“เอ็นไอเอ” เปิดพื้นที่ปล่อยของ 15 สตาร์ทอัพด้านเกษตร กรุยทางเกษตรกรไทย “ปลูก ผลิต ขาย” ได้ด้วยเทคโนโลยี พร้อมชวนชาวไร่ชาวสวนร่วมทดลองระบบนวัตกรรมในโครงการ “Agtech Connext” 8-9 มิ.ย.นี้

กรุงเทพฯ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ ภาคคีเครือข่ายสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงเกษตรกรกับสตาร์ทด้านเกษตรสู่การเป็นเกษตรกรที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ “AgTech Connext” คัดเลือก 15 สตาร์ทอัพด้านเกษตร 5 กลุ่ม ได้แก่ สตาร์ทอัพกลุ่มปศุสัตว์ สตาร์ทอัพด้านสัตว์เศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม สตาร์ทอัพสำหรับในกลุ่มการปลูกผัก พืชไร่ พืชสวน สตาร์ทอัพด้านการปลูกมันสำปะหลัง แพลตฟอร์มตลาดในการส่งสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค ร้านค้า โรงงานผลิต ที่มีเทคโนโลยีพร้อมใช้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดความเสียหาย และเพิ่มช่องทางจำหน่ายแก่สินค้าเกษตร โดยเกษตรกรที่สนใจสามารถร่วมทดลองใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการทำเกษตรแต่ละรูปแบบสามารถเช้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวจผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ “AgTech Connext” ในวันที่ 8 -9 มิถุนายน 2564

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า จากการสำรวจระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านเกษตรในประเทศไทย หนึ่งอุปสรรคที่สำคัญและยังเป็นช่องว่างคือ เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทั้งการรับรู้และความไม่เข้าใจเทคโนโลยีหรือบริการ ขาดการเชื่อมโยงให้รู้จักผลิตภัณฑ์หรือบริการของสตาร์ทอัพ และเกษตรกรบางส่วนยังมีความกังวลถึงความคุ้มค่าในการใช้เทคโนโลยี ความรู้ และทักษะในการใช้งาน ประกอบกับแรงงานในภาคการเกษตรมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น จึงต้องเร่งสร้างโอกาสการเข้าถึงและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคการเกษตรของไทยให้มากขึ้น ดังนั้น NIA จึงได้ริเริ่มและพัฒนาแพลตฟอร์ม AgTech Connext” เพื่อเป็นเสมือนสะพานเชื่อมให้สตาร์ทอัพด้านเกษตรได้มีโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้กับกลุ่มเกษตรกรที่พร้อมเปิดใจรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยยกระดับธุรกิจการเกษตรของตนเอง และสามารถกระจายต่อไปในวงกว้างมากขึ้น พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด และกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพได้เรียนรู้การทำเกษตรในรูปต่างๆ มากยิ่งขึ้น สำหรับ 15 สตาร์ทอัพด้านเกษตรกลุ่มแรกที่ผ่านการคัดเลือกครอบคลุมตั้งแต่การบริหารจัดการฟาร์มด้วยอุปกรณ์เซ็นเซอร์ และการควบคุมด้วยเทคโนโลยีที่แม่นยำ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่จะช่วยยืดอายุผลผลิตก่อนถึงมือผู้บริโภค และระบบตลาดที่จะส่งสินค้าเกษตรให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างตรงความต้องการ ได้แก่

♦ สตาร์ทอัพกลุ่มปศุสัตว์ ได้แก่ น้ำเชื้อว่องไว เป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาสร้างความแม่นยำในการติดสัตว์สำหรับวัวเนื้อและวัวนมร่วมกับระบบผสมเทียมโคแบบกำหนดเวลา และน้ำเชื้อโคกระบือคัดเพศได้ตามความต้องการและแม่นยำสูง สำหรับกลุ่มประมง ได้แก่ อัลจีบา พัฒนาเครื่องนับลูกสัตว์น้ำ เช่น ลูกปลา ไข่ปลา ลูกกุ้งพี ลูกกุ้งก้ามกราม ลูกปู ให้มีความรวดเร็ว แม่นยำ จัดเก็บหลักฐานการนับได้ และ อควาบิซ เข้าร่วมพัฒนาตั้งแต่การผลิตสัตว์น้ำจากฟาร์มของเกษตรกร โดยเฉพาะสินค้าประมงที่เหลือจากการขายสดแล้วมาเข้ากระบวนการแปรรูป และจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์

♦ สตาร์ทอัพด้านสัตว์เศรษฐกิจใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม คือการเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อนำมาผลิตเป็นโปรตีนทางเลือกจากแมลงที่กำลังได้รับความสนใจ โดยมี เดอะบริคเก็ต สตาร์ทอัพที่ทำระบบฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดแนวตั้งที่ควบคุมอย่างแม่นยำด้วยไอโอที ซึ่งจะได้ผลผลิตที่ชัดเจนและตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน ตอบโจทย์การผลิตภายใต้ห่วงโซ่ของอาหารในอนาคต

