แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ เปิดบ้านอย่างยิ่งใหญ่ ฉลอง 46 ปี

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด จัดงาน “เปิดบ้านแปซิฟิค” ในโอกาสครบรอบ 46 ปี ณ สถานีวิจัยและพัฒนาพันธุ์ อำเภอโคกตูม จังหวัดลพบุรี โดยมี คุณนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานเปิดงาน

ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าร่วมงานและศึกษาหาข้อมูลผ่านตัวผู้ผลิตเอง ทั้งเรื่อง เมล็ดพันธุ์ นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ

คุณนิวัฒน์ รุ่งสาคร (ที่ 4 จากขวา) ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานเปิดงาน “เปิดบ้านแปซิฟิค” คุณพาโชค พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ที่ 3 จากขวา) และผู้ร่วมงาน ร่วมถ่ายภาพ

คุณพาโชค พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ในนามของคณะผู้บริหารและพนักงานบริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้ให้การต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รั้วบ้านแปซิฟิค

คุณพีระพันธุ์ พงศ์ชัยพันธุ์ ผู้จัดการฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด ประจำภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

บริษัท แปซิฟิคฯ ถือกำเนิดโดยกลุ่มผู้บริหารในประเทศไทย ที่มองเห็นว่าประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากแต่ผลผลิตที่ได้กลับน้อย หนทางที่จะยกระดับผลผลิตข้าวโพด คือต้องมีการส่งเสริมให้เกษตรกรไทยได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี มีคุณภาพสูง เหมือนกับเกษตรกรประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงได้ทำการก่อตั้งสถานีวิจัยฯ เมื่อปี 2518 และทำพิธีเปิดโรงงานแปรรูปเมล็ดพันธุ์ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2526 การจัดงานในวันนี้นอกจากเป็นโอกาสดี ที่บริษัทได้ดำเนินกิจการครบรอบ 46 ปีแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงศักยภาพ สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรไทยและบุคคลทั่วไปในเขตพื้นที่รอยต่อจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่หลัก ให้มีความเชื่อมั่นในสายพันธุ์และผลิตภัณฑ์ของเรา ภายใต้แนวคิด “แปซิฟิค ชื่อที่เชื่อถือได้” ในงานมีการจัดแสดงแปลงสาธิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แปซิฟิค 789 แปซิฟิค 392 แปซิฟิค 995 แปซิฟิค 278 แปลงสาธิตข้าวโพดหวาน ข้าวโพดข้าวเหนียว ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวฟ่าง ทานตะวัน และการแสดงพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนมีการจัดเสาวนาบนเวทีเกี่ยวกับนวัตกรรม การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดฝักสด การปรับปรุงเมล็ดพันธุ์เพื่อเกษตรไทยในยุค 5G และความรู้อื่นๆ อีกมากมาย

คุณชอม เผือกสูงเนิน

คุณพีระพันธุ์ พงศ์ชัยพันธุ์ ผู้จัดการฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด ประจำภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ ถือว่าเป็นธุรกิจที่เป็นปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจอาหารสัตว์และธุรกิจหลายๆ ตัวในประเทศ แนวโน้มของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดในปีนี้ค่อนข้างดี ฝนฟ้าอากาศเป็นใจให้กับชาวเกษตรกร ราคาของข้าวโพดอยู่ประมาณ 7-8 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรค่อนข้างจะคุ้มทุน แล้วก็แนวโน้มของราคาข้าวโพดจะดีขึ้นอีกประมาณ 1-2 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้การขนส่งการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบ แต่ว่าประเทศไทยมีเกษตรกรผลิตสินค้าได้คุณภาพและมีศักยภาพในตัวเอง เมื่อมีเรื่องปัจจัยการผลิตดีทำให้เกษตรกรผลิตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดของแปซิฟิค สีได้เนื้อ เปอร์เซ็นต์ความชื้นต่ำ ขายต่อพื้นที่ค่อนข้างจะได้ราคาดี เพราะว่าของแปซิฟิคทุกตัว ไม่ว่าจะเป็น แปซิฟิค 789, 339 เป็นข้าวโพดที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน ซึ่งแปซิฟิค 339 ทำตลาดมาเป็น 10 ปีแล้ว ที่เกษตรกรให้ความเชื่อถือเชื่อมั่นมาอย่างยาวนาน

