กรมส่งเสริมการเกษตร พัฒนาเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐาน GAP ให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพ ปลอดภัยทั้งระบบ

ด้วยสถานการณ์การผลิตพืชอาหารทางการเกษตรเริ่มให้ความสำคัญไปที่การผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออกเพราะปัจจุบันข้อจำกัดทางด้านการค้าระหว่างประเทศในการส่งผลผลิตทางการเกษตรไปจำหน่าย มีข้อบังคับว่าด้วยสินค้าทางการเกษตรต้องผ่านมาตรฐานการรับรองที่เป็นสากล

ดังนั้น สินค้าทางการเกษตรจึงควรมีมาตรฐานการรับรองที่เป็นสากล เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร GAP (Good Agricultural Practice) หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีเป็นแนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี และปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด GAP จึงเป็นมาตรฐานที่ครอบคลุมการผลิตสินค้าเกษตรครบวงจร ตั้งแต่ ปัจจัยการผลิต การผลิต การเก็บเกี่ยว การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งการผลิต ทั้งนี้มาตรฐาน GAP ก็จะเป็นกระบวนการผลิตหนึ่งที่ก่อให้เกิดความยั่งยืนทางการเกษตร สิ่งแวดล้อม รวมถึงเศรษฐกิจและสังคม

มาตรฐาน GAP ดำเนินการออกใบรับรองโดยกรมวิชาการเกษตร แต่ในทางปฏิบัติเกษตรต้องการข้อมูล ความรู้ และความเข้าใจในการปฏิบัติ เพื่อผลิตสินค้าเกษตรให้ได้ตามข้อกำหนดมาตรฐาน GAP โดยกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานที่เป็นแกนหลักในการพัฒนาเกษตรกรให้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นจังหวัดหนึ่งที่สินค้าทางการเกษตรมีความหลากหลายไม่น้อยไปกว่าจังหวัดอื่น เมื่อให้ความสำคัญไปที่การขอมาตรฐาน GAP แล้ว พบว่าจังหวัดฉะเชิงเทรา มีเกษตรกรที่รวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่ และวิสาหกิจชุมชน ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP แล้วหลายราย

นายดนัย ปัญจพิทยากุล เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา

นายดนัย ปัญจพิทยากุล เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ทางการเกษตรของจังหวัดมีมากกว่า 1 ล้านไร่ มีข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก มีพื้นที่กว่า 600,000 ไร่ รองลงมาเป็นไม้ผล ได้แก่ มะม่วง มะพร้าว ยางพารา เป็นต้น ซึ่งหน้าที่ที่สำคัญตามยุทธศาสตร์ของกรมส่งเสริมการเกษตร ก็เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกทั้งสินค้าต้องตรงความต้องการของตลาด

เพื่อการจำหน่ายสินค้าเกษตรไม่สะดุด ไม่เกิดปัญหาเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา ระบุด้วยว่าการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร จึงเป็นหลักสำคัญเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองเข้าสู่การรับรองมาตรฐาน GAP โดยบทบาทที่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ต้องเข้าถึงเกษตรกร คือการถ่ายทอดความรู้ ติดตาม ให้คำปรึกษา ตรวจประเมินแปลงเบื้องต้น และส่งรายชื่อเกษตรกรให้หน่วยตรวจรับรอง เพื่อตรวจประเมิน

ทั้งนี้ จังหวัดฉะเชิงเทรามีเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐาน GAP แบ่งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบ ได้รับมาตรฐาน GAP ครบทั้ง 30 ราย กลุ่มแปลงใหญ่มะพร้าวอำเภอคลองเขื่อน จำนวน 38 ราย ได้รับมาตรฐาน GAP 19 ราย กลุ่มแปลงใหญ่ลำไยอำเภอสนามไชยเขต จำนวน 30 ราย ได้รับมาตรฐาน 8 ราย กลุ่มเห็ด มี 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแปลงใหญ่เห็ดอำเภอท่าตะเกียบ กลุ่มแปลงใหญ่เห็ดฟางอำเภอพนมสารคาม กลุ่มแปลงใหญ่เห็ดอำเภอสนามชัยเขต ทั้งหมดจำนวน 56 ราย ได้รับมาตรฐาน GAP จำนวน 33 ราย กลุ่มแปลงใหญ่พืชผักอำเภอสนามชัยเขต จำนวน 29 ราย ได้รับมาตรฐาน GAP จำนวน 13 ราย กลุ่มแปลงใหญ่ขนุนอำเภอแปลงยาว ได้รับมาตรฐานGAP 29 ราย จากจำนวน 30 ราย

สำหรับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับพืชอาหารตามข้อกำหนด 8 ข้อ เพื่อการขอรับรอง GAP พืช คือ

Advertisement

1.น้ำ น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตต้องมาจากแหล่งที่ไม่มีสภาพแวดล้อม ซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนต่อผลผลิต

2.พื้นที่ปลูก ไม่อยู่ในสภาพแวดล้อม ซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุหรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผลผลิต

Advertisement

3.วัตถุอันตรายทางการเกษตร จัดเก็บเป็นหมวดหมู่ในสถานที่เก็บที่มิดชิด และใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

4.การจัดการคุณภาพในกระบวนการเก็บเกี่ยว มีแผนควบคุมการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพตามความต้องการของตลาดและข้อตกลงของประเทศคู่ค้า

5.การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีอายุเหมาะสม ผลผลิตที่มีคุณภาพตามความต้องการของตลาดและข้อตกลงของประเทศคู่ค้า

6.การพักผลิตผล การขนย้ายในแปลงปลูกและการเก็บรักษาผลผลิต มีการจัดการด้านสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่มีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

7.สุขลักษณะส่วนบุคคล ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความเข้าใจในสุขลักษณะส่วนบุคคล เพื่อสามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกสุขลักษณะ

8.การบันทึกข้อมูลและการตามสอบ มีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัตงานการใช้สารเคมี ข้อมูลผู้รับซื้อและปริมาณผลผลิต เพื่อประโยชน์ต่อการตามสอบ

การลงพื้นที่ติดตามให้คำแนะนำและปรึกษาของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร

นางสาวอังคณา นาเมืองรักษ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา อธิบายการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในการช่วยให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ว่า เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร มีหน้าที่อบรมถ่ายทอดความรู้ ติดตาม เตรียมความพร้อมและให้คำแนะนำเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรในการตรวจติดตามประเมินแปลง ประสานเครือข่ายเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ในการให้คำแนะนำแก่ผู้รับการตรวจประเมิน

เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินการขอรับรอง และประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรฐาน GAP ปรับปรุงสมุดจดบันทึกกิจกรรมทางการเกษตรให้เกษตรกรสามารถเข้าใจได้ง่าย ตรวจประเมินแปลงเบื้องต้นของเกษตรกร ก่อนขอรับการตรวจรับรองมาตรฐาน ประสานงานศูนยวิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทรา เพื่อส่งเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ โดยดูจากความพร้อม และประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากการขอรับรองมาตรฐาน

นางสาวอังคณา กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการให้ความสำคัญการรับรองมาตรฐาน GAP แบบกลุ่มแล้ว ยังให้ความสำคัฐกับเกษตรกรรายเดี่ยว ที่ต้องการมาตรฐาน GAP จึงมีการสำรวจและผลักดันการขอรับรองมาตรฐาน GAP ให้กับเกษตรรายเดี่ยวที่ต้องการรับรองมาตรฐาน GAP ด้วย ซึ่งการทำงานที่สำคัญ ต้องมุ่งเน้นไปที่การแนะนำเกษตรกรในการเริ่มต้นขอรับรองมาตรฐาน เช่น เริ่มต้นการจดบันทึก และทำตามข้อกำหนดในเบื้องต้น รวมถึงการถ่ายทอดความรู้และฝึกฝนให้คำแนะนำเกษตรกรให้สามารถเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรด้วยกันเองในเบื้องต้นอีกด้วย