♦ สตาร์ทอัพสำหรับในกลุ่มการปลูกผัก พืชไร่ พืชสวน แพลตฟอร์มของ รีคัลท์ ที่นำข้อมูลขนาดใหญ่ของภาพถ่ายดาวเทียมมาพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำ ทำให้สามารถการวางแผนการเพาะปลูกได้ นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ทอัพ โกรว์เด่ ฟาร์มมิ่ง ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถรองรับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผัก ผลไม้ ที่ได้รับรอง GAP เพื่อส่งต่อสินค้าทางการเกษตรให้แก่ห้างโมเดิร์นเทรดและร้านอาหาร และ เอเวอร์โกล ผู้พัฒนาระบบปลูกพืชในโรงเรือนที่ต้องการเครื่องจ่ายสารละลายแบบ Inline injection ที่คุณภาพเทียบเท่าระดับนานาชาติ พร้อมด้วยระบบโรงเรือนที่มีการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำด้วยฝีมือสตาร์ทอัพไทยอย่าง นอกจากนี้ ยังมี ฟาร์มไทยแลนด์ สตาร์ทอัพที่ใช้พื้นฐานความรู้ของไอโอทีมาต่อยอดระบบสมาร์ทฟาร์ม เพื่อให้เกษตรกรสามารถจัดการควบคุม ดูเเลผลผลิตทางการเกษตร ผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือได้ทุกที่ ทุกเวลา

♦ สตาร์ทอัพด้านการปลูกมันสำปะหลัง แพลตฟอร์ม ไบโอ แมทลิ้งค์ ที่มีระบบบริหารและดูแลการปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรสมาชิกและจับคู่ตลาดกับเกษตรกรมันสำปะหลังแบบมีประกันราคาไม่ต่ำกว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม และ โนวี่ โดรน โดรนสำหรับการเกษตรเพื่อฉีดพ่นปุ๋ย ซึ่งจะช่วยลดเวลา เพิ่มผลผลิต คืนทุนไว เพิ่มรายได้ พร้อมทั้งช่วยให้เกษตรกรลดความเสี่ยงในการสัมผัสสารเคมี นอกจากนี้ ยังมีระบบบริการบินสำรวจ และการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แพลตฟอร์ม เก้าไร่ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการให้บริการฉีดพ่นสารอารักขาพืช ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการฉีดพ่นสารต่างๆ ผ่านโดรน โดยเกษตรกรสามารถจองคิวเพื่อขอรับบริการได้ผ่านแอปพลิเคชั่น นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยียืดอายุผลผลิตทางการเกษตร อย่าง เทคโนโลยีของ อีเด็น อะกริเทค ที่มีการคิดค้นสารเคลือบยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ และผลไม้ตกแต่ง โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้สินค้าทางการเกษตรเสียหายน้อยลง

♦ แพลตฟอร์มตลาดในการส่งสินค้าเกษตรสู่ผู้บริโภค ร้านค้า โรงงานผลิต ได้แก่ เฮิร์ป สตาร์ทเตอร์ แพลตฟอร์ม ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจและสร้างนวัตกรรมตลาดสินค้าเพื่อชุมชนผ่านการซื้อสินค้าจากเกษตรและนำมาแปรรูป รวมถึงการสร้างช่องทางการขายใหม่ๆ ให้แก่เกษตรกร และการถ่ายทอดเรื่องราวอัตลักษณ์ของสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างมีระบบ รวมไปถึง ฟาร์มโตะ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการกระจายสินค้าเกษตร โดยมีระบบการเชื่อมโยงเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากันผ่านการขายผลผลิตเกษตรรูปแบบใหม่บนตลาดออนไลน์ และ แคสปี้ แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าเกษตรในรูปแบบออนไลน์ที่มีสินค้ามากมายที่ผ่านการคัดสรรเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมุ่งสู่เกษตรอินทรีย์

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง

ดร. กริชผกา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับเกษตรกรทั่วประเทศไทยที่ทำเกษตรกรรมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปลูกพืช ปศุสัตว์ กลุ่มประมง กลุ่มเลี้ยงจิ้งหรีด กลุ่มปลูกมันสำปะหลัง ที่ต้องการเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ลดแรงงาน สามารถร่วมทดลองใช้สินค้า เทคโนโลยี ด้านต่างๆ ซึ่งการเข้าร่วมทดลองใช้สินค้าในครั้งนี้ เกษตรกรจะได้พบกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากมายที่จะช่วยตอบโจทย์การทำเกษตรกรให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งเกษตรกรยังจะได้เลือกลองเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการทำเกษตรของตนเองมากที่สุด ซึ่งภายในงานยังมีเจ้าหน้าที่ที่คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการนำเอาเทคโนโลยีไปใช้กับการทำเกษตรร่วมด้วย นอกจากสิ่งที่เกษตรกรจะได้ร่วมทดลองใช้เทคโนโลยีแล้วโครงการดังกล่าวยังช่วยให้สตาร์ทอัพด้านเกษตรได้รับข้อมูลเพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมด้วย สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวในรูปแบบออนไลน์ในวันที่ 8-9 มิถุนายน 2564 ได้ที่ https://forms.gle/ncRXtL1DA9Cob3mKA หรือสอบถามเพิ่มเติม โทรศัพท์ (02) 017-5555 ต่อ 552, มือถือ (098) 257-0888, อีเมล [email protected]