ข้าวโพดหวาน
ข้าวฟ่าง
ดอกทานตะวัน

ในปีนี้ก็มีข้าวโพดพันธุ์ใหม่มาสองพันธุ์ ก็คือ แปซิฟิค 392 ซึ่งเป็นพันธุ์ใหม่สำหรับพื้นที่เนินเขา แล้วก็ระยะเก็บเกี่ยวยาวนาน การยืนต้นดี แล้วก็แปซิฟิค 995 ของพื้นราบ ได้ผลผลิตที่มากขึ้น ปรับตัวได้ดีขึ้น ทนต่อหน้าแล้ง ทนต่อโรคและแมลง ก็จะดีขึ้นกว่าพันธุ์เก่าๆ และจะเริ่มขายภายในปีนี้เป็นปีแรก

“จุดประสงค์หลักของงาน 46 ปี แปซิฟิค ผมไม่อยากให้คนมองแปซิฟิคเป็นคนขายข้าวโพด แต่เราคือบริษัทนวัตกรรมของข้าวโพด เราผลิตข้าวโพดมาและส่งออกต่างประเทศกว่า 30 ประเทศ เกษตรกรมองว่าแปซิฟิคขายแค่ข้าวโพดภายในประเทศ ซึ่งแปซิฟิคมีมากกว่านั้น เรามีนวัตกรรมเรื่องผัก พัฒนาพันธุ์ผักใหม่ๆ มากกว่า 10-20 สายพันธุ์ใหม่ และอยากเปิดโอกาสเกษตรกรให้เข้าถึงผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งมันคือการให้ความรู้เกษตรกร” คุณพีระพันธุ์ กล่าว

นวัตกรรมโดรนพ่นยา

คุณชอม เผือกสูงเนิน เกษตรกรอยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ที่ 5 ตำบลวังโรงใหญ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ปลูกข้าวโพดพันธุ์แปซิฟิค 789 พันธุ์นี้ จะมีเมล็ดที่ยาวผลผลิตดีเหมือน 339 สามารถเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตสูง การดูแลนั้นไม่ยาก ดูแลคล้ายๆ กันทุกพันธุ์ ปลูกโดยการให้น้ำฝน ข้าวโพดไม่จำเป็นต้องให้น้ำเยอะ พื้นที่เพาะปลูก พันธุ์ 789 ประมาณ 40 ไร่ และผสมกับแปซิฟิค 339 อีกเล็กน้อย ผลผลิต 1 ปี เก็บเกี่ยวล่าสุดได้ไร่ละ 1 ตันกว่า ปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ต้นทุนเมล็ดพันธุ์ 2-3 กิโลกรัม ต่อไร่ ตกกิโลกรัมละ 190 บาท 10 ไร่ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 5 กระสอบ กระสอบละ 50 กิโลกรัม รายได้ตกปีละประมาณ 700,000 บาท ส่วนใหญ่จะขายให้บริษัทใหญ่ แต่ถ้าจะขายบริษัทใหญ่จะต้องตากก่อน ถ้าวันไหนไม่สะดวกตากก็จะไปขายทั่วไป ขายทั่วไปจะได้ราคาที่ถูกกว่าบริษัทใหญ่เล็กน้อย แต่ถ้าบริษัทใหญ่จะขายได้ราคาประมาณ  8 บาท ต่อกิโลกรัม แต่ไม่จะไม่ค่อยสะดวกเพราะต้องตากแดด การตากใช้เวลาประมาณ 3 แดด

“เราขายกันเป็นกลุ่ม มีกลุ่มไลน์ชื่อว่า กลุ่มข้าวโพดบ้านหนองไซ รวมกลุ่มกันปลูก รวมกลุ่มกันขาย พอเวลาจะขายก็จะต้องแจ้งเข้ากลุ่ม และจะมีหมายเลขย้อนกลับจึงจะสามารถไปขายได้ ผลผลิตภายในปีนี้ ค่อนข้างดี มีเสียหายเพียงเล็กน้อย ตามพื้นที่น้ำขัง ศัตรูพืชก็ไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่จะเป็นหนอนกินใบ ใช้ยาฆ่าหนอนตามท้องตลาดก็สามารถป้องกันได้ แล้วไม่จำเป็นต้องใช้ยาแพง ฉีดประมาณ 2-3 ครั้ง การใช้ยากำจัดหนอนก็ใช้หยอดตามต้นและใส่ปุ๋ย” คุณชอม บอก

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ข้าวโพดหวาน