของสินค้าเกษตรชนิดอื่น ในการสื่อสารไปยังจีนประเทศหลักนำเข้าทุเรียนไทย ส่งผลให้ปัจจุบันศุลกากรจีนได้ลดการตรวจแบบเข้มงวดสูงสุดการนำเข้าทุเรียนไทย ตอนนี้จัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์ภาษาเกาหลีเพิ่มเติมด้วย” คุณภานุศักดิ์ กล่าว