เผยแพร่ |
---|
รศ.ดร.นสพ. อนุชัย ภิญโญภูมิมินทร์ รองอธิการบดีวิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดการแถลงข่าว ที่ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประสบความสำเร็จผ่าตัดนิ่ว อุดตันทางเดินปัสสาวะในช้างสำเร็จเป็นครั้งที่สองของโลก ณ อาคารคลินิกสุขภาพช้างและสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564
รศ.ดร.นสพ. นิกร ทองทิพย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พร้อมด้วย อ.สพญ. ดร. สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ และ ผศ.ดร.นสพ. วีรพงศ์ ตั้งจิตเจริญ ภาควิชาคลินิกสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมแถลงข่าวว่า พังสายทอง ช้างเพศเมีย อายุประมาณ 50 ปี ถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่หน่วยสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 ด้วยอาการปวดเกร็งช่องท้อง ซึม และไม่กินอาหาร จากการซักประวัติ พบว่าช้างมีประวัติปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปวดเกร็งช่องท้องเป็นระยะ และมีประวัติกินน้ำจากแหล่งน้ำมีที่ปริมาณหินปูนสูง นอกเหนือจากนี้ จากการตรวจร่างกายเพิ่มเติม ด้วยการอัลตราซาวน์ผ่านทวารหนัก พบก้อนนิ่วภายในกระเพาะปัสสาวะ และการส่องกล้องผ่านทางท่อปัสสาวะพบก้อนนิ่วอุดตันอยู่ภายในท่อทางเดินปัสสาวะ ร่วมกับช้างไม่สามารถปัสสาวะได้ และมีค่าเลือดที่บ่งบอกการเสียหายของไตสูงกว่าปกติ 3-4 เท่า
จากอาการของพังสายทอง ทางทีมสัตวแพทย์ จึงตัดสินใจผ่าตัดนิ่วที่อุดตันทางเดินปัสสาวะ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 โดยใช้เวลาในการผ่าตัดยาวนานกว่า 6 ชั่วโมง จึงจะสามารถนำนิ่วออกมาจากท่อทางเดินปัสสาวะได้ เนื่องจากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ มีความกว้าง 12 เซนติเมตร ยาว 16 เซนติเมตร และมีน้ำหนักมากถึง 1.7 กิโลกรัม โดยนับเป็นความสำเร็จในการผ่าตัดนิ่วในช้างเป็นครั้งที่สองของโลก แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะสามารถนำก้อนนิ่วออกมาได้สำเร็จแล้ว ช้างยังถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตและต้องดูแลหลังการผ่าตัด เพื่อฟื้นฟูสุขภาพอย่างใกล้ชิดต่อไป
ทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอขอบคุณ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันคชบาลแห่งชาติ ที่ได้ร่วมส่งบุคลากรมาร่วมการผ่าตัดในครั้งนี้ และสมาคมสหพันธ์ช้างไทยที่ช่วยเหลือในการขนส่งช้างมารักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาและดูแลช้างป่วยทั้งหมดในครั้งนี้ สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อรักษาช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้มีจิตศรัทธาจะร่วมบริจาคเงินสมทบกองทุนเพื่อรักษาช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ที่ เลขบัญชี 769-200562-0 ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อนำไปรักษาช้างและสัตว์ป่าที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บต่อไป