ลิ้นจี่ไทย ผลไม้เศรษฐกิจของประเทศ แนะพัฒนาโลจิสติกส์และบรรจุภัณฑ์ คงความสดให้ยาวนาน

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย ปี 2558-2564 สศก. ได้ประเมินการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ กรณี ลิ้นจี่ พบว่า พื้นที่ปลูกลิ้นจี่ ที่สำคัญของประเทศไทยอยู่ที่จังหวัดในภาคเหนือตอนบน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน เชียงราย และพะเยา พันธุ์ที่นิยมปลูกคือ พันธุ์ฮงฮวย และจักรพรรดิ

 

โดยเมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์การผลิตของลิ้นจี่ในปี 2558 กับ ปี 2563 พบว่า มีจำนวนเกษตรกรผู้ผลิตลิ้นจี่ลดลง โดยปี 2558 มีจำนวนเกษตรกรที่ปลูกลิ้นจี่ 25,358 ครัวเรือน ลดลงเหลือ 18,468 ครัวเรือน ในปี 2563 ส่วนเนื้อที่ให้ผลผลิตลดลงจาก 119,194 ไร่ เหลือ 106,342 ไร่ ปริมาณผลผลิต 52,142 ตัน ลดลงเหลือ 33,996 ตัน เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น สภาพอากาศแปรปรวน ผลผลิตออกน้อย เกษตรกรมีการโค่นต้นลิ้นจี่และเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น มะม่วง ลำไย สับปะรดภูแล และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ขณะที่ราคาที่เกษตรกรขายได้ (ลิ้นจี่พันธุ์ฮงฮวยเกรด A) ปรับตัวสูงขึ้นจาก 15.77 บาท/กิโลกรัม ในปี 2558 เพิ่มเป็น 22.78 บาท/กิโลกรัม ในปี 2563 เนื่องจากยังมีความต้องการของตลาด

 

สำหรับปี 2564 (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2564) แหล่งผลิต 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน มีเนื้อที่ให้ผล 84,931 ไร่ (คิดเป็นร้อยละ 80 จากเนื้อที่ให้ผลทั้งประเทศ 98,423 ไร่) มีผลผลิต 30,716 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 83 ของผลผลิต ทั้งประเทศ 37,113 ตัน) ออกสู่ตลาดมากในเดือนพฤษภาคมจนถึงมิถุนายนนี้ ทั้งนี้ ราคา ณ เดือนพฤษภาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 30.67 บาท/กิโลกรัม

ผลการสำรวจข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ใน 4 จังหวัดดังกล่าว พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ส่วนใหญ่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ในการปลูกหลายสิบปี มีการพัฒนาการผลิต และคุณภาพผลผลิต ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มคุณภาพผลผลิต การผลิตตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรส่วนใหญ่มีใบรับรอง GAP และมีการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ในอัตราที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม เกษตรกรยังไม่สามารถปลูกลิ้นจี่อินทรีย์เต็มรูปแบบได้ เนื่องจากปัญหาหนอนเจาะขั้วลิ้นจี่ จึงยังจำเป็นต้องใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช นอกจากนี้ เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ยังประสบปัญหาหลายประการ เช่น สภาพภูมิอากาศแปรปรวน อากาศหนาวสลับฝนตก หรือบางพื้นที่แห้งแล้งมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก นอกจากนี้ จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต ประกอบกับอัตราค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

นางอัญชนา ตราโช

ทั้งนี้ ลิ้นจี่ที่ผลิตในประเทศไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 70 บริโภคภายในประเทศ ที่เหลือ ร้อยละ 30 ส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ บาห์เรน กาตาร์ และฝรั่งเศส โดยเกษตรกรและผู้รับซื้อ (ล้ง) มีการปรับเปลี่ยนช่องทางในการจำหน่ายผลผลิต โดยขยายตลาดไปยังโมเดิร์นเทรด อาทิ ส่งห้างสรรพสินค้า (เดอะมอลล์) ร้านเลมอนฟาร์ม ตลาดสดองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ตลาดไท และตลาดในท้องถิ่น เช่น พ่อค้า/แม่ค้า หน่วยงานราชการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาของปี 2563 เกษตรกรประสบปัญหาในการกระจายสินค้า เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรจึงปรับตัว หันมาจำหน่ายผลผลิตผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทั้ง Facebook และ Line เพิ่มเติม โดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคค่อนข้างดี แต่เกษตรกรยังคงประสบปัญหาในเรื่องของบรรจุภัณฑ์และการรักษาความสดของผลลิ้นจี่ให้ได้นานเกิน 3 วัน เนื่องจากไม่มีรถขนส่งแบบห้องเย็น ทำให้ไม่สามารถส่งไปยังจังหวัดที่อยู่ไกลพื้นที่แหล่งผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น จังหวัดทางภาคใต้ตอนล่าง เป็นต้น ดังนั้น ควรมีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต คิดค้นพันธุ์ลิ้นจี่ที่มีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการเก็บเกี่ยว การห่อผลผลิต รวมถึงการสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ การลดระยะเวลาในการขนส่ง และรถขนส่งแบบห้องเย็นที่จะทำให้ผลผลิตคงความสดใหม่ได้นานขึ้น ก็จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ได้ดีขึ้นแน่นอน รองเลขาธิการ กล่าวทิ้งท้าย