“กรณีเป็นพืชที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องใช้สารเคมีในการจัดการแปลง เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรเองต้องมีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น เพราะข้อกำหนดเรื่องวัตถุอันตรายทางการเกษตรมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก เช่น การจดบันทึกชื่อสารเคมีที่ใช้ต้องเป็นชื่อสามัญ ไม่ใช่ชื่อทางการค้า แต่ถ้าเป็นพืชอื่น เช่น เห็ด ผักสลัด หรือพืชอายุสั้น ไม่มีการใช้สารเคมีหรือวัตถุอันตรายทางการเกษตร ก็จะมุ่งเน้นไปที่การพักผลิตผล การขนย้ายในแปลงปลูกและการเก็บรักษาผลผลิต มีการจัดการด้านสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่มีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคหรือไม่” นางอังคณา กล่าว

คุณสายัณห์ เมินพิมาย สมาชิกและประชาสัมพันธ์กลุ่มแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบ (ซ้าย) ทำหน้าที่เป็น Q อาสา ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรพื้นที่อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพื้นที่ที่มีเกษตรกรรวมกลุ่มแปลงใหญ่ และตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตลำไยอำเภอท่าตะเกียบ และแปลงใหญ่เห็ดตำบลคลองตะเกราจุดเด่นของกลุ่มแปลงใหญ่ไผ่อำเภอท่าตะเกียบ ซึ่งมีสมาชิก 60 ราย ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว 44 ราย

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ GAP กลุ่ม มี Q อาสา เป็นผู้ตรวจประเมินเบื้องต้น ในลักษณะของเกษตรกรแนะนำเกษตรกรด้วยกันเองและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการผลิตพืชอาหารปลอดภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลผลิตจากไผ่ที่ได้เป็นการจำหน่ายหน่อไผ่สด และผลิตหน่อไม้นอกฤดูได้ดี แต่หากมีมากในช่วงฤดูการผลิต จะนำไปแปรรูปเป็นหน่อไม้ดอง หน่อไม้ปรุงรส เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต

แปลงลำไย ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตลำไยอำเภอท่าตะเกียบ มีคุณพิเชษฐ์ หงษา เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนฯ เริ่มได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ในปี 2562 ถึงปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มที่ได้รับการรับรองมาตฐาน GAP แล้ว 46 ราย และเห็นความสำคัญของการปฏิบัติตามข้อกำหนดการขอรับรองมาตรฐาน GAP เพราะเห็นว่า เป็นพื้นฐานการของการทำเกษตรปลอดภัย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผลผลิตได้รับการยอมรับทั้งตลาดภายในประเทศและเป็นช่องทางหนึ่งของการทำตลาดต่างประเทศด้วย

จุดล้างสารเคมี ในแปลงไม้ผล ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อกำหนดเรื่อง วัตถุอันตรายทางการเกษตร
คุณกัญญาภัค สกุลศรี ประธานแปลงใหญ่เห็ดตำบลคลองตะเกรา

ด้านคุณกัญญาภัค สกุลศรี ประธานแปลงใหญ่เห็ดตำบลคลองตะเกรา กล่าวว่า เดิมกลุ่มรวมตัวกันเพื่อการนำผลผลิตส่งจำหน่ายไปยังตลาดสดของจังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี โดยมีรถมารับซื้อถึงแปลงทุกวัน ในช่วงแรกยังไม่เห็นความสำคัญของการขอรับรองมาตรฐาน GAP กระทั่งเริ่มขยายตลาดส่งเห็ดไปยังตลาดไท ซึ่งการส่งผลผลิตไปยังตลาดไท ที่เป็นตลาดกลางค้าส่งสินค้าทางการเกษตรระดับประเทศ จำเป็นมากที่ผลผลิตควรผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค จึงเห็นความสำคัญ และได้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด ให้คำแนะนำ ปรึกษา ช่วยเหลือ กระทั่งปัจจุบันโรงเรือนเห็ดของสมาชิกผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP ไปเกือบครบแล้ว

เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ให้คำแนะนำเรื่องการจัดการด้านสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่มีผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

แม้ว่า การพัฒนาเกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP ของเกษตรกรแต่ละพื้นที่ ประสบความสำเร็จไปมากแล้ว แต่ยังมีเกษตรกรอีกจำนวนมากที่รอการส่งเสริมและพัฒนา เพื่อเข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐาน GAP อยู่ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ มีความพร้อมให้คำแนะนำ ปรึกษา และช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการผลักดันตนเองหรือกลุ่มเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GAP โดยเกษตรกรสามารถขอคำแนะนำได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่งทั่วประเทศ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2564