ประมงไทยใสสะอาดปราศจากการประมง IUU และการค้ามนุษย์

นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัดให้มีการดำเนินการปฏิรูปภาคการประมงไทยให้สอดคล้องกับการแก้ปัญหา IUU ซึ่ง นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ขานรับนโยบายพร้อมมีการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวฯ อย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ประเทศไทย ได้มีการปฏิรูปกรอบกฎหมายในช่วงปี 2558 ถึงปี 2561 เพื่อแก้ไขปัญหาร้ายแรงเหล่านี้ และได้เปลี่ยนแปลงภาคประมงของประเทศไทยไปสู่ระบบที่สร้างความรุ่งเรือง ยั่งยืนในอาชีพประมง และปกป้องชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของชาวประมงจนถึงรุ่นลูกหลาน หากไม่มีการปฏิรูปดังกล่าว ภาคประมงของประเทศไทยอาจจะเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็วและเป็นเหตุให้นานาประเทศมีข้อตำหนิติเตียน

รัฐบาลไทยได้พัฒนาและเสริมสร้างระบบการติดตาม เฝ้าระวัง และควบคุม (Monitoring, Control and Surveillance System: MCS) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมการเข้า-ออก จากท่าเรือของเรือประมง การตรวจสอบเรือประมงที่ท่าเรือ การตรวจสอบเรือประมงในทะเล การเฝ้าระวังทางอากาศ การตรวจสอบแรงงานบนเรือประมง และการควบคุมการทำประมงระยะไกล โดยศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง (Fishery Monitoring Center: FMC) โดยใช้ฐานข้อมูลและระบบสารสนเทศที่ทันสมัย ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง 7 วัน ต่อสัปดาห์ โดยปฏิบัติงานในการตรวจสอบแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมง การต่อต้านการค้ามนุษย์ยังคงเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2558 ประเทศไทยได้รับการเลื่อนระดับจากกลุ่มที่ 3 ของบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามองในเรื่องของการค้ามนุษย์ ในปี 2557 ไปอยู่ในกลุ่มที่ 2 ในปี 2561 และยังคงอยู่ใน กลุ่มที่ 2 มาเป็นเวลา 3 ปี รัฐบาลไทยยังคงความพยายามอย่างยิ่งยวดในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยดำเนินการตามนโยบายอย่างเข้มแข็งในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดในข้อหาค้ามนุษย์ เพื่อให้เหยื่อจากการค้ามนุษย์มีความปลอดภัยและได้รับความคุ้มครอง ตลอดจนดำเนินการตามมาตรการป้องกันเพื่อคุ้มครองกลุ่มผู้เปราะบางจากการค้ามนุษย์ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการป้องกันและขจัดแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล แรงงานข้ามชาติทุกคนในภาคประมงจะต้องถูกกฎหมาย เราได้แก้ไขกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานและการบริหารจัดการด้านการตรวจคนเข้าเมือง มีการติดตั้งระบบติดตามเฝ้าระวังเพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานในอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลจะอยู่ดีกินดีและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยยังได้นำมาตรการ 3 ป. (ปราบปราม ปกป้อง และป้องกัน) มาปรับใช้  เพื่อแก้ไขปัญหาด้านแรงงานที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

ยิ่งไปกว่านี้ ประเทศไทย ยังได้ดำเนินคดีกับบุคคลที่บังคับใช้แรงงาน และติดตามเฝ้าระวังการกระทำอาชญากรรมในเรื่องดังกล่าวในทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าประมง ตั้งแต่ท่าเรือ สะพานปลา ไปจนถึงทะเล มีการก่อตั้งทีมงานสหวิชาชีพ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชนเพื่อปฏิบัติงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ แรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ประมาณ 110,000 คน ได้ลงทะเบียนและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายในไทย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ปัจจุบัน แรงงานข้ามชาติ ร้อยละ 100 ซึ่งทำงานในภาคอาหารทะเลและการทำการประมง เดินทางเข้ามาในประเทศผ่านช่องทางที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือได้รับการรับรองภายใต้มาตรการพิสูจน์สัญชาติ

ผลจากการดำเนินงานแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ลดลงของคดีค้ามนุษย์ของไทยมาตั้งแต่ปี 2560 ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชน รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ตลอดจนขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมีมากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีค้ามนุษย์ในทุกขั้นตอน ในปี 2562 ร้อยละ 36.6 ของผู้กระทำผิดได้รับบทลงโทษที่รุนแรง โดยถูกจำคุกเป็นเวลา 10 ปีหรือมากกว่า 10 ปี ทำให้เกิดผลในการยับยั้งการกระทำผิดมากยิ่งขึ้น ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ควบคุมการเข้า-ออกเรือประมง (Port in – Port out Control Centre: PIPOs) ลูกเรือบนเรือประมงจะต้องได้รับการตรวจสอบโดยทีมงานสหวิชาชีพทั้งก่อนออกไปทำการประมงและกลับเข้าฝั่งภายหลังจากการทำประมง กรมประมง ได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบประมงทะเล เพื่อประสานงานการตรวจสอบเรือประมงในทะเล โดยมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมดำเนินการ ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการสร้าง ผู้ตรวจสอบแรงงานในอัตราส่วนตามมาตรฐาน ตามแนวทางของ ILO 1 คน ต่อ แรงงาน 15,000 คน โดยในปี 2562 ประเทศไทย มีจำนวนผู้ตรวจสอบแรงงานทั้งสิ้น 1,889 คน